Page 1 of 1

แรงงานไทยกือบ3ล้านได้ค่าจ้างต่ำกว่า300บาท

Posted: 25 Nov 2014, 13:59
by brid.siriwan
แรงงานไทยกือบ3ล้านได้ค่าจ้างต่ำกว่า300บาท

แรงงาน 2.8 ล้านคนน้ำตาตกได้ค่าจ้างต่ำกว่า 300 บาท จี้ดูแลให้เป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน แฉคนเบี้ยวหนี้เพิ่ม 48.9%

นางชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 3 ของปี 57 ว่า สถานการณ์การจ้างงานยังคงลดลงต่อเนื่อง เช่นเดียวกับอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัว โดยการมีงานทำของคนไทยในวัยแรงงานลดลง 18% ส่วนอัตราการว่างงานเพิ่มเป็น 0.84%จากเดิมที่ปีก่อนอยู่ที่ 0.77% ส่วนค่าจ้างแรงงานและเงินเดือนภาคเอกชนที่หักเงินเฟ้อแล้วแม้จะปรับขึ้นมาอยู่ที่ 9.2% ก็ตาม แต่ปรากฎว่ายังมีแรงงานมากถึง 2.8 ล้านคน ที่มีรายได้ต่ำกว่าค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท หรือมีค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่า 7,800 บาท

“สาเหตุสำคัญเป็นเพราะเป็นแรงงานรายวัน แรงงานเหมาจ่าย ที่มีความเสี่ยงต่อความไม่มั่นคงในการจ้างงาน และมักได้รับค่าจ้างที่ต่ำกว่าแรงงานประจำ โดยเฉพาะแรงงานที่อยู่ในสถานประกอบการขนาดเล็ก จึงจำเป็นต้องเฝ้าระวังให้มีการปฎิบัติตามประกาศค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ และการคุ้มครองแรงงานให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามพรบ.คุ้มครองแรงงานรวมถึงการส่งเสริมการเพิ่มศักยภาพ ทักษะแรงงาน เพื่อโอกาสในการปรับเพิ่มรายได้”

นอกจากนี้ยังพบว่าผลิตภาพแรงงานในทุกสาขา ยังเพิ่มขึ้นช้ากว่าการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงานทั้งด้านการผลิต การก่อสร้าง ค้าปลีกค้าส่ง ขนส่ง การเงินการธนาคาร ยกเว้นสาขาโรงแรมภัตตาคารและการศึกษา ที่คุณภาพของแรงงานเพิ่มขึ้นมากกว่าค่าจ้าง ซึ่งจำเป็นต้องเร่งสนับสนุนและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานอย่างต่อเนื่องโดยการเพิ่มบทบาทสถาบันการศึกษาและองค์กรเอกชนในพื้นที่ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพฝีมือแรงงานในพื้นที่นั้นๆด้วย

ทั้งนี้มีประเด็นที่ต้องติดตามและเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องของปัญหาภัยแล้งที่มีผลต่อกิจกรรมการผลิตภาคเกษตร ที่ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและรายได้เกษตรกร รวมทั้งปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะในปี 58 ที่เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มดีขึ้นที่ส่งผลให้มีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแรงงานระดับล่างและแรงงานกึ่งฝีมือ

ที่ปัจจุบันพบว่ามีปัญหาไม่ตรงกับความต้องการของตลาด

นางชุตินาฏ กล่าวด้วยว่า การก่อหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 3 แม้มีแนวโน้มชะลอลงก็ตาม แต่ยังต้องติดตามเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้นด้วย โดยหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เพิ่มขึ้น 31.8% ขณะที่สินเชื่อที่ผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือน เพิ่มขึ้น 48.9% ส่วนยอดคงค้างชำระบัตรเครดิตเกิน 3 เดือน เพิ่มขึ้น 28.1% โดยคนที่มีรายได้ต่ำมีหนี้บัตรเครดิตต่อรายได้ในสัดส่วนที่สูงและมีภาระการจ่ายคืนหนี้ต่อรายได้สูงเช่นกัน


ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 24 พฤศจิกายน 2557