Page 1 of 1

หอการค้า5ภูมิภาคชงรัฐ แก้เศรษฐกิจชนบทซบเซา

Posted: 25 Nov 2014, 12:06
by brid.siriwan
หอการค้า5ภูมิภาคชงรัฐ แก้เศรษฐกิจชนบทซบเซา

ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ผสมโรงกับสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรพาเหรดกันตกต่ำ จนสร้างความซบเซาแก่เศรษฐกิจอย่างหนัก

ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ผสมโรงกับสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรพาเหรดกันตกต่ำ จนสร้างความซบเซาแก่เศรษฐกิจอย่างหนัก โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ประเมินเศรษฐกิจปี 57 ขยายตัวแค่ 0.8% แบ่งเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือโต 0.3%, ภาคเหนือโต 0.6%, ภาคใต้โต 0.5%, ภาคกลางโตมากที่สุด 1.3%, กรุงเทพฯและปริมณฑลโต 1.1% ดังนั้นหอการค้าไทย 5 ภูมิภาคจึงได้ร่วมกันจัดทำสารพัดยุทธศาสตร์ และรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจที่แท้จริงของภาคชนบทเพื่อให้รัฐบาลได้นำไปขับเคลื่อนต่อไป

ภาคกลางแนะเช่าที่ชาวนา

“ว่าที่ ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์” ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง หอการค้าไทย ประเมินว่าเศรษฐกิจภาคกลางยังอยู่ในภาวะที่ชะลอจากผลผลิตอุตสาหกรรมผลผลิตภาคบริการ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง รวมถึงราคาสินค้าเกษตรอยู่ในระดับต่ำ และภาคการบริโภคยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตามมองว่าเศรษฐกิจในภาคกลางน่าจะฟื้นตัวได้ในไตรมาสที่ 1 ปี 58 จากปัจจัยเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศเริ่มฟื้นตัว ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐที่มีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ ทั้งในภาคการเกษตรและระบบโครงสร้างพื้นฐาน

สำหรับข้อเสนอแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจนั้นภาคเอกชนคงระยะสั้นเฉพาะหน้าก่อน ด้วยการแก้ปัญหาเรื่องข้าว โดยให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งในการเช่าพื้นที่นาในระดับ 4,000–10,000 ไร่ เพราะนอกจากจะช่วยลดพื้นที่การปลูกข้าวแล้วยังสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ไร่นาได้

นอกจากนี้ยังทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการให้รัฐบาลเช่าพื้นที่ซึ่งในภาพรวมก็จะเป็นจิตวิทยาที่จะขับเคลื่อนให้ราคาข้าวปรับตัวสูงได้ตามนโยบายของรัฐบาล และเมื่อชาวนามีรายได้เพิ่มก็จะฟื้นกำลังซื้อได้อย่างรวดเร็ว ส่วนด้านการท่องเที่ยวและภาคอุตสาหกรรมก็จะฟื้นตัวตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

อีสานร้องรับซื้อข้าวหอมฯ

“ประพันธ์ เตชะสกลกิจกูร” ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มองว่า นโยบายเร่งด่วนที่ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการในการฟื้นเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ การส่งเสริมการค้าชายแดนให้เกิดความสะดวก, การเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณในโครงการต่าง ๆ, การเร่งรัดเขตเศรษฐกิจพิเศษและส่งเสริมการแปรรูปเกษตรให้มากขึ้น

ขณะเดียวกันก็ต้องมีมาตรการในการช่วยเหลือพยุงราคาข้าวหอมมะลิเป็นพิเศษ โดยเฉพาะข้าวหอมฯ ที่มีคุณภาพ 100% โดยรัฐบาลให้โรงสีรับซื้อข้าวหอมมะลิข้าวเปลือกราคา 15,000 บาทต่อตัน แล้วสีแปรเป็นข้าวสารมาจำหน่ายรัฐบาลในราคาตันละ 29,000 บาท ตรงนี้รัฐบาลให้ผู้ส่งออกรับซื้อเพื่อส่งไปต่างประเทศ หรือตลาดในประเทศได้เนื่องจากข้าวหอมคุณภาพของไทยเป็นที่ต้องการของตลาดโลก

นอกจากนี้รัฐบาลต้องเร่งจ่ายเงินให้ชาวนาไร่ละ 1,000 บาท หากจ่ายได้เร็วชาวนาก็ไม่จำเป็นต้องรีบขายข้าวให้โรงสีในราคาต่ำ เพราะเมื่อมีเงินแล้วชาวนาสามารถเก็บข้าวไว้ขายช่วงราคาสูงได้

ส่วนเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยรวมพบว่า ในช่วง 9 เดือนของปี 57 ยังชะลอตัวจากราคาพืชผลทางการเกษตร รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับสต๊อกสินค้าอุตสาหกรรมและเกษตรยังมีจำนวนมากอย่างไรก็ตามคาดว่าในไตรมาสที่ 2 ของปี 58 สมาชิกหอฯ มองว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว

เหนือวางยุทธศาสตร์เพิ่มรายได้

“วิโรจน์ จิรัฐิติกาลโชติ” ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ ระบุว่า ได้กำหนดยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคเหนือปี 63 โดยภาคเกษตรจะเน้นการส่งเสริมเกษตรปลอดภัยและเพิ่มมูลค่า, เกษตรแปรรูปครบวงจร, การเชื่อมครัวไทยสู่ครัวโลกและโซนนิ่งพื้นที่เกษตร

