Page 1 of 1

คลังลังเลปรับขึ้นภาษีแวต นัดถก 3 สมาคมอสังหาริมทรัพย์เก็บภาษ

Posted: 27 Nov 2014, 17:32
by brid.siriwan
คลังลังเลปรับขึ้นภาษีแวต นัดถก 3 สมาคมอสังหาริมทรัพย์เก็บภาษีที่ดิน

“สมหมาย” ไม่มั่นใจหากขึ้นปรับขึ้นภาษีแวต จาก 7% เป็น 10% เศรษฐกิจอาจดิ่งเหวเหมือนญี่ปุ่นที่ขึ้นภาษีกดจีดีพีติดลบ แย้มหากขึ้นภาษีแวตจะทยอยปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป ด้าน “วิสุทธิ์” เตรียมหารือผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ถกภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ยันเก็บภาษีต่ำสุดในระยะเริ่มแรก

นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เปิดเผยว่า หากประเทศไทยจะปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) จะทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยจะไม่ปรับขึ้นแวตอย่างพรวดพราดเหมือนที่กับประเทศญี่ปุ่นปรับขึ้นภาษีการบริโภคภายในประเทศของตัวเองจาก 5% เป็น 8% โดยตั้งใจว่าหากจะปรับขึ้นภาษีแวตจะค่อยๆทยอยปรับขึ้นจากที่จัดเก็บ 7% ในปัจจุบัน จะเพิ่มขึ้นเป็น 8% และ 9% เป็นต้น โดยจะพิจารณาถึงสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ ที่เอื้ออำนวยให้มีการปรับเพิ่มภาษีขึ้นได้ด้วยหรือไม่

นอกจากนี้ ประเทศไทยก็ควรที่จะหันมาเน้นการส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวให้มากขึ้น ไม่ใช่หวังพึ่งภาคการส่งออกที่เป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทย จนทำให้ภาคการส่งออกมีสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) สูงถึง 74% ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ภาคการท่องเที่ยวก็มีบทบาทเพิ่มมากขึ้น โดยพิจารณารายได้จากการท่องเที่ยวที่มีรายได้สูงขึ้น โดยตั้งแต่ปี 2548 จนถึง 2556 รายได้จากการส่งออก คิดเป็นสัดส่วนถึง 11.4 เท่าของรายได้จากการท่องเที่ยว แต่ในปัจจุบันลดเหลือเพียง 5.4 เท่า ซึ่งบ่งชี้ว่ารายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น รัฐบาลก็ควรมียุทธศาสตร์ที่ส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวอย่างจริงจังมากขึ้น

ส่วนเรื่องการอนุมัติแผนการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ใหม่ว่าเป็นการเปลี่ยนยุทธศาสตร์ของการส่งเสริมการลงทุนไปสู่การส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น หากรัฐบาลยังส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมเดิมๆอย่างที่ผ่านมา ในปี 2558 ประเทศไทยอาจจะสูญเสียรายได้จากการส่งเสริมอุตสาหกรรมปีละประมาณ 210,000 ล้านบาท แยกเป็นภาษีจากการนำเข้าสินค้า 75,000 ล้านบาทและภาษีนิติบุคคล 137,000 ล้านบาท

ขณะที่นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลังกล่าวว่า กระทรวงการคลังจะพยายามคลายความวิตกกังวลของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่มีต่อร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่รัฐบาลเตรียมผลักดันออกมา โดยจะเสนอจัดเก็บภาษีในอัตราภาษีที่ต่ำมากจากเพดานที่เก็บในอัตราที่สูงสุด ซึ่งในเร็วๆนี้ กระทรวงการคลังจะหารือกับ 3 สมาคมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศคือสมาคมอาคารชุดไทย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ถึงผลของร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ

“ในช่วงเริ่มแรกของการนำภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาใช้ จะเป็นอัตราภาษีที่ต่ำกว่าเพดาน ที่ร่างกฎหมายกำหนด และจะดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ ตามร่างกฎหมายนี้อัตราภาษีตามเพดานสูงสุดอยู่ที่ 4% สำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั่วไป และที่รกร้างว่างเปล่าไม่ได้ใช้ทำประโยชน์ ส่วนที่ดินและอาคารเชิงพาณิชย์ในอัตราสูงสุดที่ 1% และที่ดินเพื่อการเกษตรเก็บในอัตรา 0.5% โดยกระทรวงการคลังจะออกกฎหมายลูกมารองรับในภายหลัง”

นายวิสุทธิ์กล่าวว่า สำหรับอัตราภาษีที่จะนำมาใช้จะต้องคำนึงถึงความสมดุลระหว่างรายได้ที่รัฐบาลจะได้รับกับความเป็นธรรมของภาษี เนื่องจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกมาแทนที่ภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งจะทำให้รัฐบาลมีฐานรายได้ที่ยั่งยืน เนื่องจากเป็นภาษีที่เก็บรายปีจากมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะสามารถขยายตัวได้ 4% ของจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) ต้องถือว่าขยายตัวได้ดีกว่าปีนี้ แต่ก็ยังเป็นการเติบโตที่ต่ำกว่าศักยภาพของเศรษฐกิจไทยที่ควรขยายได้ประมาณ 4.5% และหากนับรวมการขยายตัวเศรษฐกิจไทย 2 ปี คือ ปี 2557 และ 2558 เท่ากับว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่ำกว่าศักยภาพมากหรือไม่ถึง 3% และหากยังขยายตัวได้ในระดับนี้ต่อเนื่องถือว่า เศรษฐกิจไทยน่าเป็นห่วง

“เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวนั้น ความหมายคือ เศรษฐกิจสหรัฐฯฟื้น แต่ประเทศอื่นๆ เช่น สหภาพยุโรป จีนและญี่ปุ่นยังคงเปราะบาง ส่วนประเทศไทยต้องหันไปพึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ให้มากขึ้น จากเดิมที่ผู้ส่งออกเคยหนีจากตลาดสหรัฐฯและกระจายตลาดส่งออกไปประเทศต่างๆ เมื่อครั้งเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน เราก็ต้องพึ่งพาตลาดส่งออกในกลุ่มประเทศอินโดจีนให้มากขึ้น เพราะสัดส่วนการส่งออกไปกลุ่มประเทศเหล่านี้มีถึง 8.3% ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ขยายตัวได้ช้า โดยไตรมาส 3 ขยายตัวได้เพียง 0.6% ไม่ใช่เพราะการบริโภคในประเทศที่ไม่ขยายตัว แต่เป็นเพราะการส่งออกที่ขยายตัวติดลบถึง 4% เพราะการส่งออกมีสัดส่วนถึง 74% ของจีดีพีในประเทศทั้งหมด ทำให้ดึงเศรษฐกิจไทยในภาพรวมให้ขยายตัวช้า”.



ที่มา ข่าวไทยรัฐออนไลน์
วันที่ 27 พ.ย. 2557