Page 1 of 1

‘ไบร์ท’ระบบควบคุมไฟฟ้าอัจฉริยะ

Posted: 27 Nov 2014, 08:40
by brid.siriwan
‘ไบร์ท’ระบบควบคุมไฟฟ้าอัจฉริยะ

ทีมพัฒนาซึ่งประกอบด้วย นายธนวุฒิ อนันต์พิริยะกุล นายธีรวัจน์ อนันต์พิริยะกุล และ นายณัฐณพัชร์ กวิพรรธน์ นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

3 นิสิตจุฬาฯ ต่อยอดพัฒนาผลงานโครงการระบบห้องเรียนอัจฉริยะเป็นระบบควบคุมไฟฟ้าอัจฉริยะ “ไบร์ท” ( BRIGHT) เพื่อบริหารจัดการพลังงาน แก้ปัญหาการลืมปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าหลังใช้งาน

ทีมพัฒนาซึ่งประกอบด้วย นายธนวุฒิ อนันต์พิริยะกุล นายธีรวัจน์ อนันต์พิริยะกุล และ นายณัฐณพัชร์ กวิพรรธน์ นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยควรนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในระบบการศึกษาอย่างเต็มรูปแบบ จึงได้จัดทำโครงการระบบควบคุมไฟฟ้าอัจฉริยะ ขึ้น

นายธนวุฒิ บอกว่า โครงการดังกล่าวเป็นการพัฒนาต่อยอดผลงานเดิมจากโครงการระบบห้องเรียนอัจฉริยะ (Magic Classroom)

ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำการพัฒนาแล้วเสร็จไป 2 ส่วนคือ 1. ส่วนบันทึกกระดานโดยเทคนิคการซ้อนภาพกับสื่อดิจิตอลต้นฉบับ ที่มีความสามารถในการแจกจ่ายแบบเรียลไทม์ ให้ภาพคุณภาพสูงโดยไม่ขึ้นกับสภาพแวดล้อม ซึ่งสามารถลดภาระในการจดบันทึกของผู้เรียน รวมถึงยังสามารถใช้ในการอ้างอิงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสารระหว่างผู้เรียนด้วยกันเองและผู้สอน 2. ส่วนห้องทำงานเสมือนจริงสามมิติ เป็นการจำลองสภาพห้อง ที่วัตถุสิ่งของนั้นจะถูกต่อระบบไปยังซอฟต์แวร์ต่าง ๆ และสามารถเคลื่อนย้ายการทำงานไปควบคุมจากคอมพิวเตอร์ได้ทุกเครื่อง ทำให้ผู้เรียนสามารถใช้งานคอมพิวเตอร์ของสถาบันการศึกษาได้เสมือนเป็นเครื่องของตนเอง

นายธนวุฒิ กล่าวต่อว่า สำหรับการพัฒนาโครงการระบบควบคุมไฟฟ้าอัจฉริยะไบร์ทนี้ ได้รับการสนับสนุนจากโครงการ “ต่อกล้าให้เติบใหญ่” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ศูนย์เทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ซึ่งเน้นไปที่ส่วนการบริหารจัดการพลังงานและระบบความปลอดภัยของสถาบันการศึกษา โดยจะใช้อุปกรณ์สวิตช์ไฟฟ้าที่สามารถควบคุมได้ผ่านระบบเครือข่าย และมีระบบตรวจจับบุคคลผ่านกล้องสามารถควบคุมการเปิดใช้งานอุปกรณ์ส่องสว่างและปรับอากาศเฉพาะจุดที่มีการใช้งานจริง ในกรณีที่ห้องเรียนมีขนาดใหญ่เกินกว่าจำนวนผู้เรียนหรือห้องสมุดที่มักจะมีการใช้งานเฉพาะจุด

ระบบนี้จะช่วยประหยัดพลังงานได้มาก รวมถึงยังแก้ไขปัญหาการไม่ปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าหลังเลิกใช้งานอีกด้วย

ในส่วนของระบบความปลอดภัยจะใช้กล้องความละเอียดสูง ลำโพงขนาดเล็ก และไมโครโฟน เมื่อเกิดความผิดปกติจะมีการแจ้งเตือน บันทึกภาพเคลื่อนไหว ภาพนิ่งแบบเต็มตัว และภาพเฉพาะใบหน้า ส่งไปยังเจ้าหน้าที่ทันที

นอกจากนี้จะมีการเปิดสัญญาณเสียงเตือนและอุปกรณ์ส่องสว่างในจุดที่พบความผิดปกติ เพื่อให้เจ้าหน้าที่บริเวณใกล้เคียงเข้ามาระงับเหตุ และการเปิดอุปกรณ์ส่องสว่างจะช่วยให้ภาพที่บันทึกได้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

โดยการพัฒนาจะมุ่งเน้นให้ระบบมีคุณสมบัติสามประการคือ

1. อุปกรณ์ที่ใช้จะต้องได้มาตรฐาน ปลอดภัย และมีราคาถูก

2. ระบบจะต้องมีความน่าเชื่อถือและเกิดความผิดพลาดต่ำ 3.ระบบจะต้องสามารถใช้งานได้ง่ายโดยไม่จำเป็นต้องฝึกใช้งาน

ทีมพัฒนาบอกว่า แม้กลุ่มเป้าหมายหลักของโครงการจะเป็นสถาบันการศึกษา แต่ระบบนี้ยังสามารถใช้งานได้กับบ้านพักอาศัย สำนักงาน และสถานที่ต่าง ๆ อีกด้วย.

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 27 พฤศจิกายน 2557