Page 1 of 1

ไทยรั้งตำแหน่งรองบ๊วยความรู้คอมฯ

Posted: 22 Nov 2014, 10:07
by brid.siriwan
ไทยรั้งตำแหน่งรองบ๊วยความรู้คอมฯ

พ่อแม่ฐานะดีส่งผลเด็กได้คะแนนสูง “พินิติ” ขานรับข้อมูลใช้ปฏิรูปศึกษา

เมื่อวันที่ 21 พ.ย. สถาบันส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จัดแถลงข่าวผลการวิจัยโครงการประเมินการเรียนรู้คอมพิวเตอร์และสารสนเทศ (Internatial Computer and Information Literacy Study ; ICILS) ของนักเรียนไทยเทียบกับนานาชาติ โดย รศ.ดร.พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการสภาการศึกษา พร้อมด้วย ดร.สุพัตรา ผาติวิสันต์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สสวท. และ ดร.ชัยวุฒิ เลิศวนสิริวรรณ ผู้ช่วยนวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้ สสวท. ร่วมแถลงข่าว โดย ดร.ชัยวุฒิกล่าวว่า นักเรียนไทยที่เข้าร่วมโครงการ ICILS เป็นนักเรียนระดับ ม.2 สุ่มตัวอย่างจาก ร.ร.ทุกสังกัด จำนวน 3,646 คน ส่วน นานาชาติที่เข้าร่วมโครงการได้แก่ ออสเตรเลีย อาร์เจนตินา แคนาดา สวิตเซอร์แลนด์ ชิลี โครเอเชีย สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก ฮ่องกง เยอรมนี เกาหลีใต้ ลิธัวเนีย เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ โปแลนด์ สาธารณรัฐสโลวะเกีย สโลวีเนีย รัสเซีย ตุรกี และไทย โดยครั้งนี้ประเทศอาร์เจนตินา และแคนาดา ขอเข้าร่วม สังเกตการณ์ และพบว่ามี 4 ประเทศ ส่งข้อมูลไม่ครบจึงถูกตัดสิทธิ์ ส่งผลให้เหลือประเทศที่เข้ารับการประเมินทั้งหมด 14 ประเทศ

ดร.ชัยวุฒิกล่าวต่อว่า ผลปรากฏว่าโครงการได้กำหนดค่าคะแนนเฉลี่ยของผลการทดสอบเท่ากับ 500 คะแนน พบว่าประเทศไทยได้คะแนนสูงกว่า ค่าเฉลี่ยเป็นอันดับที่ 13 คือได้คะแนน 373 คะแนน ซึ่งเป็นอันดับสองจากท้าย ส่วนอันดับที่ 1 คือ สาธารณรัฐเช็ก ได้ 553 คะแนน เมื่อแยกตามสังกัด พบว่านักเรียนในโรงเรียนสาธิต สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้คะแนนเฉลี่ย 518 คะแนน ซึ่งถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยนานาชาติ

“ประเทศไทยมีค่าดรรชนีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีฯต่ำที่สุด ทั้งพบว่าพื้นฐานทางสังคมและเศรษฐกิจของผู้ปกครองมีความสัมพันธ์กับคะแนนด้านการรู้คอมพิวเตอร์และสารสนเทศของนักเรียน โดยผู้ปกครองที่มีฐานะดี ก็มีแนวโน้มที่นักเรียนจะมีคะแนนสูงขึ้นตามไปด้วย สำหรับผู้ปกครองไทยนั้น พบว่า 61% ผู้ปกครองมีพื้นฐานทางสังคมและเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำ จึงส่งผลให้คะแนนเฉลี่ยต่ำลงไปด้วย รวมทั้งจำนวนคอมพิวเตอร์ที่บ้านก็เป็นปัจจัยทำให้นักเรียนมีคะแนนสูงขึ้น รวมทั้งประสบการณ์การใช้คอมพิวเตอร์ของครู มีผลต่อการเรียนรู้ของเด็กด้วย”

รศ.ดร.พินิติกล่าวว่า หลังจากนี้กระทรวง ศึกษาธิการ (ศธ.) จะนำผลการประเมินครั้งนี้มาเป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลที่นำไปใช้ในการปฏิรูปการศึกษาภาพรวมของประเทศ.


ที่มา ไทยรัฐฉบับพิมพ์
วันที่ 22 พ.ย. 2557