Page 1 of 1

การหลุดลอยของตรรกะจากข้อเท็จจริง : กรณีประชาธิปไตยกับการทุจร

Posted: 29 Nov 2014, 13:35
by brid.siriwan
การหลุดลอยของตรรกะจากข้อเท็จจริง : กรณีประชาธิปไตยกับการทุจริต

ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

ความผิดพลาดในการเชื่อมโยงความเป็นเหตุเป็นผลของแนวความคิดทางสังคมศาสตร์กับความเป็นจริงเชิงประจักษ์มักเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะหากผู้ใช้แนวความคิดยึดติดกับตรรกะดั้งเดิมที่เป็นรากฐานในการสร้างแนวคิดนั้นอย่างเหนียวแน่นและไม่พิจารณาบริบทอันเป็นเงื่อนไขของสิ่งที่ตนเองกำลังอธิบาย

คนจำนวนมากมักชอบใช้แนวความคิดใดความคิดหนึ่งที่ตนเองชื่นชอบไปอธิบายปรากฏการอื่นๆที่คล้ายคลึงกันอย่างง่ายๆโดยปราศจากการไตร่ตรองให้รอบคอบ ผลที่ตามมาคือการได้ภาพความเป็นจริงที่บิดเบือนจนกลายมาเป็นความเชื่อที่ฝังติดอยู่ในจิตใต้สำนึก ภายหลังแม้นเขาจะพบว่ามีข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่ขัดแย้งกับแนวความคิดที่ตนเองยึดถือ เขากลับมองข้ามหรือละเลยข้อเท็จจริงเหล่านั้นไปเสีย หรือที่ร้ายกว่านั้นคือปฏิเสธข้อเท็จจริงเหล่านั้น เพื่อให้ตนเองสามารถดื่มด่ำมีความสุขกับสิ่งที่ตนเองมโนขึ้นมาต่อไป

เงื่อนไขทางจิตวิทยาประการหนึ่งของคนพวกนี้ในกรณีที่พวกเขายอมรับว่ามีข้อเท็จจริงที่ขัดแย้งกับความเชื่อที่ตนเองยึดถือดำรงอยู่คืออาการฝันสลาย ไร้ที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ความเป็นตัวตนหายไป เหลือแต่ความว่างเปล่า ดังนั้นพวกเขาจึงพยายามปกป้องความเชื่อของตนเองอย่างสุดฤทธิ์สุดเดช ไม่ว่าจะต้องแลกกับอะไรก็ตาม

มีความเชื่อสำคัญประการหนึ่งเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยคือ การมีกลไกที่สามารถตรวจสอบผู้ใช้อำนาจรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งจะทำให้การทุจริตคอรัปชั่นน้อยลง บางคนที่บูชาระบอบประชาธิปไตยอย่างงมงายอาศัยตรรกะนี้นำไปสู่ข้อสรุปที่ว่าผู้ปกครองที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยมีการทุจริตน้อยกว่าผู้ปกครองประเทศที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

ประเด็นที่พึงพิจารณาคือข้อความที่ว่า “ระบอบประชาธิปไตยมีกลไกการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่มีประสิทธิภาพ” คำถามคือข้อความนี้มีลักษณะเป็น “ความจริงแบบสากล” หรือ “ความจริงตามบริบท”

หากข้อความนี้เป็น “ความจริงแบบสากล” ก็หมายความว่าไม่ว่าประเทศใดก็ตามที่ใช้ระบอบประชาธิปไตยปกครองประเทศ ประเทศนั้นก็จะต้องมีกลไกตรวจสอบอำนาจรัฐที่มีประสิทธิภาพ และทำให้มีการทุจริตคอรัปชั่นน้อย หรือ ณ ช่วงเวลาใดในประวัติศาสตร์ หากช่วงเวลานั้นประเทศใดใช้ระบอบประชาธิปไตย ก็ย่อมมีกลไกการตรวจสอบอำนาจรัฐที่มีประสิทธิภาพและการทุจริตเกิดขึ้นน้อยกว่าช่วงเวลาที่ประเทศนั้นปกครองโดยไม่ใช้ระบอบประชาธิปไตย

