ปตท.เปิดแผนคลังแอลเอ็นจี

Post Reply
brid.siriwan
Posts: 3942
Joined: 05 Apr 2013, 08:47

ปตท.เปิดแผนคลังแอลเอ็นจี

Post by brid.siriwan »

ปตท.เปิดแผนคลังแอลเอ็นจี

สัญญาณร้ายดังชัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้หนึ่งในหน่วยงานความมั่นคงทางด้านพลังงานของไทย อย่างบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ตื่นตัวในการเสาะแสวงหาก๊าซธรรมชาติที่มีอยู่ในโลกเข้าเพิ่มเติมให้มากที่สุด

ปตท.เปิดแผนคลังแอลเอ็นจี สร้างความมั่นคงแก่พลังงานไทย

สัญญาณเตือนก๊าซในอ่าวไทย กำลังจะหมดไปในอีก 6-7 ปีข้างหน้า ของกระทรวงพลังงานดังถี่ขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งการสำรวจแหล่งใหม่ไม่มีเพิ่มเติม เท่ากับว่าต่อไปประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ต้องนำเข้าพลังงานเกือบ 100% โดยปัจจุบันความต้องการใช้พลังงาน ส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบของก๊าซธรรมชาติ สัดส่วน 42% น้ำมัน 38% ที่เหลือเป็นถ่านหิน-ลิกไนต์ โดยก๊าซธรรมชาติส่วนใหญ่ใช้ผลิตไฟฟ้า 66% ใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันเตาในโรงงานอุตสาหกรรม 11% เป็น การจัดหาก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในประเทศ 80% อีก 20% นำเข้ามาจากประเทศเมียนมาร์ ยิ่งสะท้อนความสำคัญในการจัดหาก๊าซธรรมชาติให้มั่นคงที่สุด

สัญญาณร้ายดังชัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้หนึ่งในหน่วยงานความมั่นคงทางด้านพลังงานของไทย อย่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ตื่นตัวในการเสาะแสวงหาก๊าซธรรมชาติที่มีอยู่ในโลกเข้าเพิ่มเติมให้มากที่สุด รองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันก๊าซธรรมชาติที่ ปตท. นำเข้าคือก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) เพราะเป็นก๊าซที่สะอาดมากผ่านกระบวนการแยกสิ่งปลอมปน เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ ปรอท และกำมะถัน สะดวกต่อการขนถ่าย เพราะมีการแปรสภาพจากก๊าซเป็นของเหลว โดยกระบวนการลดอุณหภูมิลงมาที่–160 องศาเซลเซียส ทำให้มีปริมาตรลดลง 600 เท่าของก๊าซ สะดวกในการขนส่งทางเรือ

โตเกียวแก๊ส ต้นแบบแอลเอ็นจี

เมื่อพูดถึงการใช้ก๊าซแอลเอ็นจี ต้องนึกถึงประเทศญี่ปุ่น เพราะถือเป็นต้นแบบของการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี เพราะเป็นประเทศแรกของโลกที่มีการนำเข้าตั้งแต่ปี 2512 และปัจจุบันญี่ปุ่นถือเป็นประเทศนำเข้าแอลเอ็นจีมากที่สุดในโลก และลักษณะการใช้พลังงานของประเทศไทยกับญี่ปุ่นมีลักษณะคล้ายกัน เพราะต้องพึ่งพาพลังงานนำเข้าเกือบ 100%

แต่ประเทศญี่ปุ่นกลับเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางพลังงานสูงมาก เนื่องจากมีการสร้างคลังจัดเก็บพลังงานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะคลังแอลเอ็นจี ของ โตเกียว แก๊ส ซึ่งมีความจุสูงถึง 200,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต และล่าสุดกำลังจะสร้างคลังแอลเอ็นจี ที่มีความจุถึง 250,000 ลูกบาศก์ฟุต ถือเป็นคลังที่ใหญ่ที่สุด สามารถให้บริการประชาชนได้ครอบคลุมทีเดียว ซึ่ง ปตท. ได้ศึกษาเป็นต้นแบบในการสร้างคลังแอลเอ็นจีของโตเกียว และได้นำคณะสื่อมวลชนไปดูงานถึงประเทศญี่ปุ่น เพราะถือเป็นคลังที่สร้างได้มาตรฐาน แข็งแรง ถึงขนาดรองรับแผ่นดินไหวได้เป็นอย่างดี

