Page 1 of 1

แฉเล่ห์ อุตสาหกรรมน้ำเมา ใช้โซเชียลฯ แชร์ดื่มเบียร์มีประโยชน

Posted: 27 Nov 2014, 17:48
by brid.siriwan
แฉเล่ห์ อุตสาหกรรมน้ำเมา ใช้โซเชียลฯ แชร์ดื่มเบียร์มีประโยชน์

วงเสวนาแฉเล่ห์อุตสาหกรรมน้ำเมา หลังโลกโซเชียลฯกระหน่ำแชร์ ดื่มเบียร์แล้วมีประโยชน์ เผยงานวิจัยระบุชัด เบียร์ส่งผลร้ายกว่า 200 โรค “นักนิเทศศาสตร์” ชี้ กลยุทธ์มายาคติ ใช้เป็นเครื่องมือทำการตลาดลวงสังคมเข้าใจผิด

วันที่ 26 พ.ย. เมื่อเวลา 10.00 น. ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ ในเวทีเสวนา “จับทางเล่ห์อุตสาหกรรมน้ำเมา” จัดโดย มูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน ร่วมกับสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) โดยนายพิริยะ ทองสอน เลขาธิการมูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน กล่าวว่า ปัจจุบันสื่อโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลต่อสังคมมาก ล่าสุดมีการแชร์ข้อมูลผ่านสื่อ ดื่มเบียร์มีประโยชน์ต่อตับ เบียร์ช่วยบำรุงหัวใจ เบียร์ช่วยแก้เครียด ฯลฯ ซึ่งเป็นข้อมูลลอยๆ ไม่มีที่มาและการรับรองจากแพทย์หรือหน่วยงานวิชาการ บางข้อความตัดมาเฉพาะเนื้อหาสั้นๆ หยิบบางคำจากงานวิจัยโดยไม่ได้เอาเนื้อหามาทั้งหมด จึงทำให้สังคมเข้าใจผิด เมื่อไปค้นข้อมูลเพิ่มเติมในเชิงลึกพบว่า การดื่มเบียร์ส่งผลข้างเคียงก่อให้เกิดสารพัดโรค ไม่ได้มีประโยชน์อย่างที่โลกออนไลน์แชร์กัน แม้จะอ้างงานวิจัยเพียงชิ้นเดียว ก็ยังมีงานวิจัยอีกมากกว่า 100 ชิ้นจากทั่วโลก และองค์การอนามัยโลกระบุชัดว่าเบียร์และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีโทษส่งผลกระทบต่อร่างกายมากกว่า 200 โรค

“เหตุผลหลักที่นักการตลาดธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นำมาสื่อสารในโลกออนไลน์ เนื่องจากทราบดีว่าเป็นช่วงเทศกาลลานเบียร์ เป็นเทศกาลที่คนนิยมสังสรรค์เฉลิมฉลองช่วงปีใหม่ โดยเขาจะไม่ทำการตลาดโดยตรง แต่จะอาศัยข้อมูลลอยๆ ใช้กระแสจากบทความ กระแสจากเฟชบุ๊ก หรือเว็บไซต์ที่ได้รับความนิยมนำมาเป็นเครื่องมือ ให้คนหลงเชื่อและเกิดการแชร์ หรือแม้แต่สื่อหนังสือพิมพ์บางฉบับยังนำไปเผยแพร่ อีกทั้งนักการตลาดเหล่านี้ ต้องการสวนกระแสที่หลายภาคส่วนร่วมกันรณรงค์ลดละเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากสังคมไม่ใช้วิจารณญาณก็ไม่รู้เลยว่า เป็นวิธีทำการตลาด ดังนั้น หากมีข้อความหรือข้อมูลลักษณะนี้ออกมาอีก ให้คิดไว้เลยว่า เป็นข้อมูลที่บิดเบือนและไม่ควรแชร์ต่อ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าการรุกหนักดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงที่ยอดจำหน่ายเบียร์ตกลง อย่างไรก็ตามในเวทีประชุมการวางแผนเพื่อความรู้เท่าทันนโยบายแอลกอฮอล์ (Alcohol in All Policies) ที่ผ่านมา ต่างเห็นตรงกันและสนับสนุนการขับเคลื่อนให้เกิดนโยบาย โดยร่วมกันออกแถลงการณ์ให้รัฐบาลไทยผลักดันนโยบายภาพคำเตือนบนบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครือข่ายจะนำข้อเสนอทั้งหมดไปยื่นต่อกระทรวงสาธารณสุขในเร็วๆ นี้” นายพิริยะ กล่าว

นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผอ.สำนักวิจัยนโยบายสร้างเสริมสุขภาพ (สวน.) กล่าวว่า สถานการณ์การดื่มสุราของเยาวชนไทยยังน่าเป็นห่วง ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังเป็นที่นิยมของเยาวชนทั้งเบียร์ สุรารสผลไม้ ไวน์คูลเลอร์ และสุรากลั่นที่มียี่ห้อต่างเติบโตต่อเนื่องรองรับจำนวนนักดื่มหน้าใหม่ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผลจากการทำการตลาดที่อาศัยช่องว่างทางกฎหมายของอุตสาหกรรมสุรา เช่น การให้ทุนอุปถัมภ์ การทำCSR การเลือกธีมการตลาดที่โดนใจเยาวชน อย่างเรื่องเพื่อน ดนตรี กีฬา และการใช้ช่องทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ และสื่อใหม่ๆ ที่เข้าถึงตัวเยาวชนได้ดี เปลี่ยนเยาวชนให้กลายเป็นสื่อการตลาด เป็นพรีเซ็นเตอร์แทนบริษัทโดยไม่รู้ตัว และทำให้เยาวชนสร้างบรรทัดฐานและค่านิยมผิด เช่น ทัศนคติที่เห็นว่าการดื่มเป็นเรื่องปกติ สุราไม่ใช่สินค้าอันตราย ถ้าดื่มอย่างมีสติและดื่มอย่างรับผิดชอบ