หากข้อความนี้เป็น “ความจริงตามบริบท” ก็หมายความว่า ประเทศที่ใช้ระบอบประชาธิปไตยมีบางประเทศที่มีกลไกการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ และมีบางประเทศที่มีกลไกการตรวจสอบที่ไร้ประสิทธิภาพ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่าบางประเทศที่ใช้ระบอบประชาธิปไตยจะมีการทุจริตคอรัปชั่นสูงกว่าประเทศที่ไม่ใช้ระบอบประชาธิปไตย และในประเทศเดียวกันบางช่วงเวลาที่ใช้ระบอบประชาธิปไตย ก็อาจมีการทุจริตคอรัปชั่นมากกว่าช่วงเวลาที่ไม่ใช้ระบอบประชาธิปไตย

เมื่อดูข้อมูลการสำรวจดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perceptions Index: CPI) ซึ่งทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International: TI) มีการวัดคะแนนความโปร่งใสประเทศใดได้คะแนนความโปร่งใสมากจะได้จัดลำดับว่ามีการทุจริตน้อย ส่วนประเทศที่ได้คะแนนความโปร่งใสน้อยจะได้รับการจัดลำดับว่ามีการทุจริตมาก สำหรับวิธีการจัดลำดับความโปร่งใสเขากำหนดให้ลำดับประเทศที่มีลำดับเลขน้อยแสดงว่ามีการทุจริตน้อย ส่วนประเทศลำดับที่เป็นตัวเลขมากแสดงว่ามีการทุจริตมาก เช่น ในปี 2555 ประเทศที่ได้รับการจัดลำดับความโปร่งใสอันดับ1 ซึ่งมีการทุจริตต่ำที่สุดคือประเทศเดนมาร์ก ส่วนประเทศที่ได้รับการจัดลำดับความ โปร่งใส ลำดับสุดท้ายหรือลำดับที่ 174 คือประเทศโซมาเลีย ซึ่งแสดงว่ามีภาพลักษณ์การคอรัปชั่นมากที่สุด

ทีนี้เราลองมาดูว่าประเทศที่ใช้ระบอบประชาธิปไตยทุกประเทศมีการทุจริตน้อยกว่าประเทศที่ไม่ใช้ระบอบประชาธิปไตยทุกประเทศหรือไม่ หากใช่ ข้อความที่ว่า “ประเทศที่ใช้ระบอบประชาธิปไตยมีการคอรัปชั่นน้อยกว่าประเทศที่ไม่ใช้ระบอบประชาธิปไตยก็จะเป็นความจริงแบบสากล” แต่หากมีประเทศใดประเทศหนึ่งที่ไม่ใช้ระบอบประชาธิปไตยมีการทุจริตน้อยกว่าประเทศที่ใช้ระบอบประชาธิปไตย ก็หมายความว่าข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริงแบบสากลแต่อย่างใด

จะขอหยิบยกข้อมูลที่สำรวจในปี 2556 มาพิจารณาโดยใช้ 8 ประเทศเป็นตัวอย่าง กลุ่มแรก 4 ประเทศที่ใช้ระบอบประชาธิปไตย ได้แก่ ประเทศอิตาลี สวิสเซอร์แลน ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย ส่วนกลุ่มที่สอง 4 ประเทศซึ่งไม่ใช้ระบอบประชาธิปไตย ได้แก่ ประเทศภูฐาน บรูไน ซาอุดิอาระเบีย และจีน

ปรากฏว่าประเทศที่ใช้ระบอบประชาธิปไตยเกือบทุกประเทศมีลำดับความโปร่งใสแย่กว่าประเทศที่ไม่ใช้ระบอบประชาธิปไตย คือได้ลำดับความโปร่งใสอยู่ในลำดับท้ายๆหรือที่โหล่ ส่วนประเทศที่ไม่ใช้ระบอบประชาธิปไตยอย่าง ภูฐาน บรูไน ซาอุดิอาระเบีย และจีน กลับได้ลำดับความโปร่งใสดีกว่าหรือได้ที่ต้นๆ (ดูแผนภูมิด้านล่าง)

