Page 1 of 1

คลังเร่งออกกฎหมายกู้วิกฤตค้ำประกัน

Posted: 25 Nov 2014, 14:04
by brid.siriwan
คลังเร่งออกกฎหมายกู้วิกฤตค้ำประกัน

หลังมีระบบปกป้องผู้ค้ำประกันเงินกู้มากขึ้น ไม่ให้เจ้าหนี้ไปไล่บี้ผู้ค้ำประกัน หวั่นกระทบการดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ และเศรษฐกิจของประเทศรุนแรง

นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เปิดเผยว่า ได้หารือกับนักกฎหมายเพื่อหาทางการแก้ปัญหาของ พ.ร.บ.แพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยเรื่องการค้ำประกันและจดจำนอง ที่เพราะผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญัติ (สนช.) 3 วาระรวด และจะมีผลบังคับ วันที่ 7 ก.พ.58 เนื่องจากมีการปกป้องผู้ค้ำประกันเงินกู้มากขึ้น ไม่ให้เจ้าหนี้ไปไล่เบี้ยกับผู้ค้ำประกัน ซึ่งทำให้กระทบต่อการดำเนินของธนาคารพาณิชย์และเศรษฐกิจของประเทศอย่างรุนแรง โดยจะต้องหาทางการแก้ไขเป็นการด่วน ก่อนกฎหมายจะมีผลบังคับใช้

ทั้งนี้ ยอมรับว่ามีปัญหาที่ตามมา ทั้งธนาคารพาณิชย์จะปล่อยสินเชื่อให้คนทั่วไปได้ยากขึ้น เพราะต้องตรวจสอบว่าลูกหนี้จะชำระหนี้ได้จริงหรือไม่ เนื่องจากไม่สามารถไปตามทวงหนี้จากผู้ค้ำประกันได้เหมือนที่ผ่านมา หากลูกหนี้ชำระไม่ได้

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาใหญ่กว่านั้น คือ การค้ำประกันปล่อยกู้ไ ม่ได้มีแต่บุคคลเป็นผู้ค้ำประกันเท่านั้น แต่ธนาคารพาณิชย์เอง ก็เป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้เหมือนกัน เช่น มีผู้ประกอบการจะลงทุนในโครงการใหญ่ของรัฐ หรือไปรับจ้างเอกชนด้วยกัน ก็ต้องไปขอให้หนังสือค้ำประกันฐานะทางการเงินกับธนาคารพาณิชย์ทั้งนั้น ซึ่งการแก้กฎหมายดังกล่าว มีผลทำให้การค้ำประกันของธนาคารพาณิชย์ไม่มีความหมายไปด้วย เท่ากับแบงก์ไม่มีเครดิต ที่จะค้ำประกันอะไรได้อีกต่อไป ส่วนผู้ประกอบการต่าง ๆ ที่ต้องใช้หนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงิน ก็จะมีปัญหาการประมูลงาน

นายสมหมาย กล่าวว่า ปัญหาของการแก้กฎหมายดังกล่าว เพราะไปคิดว่าการค้ำประกันเงินกู้ มีแต่บุคคลเพียงอย่างเดียว ลืมประเด็นว่าการค้ำประกันมีสถาบันการเงิน เป็นผู้ค้ำประกันการกู้ด้วย ซึ่งจากหารือกับนักกฎหมายชั้นนำเอกชนของไทย ได้รับการยืนยันว่า การแก้กฎหมายครั้งนี้ มีปัญหาทั้งหมดจริง ๆ ซึ่งได้รับคำแนะนำเบื้องต้น ว่าต้องออกฏหมายใหม่ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น ซึ่งกระทรวงการคลังจะเร่งหารือเรื่องนี้กับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ได้ข้อสรุปในไม่ช้านี้

“ผมยังมีเวลาอีก 2 เดือน ที่จะแก้ไขเรื่องนี้ เพราะกฎหมายจะมีผลบังคับใช้ในเดือน ก.พ.58 ถือเป็นบทเรียนที่ต้องพิจารณาให้ดี โดยเฉพาะสมาชิก สนช. ที่มาจากด้านการเงินและเศรษฐกิจ จะต้องพิจารณากฎหมายให้ดี ก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ โดยปัญหาดังกล่าวยังเป็นเรื่องที่คนไม่ค่อยรู้ แต่เป็นปัญหาใหญ่ หากแก้ไขไม่ทัน จะกระทบรุนแรงกับการเงินการลงทุนของประเทศ ทำให้เศรษฐกิจของไทยมีปัญหาเพิ่มขึ้น ซึ่งเศรษฐกิจต้องเร่งเรื่องการลงทุน การใช้จ่ายภาครัฐ”


ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 23 พฤศจิกายน 2557