นพ.ทักษพล กล่าวว่า งานวิจัยหลายงานยืนยันว่า การทำการตลาดมีผลต่อเยาวชนชัดเจน เด็กไทยที่มีสินค้าตราสัญลักษณ์ของบริษัทแอลกอฮอล์ในครอบครอง หรือพบเห็นบ่อยๆ จะเสี่ยงต่อการดื่มสุรามากกว่าเด็กที่ไม่ได้เป็นเจ้าของสินค้าดังกล่าวมากขึ้น 60% และเด็กที่เข้าร่วมกิจกรรมกีฬาที่อุตสาหกรรมสุราสนับสนุน จะมีทัศนคติเชิงบวกทั้งต่อการดื่มและต่อบริษัทสุรา รวมทั้งมีโอกาสดื่มถี่ ดื่มหนัก มากกว่าเด็กทั่วไป 80% นอกจากนี้ ประเทศไทยยังขาดการควบคุมการให้ข้อมูลที่มีการเผยแพร่เกี่ยวกับประโยชน์ต่อสุขภาพของการดื่มแอลกอฮอล์ผ่านโลกออนไลน์ โดยเฉพาะในเฟซบุ๊ก ต่อๆ กัน โดยเป็นข้อมูลที่ไม่จริงตามหลักฐานวิชาการ ซึ่งแสดงถึงช่องว่างทางกฎหมาย ดังนั้น ในฐานะนักวิชาการจึงขอเรียกร้องให้มีการยกเครื่องกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับในการควบคุมการทำการตลาดสุราใหม่ เพราะการห้ามโฆษณาเพียงบางส่วนในปัจจุบัน เปรียบเสมือนไม่ได้ควบคุมเลย อย่างไรก็ตามในวันที่ 1-2 ธ.ค.ที่จะถึงนี้ จะมีการประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 8 ที่ โรงแรมเซ็นทารา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ซึ่งจะมีการหารือปัญหานี้เพื่อหาทางออกร่วมกัน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิษฐา หรุ่นเกษม อาจารย์สาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ในฐานะเครือข่ายนักวิชาการเฝ้าระวังกลยุทธ์การตลาดของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า ขณะนี้กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รุกทำการตลาดอย่างหนัก เน้นการสร้างมายาคติ 2 ประการ คือ 1.การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้เกิดผลในเชิงบวก และ 2.การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นการพักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งมายาคติเหล่านี้เกิดจากการผสมผสานเครื่องมือสื่อสารการตลาดที่ทำงานผ่านสื่อมวลชน และผ่านสื่อออนไลน์ ทำให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ในทุกรูปแบบ เช่น การโฆษณาทางตรงและโฆษณาแฝง การสนับสนุนกิจกรรมพิเศษหรือสปอนเซอร์ชิปอีเวนต์ โดยเฉพาะกีฬาและดนตรี แต่เครื่องมือที่ทรงพลังมากที่สุด คือ การตลาดผ่านผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ เนื่องจากมีประสิทธิภาพดึงดูดความสนใจ สร้างความต้องการชิม/ทดลอง/ดื่ม และเกิดพฤติกรรมการซื้อสินค้าได้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิษฐา กล่าวว่า จากผลวิจัยล่าสุดเรื่อง “กลยุทธ์การสื่อสารการตลาดของกลุ่มอุตสาหกรรมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” พบว่า การตลาดผ่านผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์นี้ใช้กลยุทธ์การออกแบบขวด กระป๋อง หีบห่อและบรรจุภัณฑ์ผ่านลวดลาย สีสัน ฉลาก โลโก้ ภาพ และลวดลายกราฟิก เพื่อสร้างสัญลักษณ์ เกิดภาพที่สวยงามเมื่อวางอยู่บนชั้นวางสินค้า สร้างจุดสะดุดทางใจกระตุ้นความต้องการซื้อ ที่สำคัญคือสร้างบุคลิกลักษณะให้กับสินค้าและแบรนด์ควบคู่ไปกับการโฆษณาและการใช้พนักงานขาย นอกจากนี้ผลวิจัยยังพบว่า กลยุทธ์นี้ใช้วิธีออกแบบด้วยการให้ข้อมูลคุณสมบัติผ่านกระป๋องเชื่อมโยงกับรางวัลที่ได้รับ เชื่อมโยงกับกลยุทธ์กิจกรรมพิเศษ และการวางผลิตภัณฑ์เพื่อโฆษณาแฝงในภาพยนตร์ และให้เป็นลิมิเต็ด เอดิชั่น

“สิ่งที่ต้องควบคุมคือ กำหนดให้มีภาพคำเตือนข้างบรรจุภัณฑ์ เนื่องจาก ผลวิจัยในต่างประเทศยืนยันแล้วว่า หากมีภาพคำเตือน ความรู้และความตระหนักในโทษและพิษภัยจะมีมากขึ้น การดื่มจะค่อยๆ ลดลง อีกทั้งเงินที่ใช้ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะลดลง ช่วยลดความเสียหายจากการดื่มในด้านต่างๆ เช่น ค่ารักษาพยาบาล การเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ดังนั้นรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขต้องเร่งรัดเรื่องประกาศภาพคำเตือน โดยกลุ่มอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ต้องพิมพ์ภาพและคำเตือนถึงโทษและพิษภัยบนผลิตภัณฑ์ ทั้งข้างขวดข้างกระป๋องและบนกล่อง ต้องมีการหมุนเวียนภาพไม่น้อยกว่า 1 ภาพ โดยขนาดของภาพคำเตือนในบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ควรอ้างอิงจากเปอร์เซ็นต์ภาพคำเตือนต่อพื้นผิวทั้งหมดของซองบุหรี่ และมีข้อความ ภาพ สัญลักษณ์ที่ช่วยให้เห็นได้ง่าย ตัวอักษรต้องหนามีขนาดใหญ่ มีสีอยู่บนภาพพื้นที่มีสีตัดกัน และมีกรอบขนาดใหญ่ล้อมรอบจัดวางในแนวนอนด้านหน้าของบรรจุภัณฑ์หรือหีบห่อ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิษฐา กล่าว


ที่มา ไทยรัฐออนไลน์
วันที่ 27 พ.ย. 2557