การหลุดลอยของตรรกะจากข้อเท็จจริง : กรณีประชาธิปไตยกับการทุจริต
แผนภูมิที่ 1 ลำดับความโปร่งใสของประเทศที่ใช้ระบอบประชาธิปไตยและไม่ใช้ระบอบประชาธิปไตย พ.ศ. 2556 (ข้อมูลจากองค์กรความโปร่งใสนานาชาติ)
ข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ผมนำมาแสดงด้านบนย่อมเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่า ความเชื่อที่ว่าระบอบประชาธิปไตยมีกลไกการตรวจสอบการใช้อำนาจที่มีประสิทธิภาพ และทำให้เกิดการทุจริตน้อยกว่าระบอบที่ไม่ใช้ประชาธิปไตยนั้น เป็นความเชื่อที่ผิดพลาด

ความจริงก็คือ การตรวจสอบอำนาจรัฐจะมีประสิทธิภาพหรือไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ความเชื่อที่ว่าเมื่อประเทศใดชะระบอบประชาธิปไตยปกครองแล้วจะทำให้ความสามารถในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐได้ดีขึ้นหรือมีประสิทธิภาพมากขึ้นนั้นจึงไม่จริงเสมอไป มีหลายกรณีที่ข้อมูลเชิงประจักษ์ได้บอกเราแล้วว่า ประเทศที่ไม่ใช้ระบอบประชาธิปไตยมีกลไกในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอรัปชั่นได้ดีกว่าประเทศที่ใช้ระบอบประชาธิปไตย

ไม่ต้องดูอื่นไกลหรือใช้ข้อมูลดังที่ผมใช้ข้างต้นก็ได้ แค่ดูการตรวจสอบเรื่องการติดตั้งไมโครโฟนในทำเนียบรัฐบาลยุค คชส. ก็จะเห็นได้ว่าประสิทธิภาพของกลไกในการตรวจสอบการทุจริตภายใต้ระบอบที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย ดูจะมีประสิทธิภาพมากกว่าตอนที่เป็นระบอบประชาธิปไตยของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ด้วยซ้ำไป สื่อมวลชนยังสามารถตรวจสอบการกระทำที่ผิดปกติ ได้ จนสำนักนายกรัฐมนตรีก็ได้ยกเลิกการติดตั้งไมโครโฟนราคาแพงเหล่านั้นในที่สุด

อีกกรณีหนึ่งซึ่งเป็นข่าวโด่งดังอยู่ในเวลานี้ คือการจับขบวนการทุจริตประพฤติมิชอบของตำรวจไทยระดับนายพลและนายพันหลายคนจนเป็นข่าวโด่งดังทั่วโลก ก็ดูเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าการจัดการกับการทุจริตภายใต้รัฐบาลที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหลายรัฐบาลด้วยซ้ำ

เพราะฉะนั้นการสรุปโดยอาศัยตรรกะแบบดั้งเดิมอย่างเป็นกลไก โดยไม่พิจารณาข้อเท็จจริงของบริบทสังคมจึงเป็นเรื่องที่นำไปสู่การสร้างความผิดพลาดได้ง่าย ซึ่งเป็นการหลุดลอยของตรรกะออกจากพื้นฐานความเป็นจริง นักวิชาการท่านใดที่ยังยึดติดกับความคิดและความเชื่อแบบนี้ลองกลับไปทบทวนความคิดของตนเองอีกทีนะครับ เผื่อจะหลุดออกมาจากความเชื่อที่ผิดพลาด และเห็นความจริงอีกด้านหนึ่งเพิ่มขึ้น

ที่มา ASTVผู้จัดการรายวัน
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2557