กสทช.เตรียมออกไลเซ่นส์ทีวี โฮม ชอปปิ้ง

Post Reply
brid.ladawan
Posts: 7045
Joined: 29 Mar 2013, 13:36

กสทช.เตรียมออกไลเซ่นส์ทีวี โฮม ชอปปิ้ง

Post by brid.ladawan »

กสทช.เตรียมออกไลเซ่นส์ทีวี โฮม ชอปปิ้ง

กสทช.เล็งออกใบอนุญาตทีวี โฮม ชอปปิ้ง ชี้ต้องศึกษารูปแบบจากหลายประเทศมาประยุกต์ให้เข้ากับประเทศไทยมากที่สุด เผยความซ้ำซ้อนอยู่ที่การคิดค่าธรรมเนียมและวิธีการให้ใบอนุญาต กางโมเดลแดนกิมจิ พบมูลค่าตลาด 4 แสนล้านบาท มียอดส่งออก 30% ด้านนายกสมาคม THA แนะประเทศไทยต้องมีใบอนุญาต เพื่อกลั่นกรองสินค้าหลอกลวงออกจากระบบ

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวถึงแนวทางในการออกใบอนุญาตภายใต้หลักเกณฑ์การให้บริการโทรทัศน์แบบประยุกต์ให้กับธุรกิจขายสินค้าผ่านโทรทัศน์ (ทีวี โฮม ชอปปิ้ง)ระหว่างการพาสื่อมวลชนดูงานทีวี โฮม ชอปปิ้ง ที่ประเทศเกาหลีใต้ ระหว่างวันที่ 9-12ธ.ค.ที่ผ่านมาว่า ต้องศึกษารูปแบบจากหลายประเทศที่ทำธุรกิจด้านนี้จนประสบความสำเร็จมาแล้ว เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา เพื่อนำข้อมูลมาประยุกต์ให้เหมาะสมกับสภาพธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งหากกสทช.สามารถส่งเสริมให้ทีวี โฮม ชอปปิ้ง ในประเทศไทยเกิดได้อย่างมีระบบ ภายใต้กฎ กติกาที่วางไว้ ก็จะเป็นเหมือนจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งตามนโยบาย Digital Economy ของรัฐบาล โดยประเทศไทยมีทีวีดิจิตอลอยู่หลายช่องที่จะช่วยให้เอสเอ็มอีมีช่องทางในการขายมากขึ้น

*** ควรคิดค่าธรรมเนียมจากกำไร

ยกตัวอย่างประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่ทำธุรกิจทีวี โฮม ชอปปิ้ง เป็นอันดับ 1 ของโลก มีการขายสินค้าผ่านทั้งทีวี โทรศัพท์มือถือ และอินเทอร์เน็ต ซึ่งปีที่แล้วมีมูลค่าตลาดถึง 4 แสนล้านบาท และสามารถสร้างยอดส่งออกได้ถึง 30% ของยอดขายสินค้าทั้งหมดในประเทศ ทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีมีช่องทางในการสร้างรายได้อย่างมาก ทั้งนี้จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับกระทรวงไอซีทีเพื่อพัฒนาประเทศเกาหลีใต้ ได้ข้อมูลว่าประเทศเกาหลีใต้เป็นประเทศที่ไม่ต้องประมูลใบอนุญาตแต่เป็นการให้ใบอนุญาตโดยรัฐบาล ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 6 ราย และกำลังจะให้ใบอนุญาตเพิ่มอีก 1 ราย ซึ่งรูปแบบการให้ใบอนุญาตของประเทศเกาหลีใต้นั้น ช่องรายการทีวี โฮม ชอปปิ้ง ถูกจัดให้อยู่แทรกตรงกลางระหว่างฟรีทีวี และเก็บค่าธรรมเนียมจากกำไรของบริษัท

ดังนั้นหากย้อนกลับมาดูกฎ กติกาที่ประเทศไทยได้วางไว้ซึ่งเข้าข่ายใบอนุญาตภายใต้หลักเกณฑ์การให้บริการโทรทัศน์แบบประยุกต์นั้นพบว่ามีความแตกต่างกันมาก เพราะประเทศไทยมีการคิดค่าธรรมเนียมจากยอดขายไม่ใช่กำไรเหมือนอย่างเกาหลีใต้ ดังนั้น กสทช.ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนอีกครั้งในการออกใบอนุญาตว่าจะคิดค่าธรรมเนียม รูปแบบไหน แต่คงคิดค่าธรรมเนียมแบบทีวีดิจิตอลไม่ได้ ส่วนรูปแบบการเผยแพร่อาจเป็นได้ทั้ง 2 แนวทาง คือการให้เป็นช่องทีวีแบบเกาหลีใต้ โดยกำหนดให้เป็นช่องสำหรับให้ข้อมูลด้านสินค้า หรือการให้ใบอนุญาตเพื่อเป็นรายการๆหนึ่งในช่องทีวีแบบเดียวกับประเทศญี่ปุ่น ก็เป็นได้