ด้านภาคการท่องเที่ยวเน้นการส่งเสริมท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติท่องเที่ยวเชิงอัตลักษณ์ (ชนเผ่า) ท่องเที่ยวเชิงวัฒนาธรรมล้ำค่าและเมืองน่าอยู่หรือเที่ยวแบบวิถีชีวิต, ด้านการค้าภาคเหนือจะส่งเสริมตลาดการค้าอาเซียน ส่งเสริมธุรกิจบริการครบวงจร รวมถึงการส่งเสริมค้าชายแดนเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของเอสเอ็มอี

เป้าหมายในการเพิ่มรายได้เกษตรเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5-10% ต่อปี, เพิ่มรายได้ธุรกิจเอสเอ็มอีเพิ่มเฉลี่ย 5-10% ต่อปี รวมถึงพัฒนาการท่องเที่ยวสู่การเป็นศูนย์กลาง และผลักดันการค้าชายแดนและข้ามแดนให้เป็นพื้นที่สำคัญของการค้า

ส่วนเศรษฐกิจในภาคเหนือในช่วง 9 เดือน แม้ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเกษตรแปรรูป และการท่องเที่ยว แต่ในภาพรวมพบว่า เศรษฐกิจยังต้องเผชิญกับราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ รวมถึงการใช้จ่ายของภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชนยังไม่ฟื้นอย่างไรก็ตามคาดว่าในไตรมาสที่ 1 ของปี 58 เริ่มฟื้นตัวจากปัจจัยด้านการท่องเที่ยวและการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษที่แม่สอดในปี 58

ปักษ์ใต้ลุ้นค้าชายแดนดันเศรษฐกิจ

“วัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ” ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ มองว่า เศรษฐกิจภาคใต้ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาค่อนข้างซบเซา จากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวลง โดยเฉพาะยางพาราที่ราคาเหลือ 49 บาทต่อ กก. เป็นรายได้ใหญ่ของประชาชนในภาคใต้ ส่วนปาล์มน้ำมันราคาเริ่มดีขึ้นอยู่ที่ 5 บาทต่อ กก. และการท่องเที่ยวฝั่งทะเลอันดามันมีทิศทางที่ดีเช่นกัน แต่ในภาพรวมเศรษฐกิจภาคใต้ยังชะลอไปถึงสิ้นปีคาดว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวได้ในไตรมาสที่ 2 ของปี 58

สำหรับที่จะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภาคใต้จะมาจากเรื่องของการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ, งบประมาณการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ, นโยบายการส่งเสริมการลงทุนของจังหวัด, ค่าเงินบาทที่อ่อนตัวและจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจซบเซาอีกคือเรื่องของราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ, ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้, การขาดแคลนแรงงาน ทั้งจำนวนและแรงงานที่มีคุณภาพ

ส่วนพระเอกในปีหน้าที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจภาคใต้ให้กลับมาขยายตัวได้ดีขึ้นคือเรื่องของการค้าชายแดน และการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ตะวันออกต้องลุ้นอีโคคาร์เฟส 2

“ปรัชญา สมะลาภา” ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก ประเมินว่า แม้ว่าเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศจะอยู่ในภาวะซบเซา แต่ในส่วนของภาคตะวันออกพบว่าไม่แย่นักและเริ่มเห็นสัญญาณในการปรับตัวขึ้นมาเล็กน้อย โดยเฉพาะในส่วนของภาคอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และประกอบรถยนต์และการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมเป็นรายได้หลักของภูมิภาคนี้ อย่างไรก็ตามในส่วนของภาคการเกษตรและบริการยังมีสัญญาณการชะลอตัว จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงและราคาสินค้าภาคเกษตร เช่น ยางพาราตกต่ำ

ทั้งนี้แนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจของภาคตะวันออกคงจะเร็วกว่าภาคอื่น ๆ คือ เริ่มฟื้นตัวในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ จากสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวและบริการเริ่มดีขึ้น ขณะเดียวกันเชื่อว่าในปี 58 จะมีเม็ดเงินลงทุนอีโคคาร์ ระยะที่ 2 รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเติบโตเศรษฐกิจและการเชื่อมโยงกับภูมิภาคอาเซียนเริ่มทยอยเข้าสู่ระบบที่เป็นรูปธรรม

“การค้าชายแดนและการส่งเสริมรถไฟรางคู่หนองคายผ่านโคราชมายังมาบตาพุด ยังเป็นอีกประเด็นที่จะช่วยดันเศรษฐกิจในภาคตะวันออกให้โตแบบก้าวกระโดดได้ในอนาคต”

จากนี้ไปถือเป็นหน้าที่ของภาครัฐ เอกชน และประชาชนต้องร่วมมือร่วมใจกันในการขับเคลื่อนในภาวะเศรษฐกิจซบเซา จากผล กระทบทั้งภายนอกและภายใน หากปล่อยให้ภาครัฐเดินหน้าแก้ไขฝ่ายเดียวเชื่อว่าคงยากที่จะฟื้นฟูให้เศรษฐกิจกลับมายั่งยืนได้.

มนัส แวววันจิตร


ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 25 พฤศจิกายน 2557