Page 1 of 1

ดีแทคกระทุ้งรัฐทำอินฟราแชร์ริ่งและประมูล 4G รับ Digitial Eco

Posted: 27 Nov 2014, 09:43
by brid.siriwan
ดีแทคกระทุ้งรัฐทำอินฟราแชร์ริ่งและประมูล 4G รับ Digitial Economy

ซิคเว่ เบรคเก้ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คแซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค

ดีแทคกระทุ้งรัฐ ตั้งเป้าภาพใหญ่ให้ 'Digital Economy’ ด้วยการกระตุ้นให้ผู้บริโภคเข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตไม่ต่ำกว่า 80% ในปี 2017ไม่ใช่แค่วางกรอบนโยบาย พร้อมยื่น 2 ข้อเสนอสำคัญคือการวางรูปแบบการแบ่งบันโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructer Sharing) และการเปิดประมูล 4G

ซิคเว่ เบรคเก้ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คแซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า สิ่งที่ดีแทคต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นภายใต้นโยบาย Digital Economy ของรัฐบาลที่กำลังจะเกิดขึ้นคือ การแนะนำให้ตั้งเป้าหมายหลักของภาครัฐอย่างการให้ประชาชน 80% มีการใช้งานอินเทอร์เน็ต (Active User) พร้อมกับการเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียน

'รัฐบาลควรมีมุมมองที่กว้างไกลในการตั้งเป้าเพื่อให้ขึ้นเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียน ไม่ใช่ว่าประเทศมีความสามารถที่จะเป็นแต่กลับวางแผนที่จะพัฒนาตามประเทศเพื่อนบ้าน เพราะถ้ามีการลงทุน และวางโครงสร้างที่เหมาะสม ไทยก็พร้อมที่จะขึ้นเป็นผู้นำในภูมิภาค แต่ปัจจุบันรัฐบาลเน้นการจัดการโครงสร้างของกระทรวงต่างๆ มากกว่าคิดถึงเป้าหมายที่ต้องทำ'

ทั้งนี้ดีแทคได้จัดทำWhite paper ซึ่งเป็นแนวทางการดำเนินการและการนำเสนอความคิดต่อรัฐบาลในการที่จะผลักดันนโยบายDigital Economy ให้ประสบความสำเร็จและยั่งยืน ที่เรียกว่า 'เศรษฐกิจดิจิตอลของไทย อินเทอร์เน็ตสำหรับทุกคน' เพื่อเสนอแนวคิดไปยังม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี หัวเรือใหญ่ในเรื่องนี้ พร้อมทั้งเชื่อว่าโอเปอเรเตอร์รายอื่นทั้งเอไอเอสและทรู ก็พร้อมจะเสนอแนวคิดของตนเอง

ตามเอกสารดังกล่าวดีแทคเห็นว่าภาครัฐควรให้ความสำคัญกับ 2 เรื่องใหญ่คือ1.การใช้เครือข่ายร่วมกันหรือ(Infrastructer Sharing) และ 2.การประมูล 4Gภายในกลางปี 2558 เพื่อทลายข้อจำกัดเรื่องความถี่ที่ส่งผลโดยตรงกับการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง

ซิคเว่กล่าวว่า ภาครัฐควรที่จะนำโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสง (FiberOpticNetwork) ของรัฐวิสาหกิจมารวมกันเป็นโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงแห่งชาติ (ในส่วนที่โอเปอเรเตอร์มือถือเรียกว่าเป็น Core Network) เพื่อนำมาให้เอกชนเช่าใช้ (Infrastructer Sharing) เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการลงทุนของภาคเอกชน ทำให้เอกชนสามารถมุ่งเป้าไปที่การให้บริการ และลดต้นทุนเพื่อให้ราคาค่าบริการต่ำลง

'ถ้ารัฐบาลมีโครงสร้างพื้นฐานขึ้นมา และมีกฏเกณฑ์ที่รองรับอย่างเหมาะสม ผู้ให้บริการก็พร้อมที่จะลงทุนในการขยายเครือข่าย การนำเสนอรูปแบบการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัย การดูแลคุ้มครองผู้บริโภค และเข้าไปสนับสนุนให้ประชาชนมีความรู้ด้านไอซีทีมากยิ่งขึ้น'

จากปัจจุบันโครงสร้างพื้นฐานของการให้บริการทั้งเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต คือทั้งรัฐ และเอกชนแต่ละรายจะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเองทั้งหมด ตั้งแต่การวางข่ายไฟเบอร์ออปติก ไปยังจุดแยกการเชื่อมต่อ (Connection Point) เพื่อส่งไปยังครัวเรือน หรือไม่ก็สถานีฐานเพื่อให้บริการต่อไป