'ส่วนเรื่องจะประมูลหรือไม่นั้นก็ยังตอบไม่ได้ เพราะประเทศไทยต่างจากเกาหลีใต้ เพราะไทยไม่ยอมรับวิธีการบิวตี้ คอนเทสต์ หรือให้ใบอนุญาตโดยไม่มีการประมูล คนไม่มั่นใจเรื่องความโปร่งใส คิดว่าต้องมีการฮั้วกัน อีกปัญหาคือเราจะจำกัดจำนวนผู้ประกอบการเหมือนอย่างเกาหลีได้หรือไม่ เพื่อไม่ให้มีมากจนเกินไป จนธุรกิจพัง เพราะกฎหมายของไทยคือต้องทำให้เกิดความเป็นธรรมอย่างเสรี ซึ่งเรื่องนี้ กสทช.ต้องศึกษารายละเอียดให้ถี่ถ้วนและนำข้อมูลจากหลายๆประเทศมาประยุกต์ให้เข้ากับประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง เหมือนกับโมเดลการให้ใบอนุญาตทีวีดิจิตอลซึ่งเราเชื่อว่าเป็นโมเดลที่ดีที่สุด'

*** เปิดโมเดลทีวีโฮมชอปปิ้งแดนกิมจิ

สำหรับประเทศเกาหลีใต้มีผู้ประกอบการทีวีโฮมชอปปิ้ง อยู่ 6 ราย โดยมีผู้ประกอบการรายใหญ่อยู่ 2 ราย ได้แก่ GS Home Shopping และ CJ O Shopping โดย GS Home Shopping เริ่มทำธุรกิจเมื่อปี 2543 ปัจจุบันมียอดโทร.เข้ามาที่คอลเซ็นเตอร์วันละ 1.3 แสนครั้ง แบ่งเป็นการสั่งสินค้าผ่านระบบอัตโนมัติ 60% การสั่งสินค้าผ่านพนักงานรับโทรศัพท์ 20% ที่เหลือเป็นการโทร.เข้ามาแจ้งปัญหา ร้องเรียน เกี่ยวกับสินค้า โดยในจำนวนนี้มียอดสั่งซื้อสินค้าผ่านโทรศัพท์วันละ 1.6 หมื่นครั้ง สินค้าที่ขายผ่านทีวีมีจำนวนวันละ 20 ชนิด สำหรับสินค้าที่ขายดีที่สุดในช่วงหน้าหนาวคือเสื้อผ้ากันหนาว รองเท้า และผ้าห่ม ขณะที่เสื้อผ้าก็เป็นสินค้าที่มียอดการคืนสินค้ามากที่สุดถึง 50% เพราะขนาดไม่ตรงกับรูปร่าง ซึ่งหากลูกค้าไม่พอใจสินค้าบริษัทจะคืนเงินให้ทันที

ทั้งนี้บริษัทมีกำไรส่วนต่างจากสินค้าแต่ละชิ้นประมาณ 5% มีรายได้รวมในปี 2555 อยู่ที่ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ปัจจุบันเข้ามาร่วมลงทุนกับทรูวิชั่นส์ เดอะมอลล์กรุ๊ป และซีพีออล์ ทำธุรกิจร่วมกันในประเทศไทยภายใต้บริษัท ทรู จีเอส จำกัด ผ่านช่อง ทรูซีเล็คท์

ส่วน CJ O Shopping เริ่มเข้ามาในธุรกิจนี้พร้อมกับ GS Home Shopping นอกจากทำตลาดในประเทศเกาหลีใต้แล้วยังมีสาขาในต่างประเทศแถบเอเชีย ได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และตุรกี เป็นบริษัทที่มียอดขายเป็นอันดับ 6 ของสินค้าทั้งหมดในประเทศ มีเครือข่ายธุรกิจ 4 ด้าน ได้แก่ ธุรกิจอาหารและบริการด้านอาหาร ธุรกิจยาและเทคโนโลยีชีวภาพ ธุรกิจโฮมชอปปิ้งและขนส่งครบวงจร และธุรกิจสื่อและบันเทิงครบวงจร ปัจจุบันเข้ามาร่วมลงทุนกับบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เพื่อทำธุรกิจในประเทศไทยภายใต้ชื่อบริษัท จีเอ็มเอ็ม ซีเจ โอ ช้อปปิ้ง จำกัด นำเสนอรายการผ่านทีวีดาวเทียมชื่อ O Shopping

*** THA เผยเมืองไทยต้องมีใบอนุญาต

ด้านทรงพล ชัญมาตรกิจ นายกสมาคมทีวีโฮมชอปปิ้ง (ประเทศไทย) หรือ THA กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจทีวี โฮม ชอปปิ้งในประเทศไทยมีมูลค่าตลาด 6,000 ล้านบาท และคาดว่าปีหน้าจะมีมูลค่าตลาด 8,000 ล้านบาท ดังนั้นประเทศไทยต้องมีใบอนุญาตสำหรับการทำธุรกิจทีวี โฮม ชอปปิ้ง เพื่อช่วยกลั่นกรองธุรกิจที่ดีและไม่ดีออกจากกัน เพราะปัจจุบันมีสินค้าจำนวนไม่น้อยที่หลอกลวงประชาชน ทำให้คนไม่กล้าซื้อของผ่านช่องทางนี้ ดังนั้นหากกสทช.สนับสนุนให้มีใบอนุญาตไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหนก็ตาม จะช่วยให้เอสเอ็มอีมีช่องทางในการขายสินค้ามากขึ้น

Company Related Link :
กสทช.


ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 16 ธันวาคม 2557
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”