เร่งสร้าง 3 คลัง แอลเอ็นจี

“ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. ระบุว่า ปัจจุบัน ปตท. มีคลังเก็บก๊าซแอลเอ็นจีความจุ 5 ล้านตัน ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง และเร็ว ๆ นี้ จะสร้างคลังเก็บแอลเอ็นจี ระยะที่ 2 ความจุอีก 5 ล้านตัน ในจังหวัดระยอง เช่นเดียวกัน คาดว่าจะเสร็จในปี 60 และอยู่ระหว่างเสนอกระทรวงพลังงาน ขออนุมัติในการสร้างคลังแอลเอ็นจี ระยะที่ 3 อีก 5 ล้านตัน รวมเป็น 15 ล้านตัน เพื่อสร้างความมั่นคง เนื่องจากแอลเอ็นจีสามารถสำรองหรือ

สต๊อกก๊าซฯได้

“จริง ๆ คลังแอลเอ็นจี เราเองก็มีพื้นที่พอที่จะสร้างได้ แต่เราเห็นว่าเหมือนเอาไข่ไปไว้ที่เดียวกัน เกิดอะไรขึ้นมันเสี่ยงเลย ต้องหาที่ใหม่แต่ยังบอกไม่ได้ ซึ่งแอลเอ็นจีที่นำเข้าระยะแรกคิดเป็นก๊าซ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน รวมกันทั้ง 3 ระยะ ก็จะอยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จะทำให้เรามีความมั่นคงเพิ่มขึ้น เพราะแหล่งก๊าซฯ ในอนาคตของไทยคงจะหายากและก๊าซอ่าวไทยก็จะมีปริมาณที่ลดต่ำลง”

ทำสัญญาซื้อขายระยะยาว

สำหรับสัญญาซื้อขายแอลเอ็นจีระยะยาว ปตท. ได้เซ็นสัญญาไว้กับประเทศกาตาร์ ถือเป็นสัญญาแรก อายุ 20 ปี ที่ ปตท. จะนำเข้ามาจำนวน 2 ล้านตัน ทยอยเข้ามาลอตแรกในเดือน ม.ค. 58 ถือเป็นราคาที่ไม่ได้แพงอย่างที่คาดไว้ เนื่องจากราคาแอลเอ็นจีส่วนหนึ่งผูกติดกับราคาน้ำมัน ปัจจุบันราคาได้ลดลงไปมาก โดยไม่อยากให้มองแอลเอ็นจีในเรื่องของราคา เพราะแอลเอ็นจี คือ พลังงานที่จะช่วยเสริมความมั่นคง ที่สำคัญเป็นพลังงานสะอาดสามารถป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ดี

นอกจากนี้ ปตท. เตรียมเสนอเรื่องไปยังกระทรวงพลังงาน เพื่อนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบแผนการลงทุนโครงการท่อก๊าซเส้นที่ 5 ที่รองรับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของไทยที่เพิ่มขึ้นในอนาคตและสอดรับกับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) ฉบับใหม่ โดยท่อก๊าซฯ เส้นที่ 5 นั้นจะเชื่อมจากฝั่งตะวันออกไปยังฝั่งตะวันตก เพื่อทำให้มีความมั่นคงมากขึ้นกว่าเดิม ที่หากฝั่งตะวันตกเกิดอะไรขึ้นก็จะต้องหยุดไปเลย และยังสามารถนำเอาก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ที่นำเข้าจากต่างประเทศมาเฉลี่ยค่าความร้อน เพื่อให้ก๊าซเป็นคุณภาพเดียวกันทั้งหมด ซึ่งการลงทุนจะเป็นหลักหมื่นล้านบาท โดยปัจจุบันท่อก๊าซฯ ในอ่าวไทยมี 3 เส้น และเชื่อมจากเมียนมาร์อีก 1 เส้น

ทุกวันนี้ความมั่นคงพลังงาน ถือเป็นเรื่องใหญ่ของไทย แม้ว่าทุกหน่วยงานจะตั้งแผนรับมือพยายามเสาะแสวงหาพลังงานมาเติมเต็ม รองรับการใช้พลังงานของไทยอย่างไม่สิ้นสุด แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือคนไทยทุกคนต้องช่วยกันใช้พลังงานอย่างรู้ค่า เพราะในอนาคตประเทศไทย จะต้องกลายเป็นประเทศที่นำเข้าพลังงาน 100% ทุกเชื้อเพลิง ที่เราต้องขาดดุลการค้าในการนำเข้าอย่างต่อเนื่อง.

จิตวดี เพ็งมาก

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 27 พฤศจิกายน 2557
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”