Page 1 of 1

ขอบแดนใหม่แห่งการเรียนรู้

Posted: 28 Nov 2014, 13:37
by brid.siriwan
ขอบแดนใหม่แห่งการเรียนรู้

วิทยากรที่มาบรรยายในงานสัมมนานี้มีหลายท่าน เช่น รองอธิการบดีจุฬาฯ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ รองศาสตราจารย์ยืน ภู่วรวรรณ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ขอบแดนใหม่แห่งการเรียนรู้ - 1001

อีกไม่กี่วันก็จะขึ้นปีใหม่ 2558 แล้ว ผู้อ่านได้เข้าร่วมกิจกรรมหรือเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ บ้างครับในปี 2557 ที่กำลังจะผ่านไปอีกไม่กี่วันข้างหน้า ในปีนี้ ผมได้เข้าร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการศึกษายุคใหม่จำนวนมาก ครั้งล่าสุดคือผมได้เข้าฟังสัมมนาเรื่อง “ขอบแดนใหม่แห่งการเรียนรู้” ซึ่งจัดในวันพุธที่ 12 พฤศจิกายน ที่โรงแรมดุสิตธานี โดยมีคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะครุศาสตร์ และศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ จุฬาฯ ร่วมกันจัดงานนี้ มีผู้เข้าฟังสัมมนาเกือบ 200 คนเป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จนเต็มห้องสัมมนา

วิทยากรที่มาบรรยายในงานสัมมนานี้มีหลายท่าน เช่น รองอธิการบดีจุฬาฯ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ รองศาสตราจารย์ยืน ภู่วรวรรณ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมทั้งวิทยากรจากไทยและต่างประเทศอีกหลายท่านครับ ทุกท่านพูดเรื่องเดียวกันคือ ครูอาจารย์ยุคนี้ต้องปรับตัวให้ทันความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและปรับรูปแบบการสอนให้ทันลูกศิษย์ยุคใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีได้อย่างคล่องแคล่วโดยไม่ต้องสอน ตัวอย่างนี้เห็นได้ชัดมากจากลูกสาวของผมเองครับ ตอนที่ลูกสาวผมอายุสามขวบ ก็เปิดดูวิดีโอยูทูบในไอแพดเป็นแล้ว เมื่ออายุสี่ขวบ ก็ถ่ายรูปจากสมาร์ทโฟนได้ ดังนั้นเด็กรุ่นใหม่จะเรียนรู้เทคโนโลยีได้ไวมาก เพราะเขาเกิดมาพร้อมกับสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว

คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ขณะนี้ทางคณะฯ เริ่มนำการศึกษาระบบ 4.0 หรือ Chula Engineering Edu-cation 4.0 มาใช้ในการเรียนการสอนของคณะฯ ตัวอย่างเช่น การสร้างห้องเรียน i-SCALE ซึ่งเป็นห้องเรียนทันสมัยที่เน้นปฏิสัมพันธ์ของผู้เรียน มีการเรียนการสอนที่เน้นการคิดเชิงออกแบบซึ่งเป็นกระบวนการออกแบบที่เน้นความต้องการของผู้ใช้เป็นหลัก หรือการผลิตนวัตกรรมที่สนองความต้องการของสังคมมากขึ้น ถ้าผู้อ่านสนใจเรื่องนี้ ก็ติดตามได้ที่เพจ “Chula Engineering Education 4.0” ในเฟซบุ๊กครับ

นอกจากนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้พัฒนานวัตกรรมด้านการเรียน การสอนหลายเรื่องเช่น Course ville ซึ่งเป็นเครื่องมือช่วยครู อาจารย์จัดการเรียนการสอนได้อย่างสะดวก เช่น การประกาศข่าวสาร การสอบย่อย การเก็บคะแนน การเช็กชื่อ การแจกเอกสาร และยังเชื่อมโยงกับเฟซบุ๊กได้ ขณะนี้มีผู้ใช้งาน Courseville อย่างแพร่หลายภายในจุฬาฯ และเริ่มใช้ภายนอกจุฬาฯ บ้างแล้ว โครงการ Courseville พัฒนาโดย รศ.ดร.อติวงศ์ สุชาโต ผู้อ่านที่สนใจดูได้ที่เว็บ www.mycourseville.com ครับ

นวัตกรรมด้านการเรียนการสอนอีกเรื่องหนึ่งคือ Chula Clicker ซึ่งใช้สมาร์ทโฟนช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ในห้องเรียน เช่น ผู้สอนแสดงโจทย์ปรนัย แล้วให้ผู้เรียนเลือกคำตอบที่ถูกต้องผ่านทางสมาร์ทโฟน ทำให้ผู้สอนทราบว่า ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาบทเรียนมากน้อยเพียงใดโดยดูจากคำตอบที่ผู้เรียนเลือก ผศ.ดร.เกริก ภิรมย์โสภา เป็นหัวหน้าโครงการพัฒนา Chula Clicker ครับ ผู้อ่านดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ clicker.cp.eng.chula.ac.th

มีคำพูดที่ผมชอบมากจากภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่กำลังฉายในขณะนี้คือ Whiplash หรือ “ตีให้ลั่น เพราะว่าฝันยังไม่จบ” ครูบอกลูกศิษย์ว่า “ไม่มีคำใดที่เป็นอันตรายต่อลูกศิษย์มากไปกว่า เธอทำได้ดีแล้ว เพราะจะทำให้เธอเหลิงและไม่พัฒนาตัวเอง” ในทำนองเดียวกัน ผมเชื่อว่า ความคิดที่เป็นอันตรายที่สุดสำหรับครู อาจารย์ทุกคนคือ “ฉันสอนอย่างนี้มาหลายปี ก็ดีอยู่แล้ว ไม่ต้องเปลี่ยนรูปแบบการสอนก็ได้” เพราะความคิดเช่นนี้จะทำให้ครู อาจารย์ยังหลงอยู่ในศตวรรษที่ 20 ทั้ง ๆ ที่ลูกศิษย์ของเราจะต้องเป็นผู้นำในศตวรรษที่ 21 ดังนั้นครู อาจารย์ วิทยากรทุกคนควรพัฒนารูปแบบการสอนให้ทันสมัย รู้ทันเทคโนโลยี และใช้เทคโนโลยีในการสอนอย่างเหมาะสมกับกลุ่มผู้เรียนที่ใช้สมาร์ทโฟนเป็นมาตั้งแต่เกิดครับ !.

อ.ธงชัย โรจน์กังสดาล
ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2557