'แนวคิดของอินฟราสตรักเจอร์แชร์ริ่ง ไม่จำกัดแค่ผู้ให้บริการโทรคมนาคม แต่รวมไปถึงผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่ปัจจุบันมีการลงทุนซ้ำซ้อนกัน แต่ถ้ารัฐบาลลงทุนหรือนำโครงสร้างที่มีมารวมกันก็จะไม่เกิดความซ้ำซ้อน แต่ทั้งนี้เชื่อว่ารัฐต้องลงทุนการเชื่อมต่อให้เข้าถึงครัวเรือนด้วย ไม่ใช่แค่ลงทุนเฉพาะโครงสร้างหลัก เพื่อให้แนวทางDigital Economy ประสบความสำเร็จได้รวดเร็วขึ้น'

ถ้าดูเฉพาะในส่วนของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ถ้านับสถานีฐานหรือเสาโทรคมนาคมทั้งของบริษัท ทีโอที,บริษัท กสท โทรคมนาคม ,เอไอเอส, ทรู และดีแทค จะมีสถานีฐานหรือเสาโทรคมนาคมตั้งอยู่ทั่วประเทศมากกว่า 6-7 หมื่นเสาโทรคมนาคม ที่ดูแล้วจะเป็นการลงทุนที่ซ้ำซ้อน ซึ่งถ้าเกิดการใช้งานอินฟราสตรักเจอร์แชร์ริ่งก็จะเกิดประโยชน์มากกว่านี้

โดยหลักการอินฟราสตรักเจอร์แชร์ริ่ง ตอนนี้มี 2 ทางเลือกที่น่าสนใจคือ ทางภาครัฐไม่ต้องลงทุนเพิ่ม เพียงแต่นำสถานีฐานหรือเสาโทรคมนาคมทั้งหมดที่ทีโอที และกสท มีจากสัญญาสัมปทานของผู้ให้บริการเครือข่ายเดิม มาขายคืนให้โอเปอเรเตอร์เพื่อให้มาจัดตั้งทาวเวอร์โค เพื่อใช้งานร่วมกัน หรืออีกทางเลือกคือ ให้มีการตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างภาครัฐ คือ ทีโอที กสท และผู้ให้บริการอีก 3 ค่าย เพื่อให้แต่ละค่ายสามารถนำสถานีฐานหรือเสาโทรคมนาคมมาใช้งานร่วมกันได้

อีกเรื่องที่สำคัญคือต้องทำให้มีการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz หรือ 4G ให้เกิดขึ้นภายในกลางปีหน้า เพราะปัจจุบันเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ให้บริการจะรักษามาตรฐานความเร็ว หรือปริมาณในการเชื่อมต่อต่อไปได้ ในอัตราการเติบโตของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน

'ปัจจุบัน 26% ของลูกค้าดีแทค ที่ใช้งานในกรุงเทพฯ มีสมาร์ทโฟนที่รองรับการใช้งาน 4G และผู้ที่ใช้งานโมบายอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศ 40% ดังนั้นถ้าจากคลื่นความถี่ที่แบ่งมาให้บริการ 4G แค่ 5 MHz จะไม่สามารถให้บริการได้เพียงพออย่างแน่นอน'

อย่างไรก็ตาม มีผลสำรวจในกลุ่มเทเลนอร์ที่ระบุว่า ถ้ามีการเพิ่มจำนวนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต 10% จะส่งผลให้มีการเพิ่มขึ้นของธุรกิจใหม่ 1% โดยเฉพาะในส่วนขององค์กรธุรกิจขนาดกลางและย่อย (SMEs) ในขะเดียวกันจะส่งผลต่อจีดีพี ที่จะเพิ่มขึ้นถึง 1.89 หมื่นล้านเหรียญ ภายในปี 2020 ที่จะเกิดธุรกิจใหม่เพิ่ม 30,000 แห่ง มีการจ้างงานเพิ่ม 58,000 ราย

ขณะเดียวกันก็จะมีผลประโยชน์ทางด้านสังคม เมื่อสามารถใช้สื่ออินเทอร์เน็ต ก็จะมีส่วนช่วยในการเข้าถึงการศึกษาที่กว้างขึ้น การรักษาทางไกลเพื่อดูแลสุขภาพ ประชาชนในที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงบริการของรัฐได้ง่ายขึ้น และนำนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีมาช่วยใช้ในการสื่อสาร

(คลิกที่รูปเพื่ออ่านรายละเอียด'White paper' )

Company Related Link :
Dtac


ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 26 พฤศจิกายน 2557