Page 1 of 1

กทพ. เข็นทางด่วน3เส้นทางชงครม.ปีหน้า

Posted: 28 Nov 2014, 14:30
by brid.siriwan
กทพ. เข็นทางด่วน3เส้นทางชงครม.ปีหน้า

กทพ. เตรียมเสนอสร้างทางด่วน 3 เส้นทาง เข้าที่ประชุมครม.ปีหน้า "ประจิน" สั่งปลุกผี ถก ม.เกษตร สร้างทางด่วนขั้น 3 สายเหนือพ่วงด้วยพระราม3 -ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก และกระทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต

นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในปี 58 การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เตรียมขออนุมัติกระทรวงคมนาคมและครม.เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างทางด่วน 3 เส้นทาง ได้แก่ พระราม3 -ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก ระยะทาง 16.9 กม ,กระทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต ระยะทาง 3.9 กม. และ โครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ช่วงเอ็น1เอ็น2 และเอ็น 3 ระยะทาง 40.9กม

“ในส่วนของโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม ได้สั่งให้เดินหน้าเจรจากับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้พื้นที่ก่อสร้างทางด่วนช่วงเอ็น 1 ซึ่งเริ่มต้นจากถนนวงแหวนด้านตะวันตก-รัตนาธิเบศร์-งามวงศ์วาน-แยกเกษตรศาสตร์ เนื่องจากอาจมีพื้นที่บางส่วนของมหาวิทยาลัยเกษตรฯได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง”

สำหรับความคืบหน้าของโครงการทางด่วนทั้ง 3 เส้นทาง ปัจจุบันโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนืออยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงินและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม คาดผลการศึกษาจะได้ข้อสรุปเดือนธ.ค.นี้ และจะดำเนินโครงการในช่วงเอ็น2 แยกเกษตร-ถ.นวมินทร์ ระยะทาง 9 กม. และช่วงเอ็น3 เริ่มจาก ถนนนวมินทร์-ถนนศรีนครินทร์บริเวณมอเตอร์เวย์สายกรุงเทพ-ชลบุรี ระยะทาง 11.5 กม.ได้ในปีหน้า

ส่วนโครงการก่อสร้างทางด่วนเส้นทางกระทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ขณะที่โครงการทางด่วนพระราม 3 อยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียด สำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ทางด่วนสาย ศรีรัช-วงแหวนรอบนอก ระยะทาง 16.7 กม. ปัจจุบันคืบหน้าไปแล้ว 33% คาดจะแล้วเสร็จกลางปี 59 เร็วกว่าเดิมที่กำหนดปลายปี 59 นอกจากนี้ กทพ.มีแผนพัฒนาพื้นที่ใต้ทางด่วนเป็นทางลัดและทางจักรยานให้ประชาชนใช้เดินทางได้ด้วย โดยเส้นแรกจะดำเนินการจากถนนแจ้งวัฒนะ-งามวงศ์วาน เสร็จเดือนม.ค.59

นายอัยยณัฐ ถินอภัย ผู้ว่าการ กทพ. กล่าวว่า ในส่วนของแหล่งเงินเบื้องต้นมี 3 แหล่ง เบื้องต้นจะเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนกับรัฐแบบพีพีพี , กทพ.ทำเอง และใช้กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งกทพ.จะศึกษาข้อดี-ข้อเสียรายงานให้กระทรวงคมนาคมรับทราบว่า ควรเลือกลงทุนก่อสร้างโครงการทางด่วนเส้นทางใดแบบไหน ซึ่งแนวโน้มที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ ให้เอกชนร่วมลงทุนกับรัฐหรือการให้สัมปทานขณะที่การลงทุนเรื่องกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ได้คุยกับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.)ในเบื้องต้นแล้ว แต่ยังไม่ชัดเจน

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 27 พฤศจิกายน 2557