Page 1 of 1

เก็งกำไรโดยไม่สนทิศทางตลาดด้วย Calendar Spread

Posted: 16 Dec 2014, 10:23
by brid.ladawan
เก็งกำไรโดยไม่สนทิศทางตลาดด้วย Calendar Spread

ผมเชื่อว่าทุกท่านที่กำลังอ่านบทความนี้น่าจะรู้จัก Futures ไม่มากก็น้อยนะครับ เพราะในบ้านเราตลาด TFEX ได้เปิดให้มีการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้ามาตั้งแต่ปี 2550 นับถึงวันนี้ก็เข้าสู่ปีที่ 8 แล้ว บทความนี้ผมขอเน้นวิธีการใช้ Futures ทำกำไร โดยผมแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ

1. การเก็งกำไรทิศทางราคาสินค้าอ้างอิง (Directional Trading)

2. การเก็งกำไรส่วนต่าง (Spread Trading)

สาระสำคัญในการใช้ Futures เก็งกำไรทิศทางราคาสินค้าอ้างอิงจะอยู่ที่การเพิ่ม Leverage โดย Leverage เกิดจากเราใช้เงินลงทุนน้อย (Initial Margin) แต่สามารถสร้างมูลค่าการลงทุนที่สูง (มูลค่าสัญญา) ดังนั้นในยามที่เราเก็งทิศทางถูกพร้อมทั้งใช้ Leverage ที่สูงเราก็จะได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น แต่ถ้าเราเก็งผิดทาง Leverage ที่สูงก็จะทำให้เราขาดทุนได้มากเช่นกัน ดังนั้นจะกำไรหรือขาดทุนมากน้อยขึ้นอยู่กับวิธีการบริหารและจัดสรรเงินลงทุนเพื่อออกแบบ Leverage และการคาดการณ์ทิศทางราคาสินค้าอ้างอิง (ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าปวดหัวและคนส่วนใหญ่ก็มักจะคาดการณ์ผิดอยู่เสมอ เพราะเป็นเรื่องของอนาคตที่เรายังมองไม่เห็น และมีปัจจัยมากมายมากระทบไม่ว่าสินค้านั้นจะเป็น Index, Stock, หรือ Commodity ก็ตาม)

สำหรับการเก็งกำไรส่วนต่างหรือ Spread Trading สามารถแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ Inter-commodity Spread คือการซื้อและขายสัญญา Futures ที่มีสินค้าอ้างอิงต่างกันแต่มีเดือนหมดอายุเดียวกัน (ติดตามได้ใน KSS Knowledge Sharing Program) ส่วนการเก็งกำไรส่วนต่างที่ผมอยากแนะนำให้นักลงทุนทุกท่านศึกษาเอาไว้เป็นทางเลือกต่อโอกาสเพิ่มผลตอบแทน คือ Intra-commodity Spread ที่เป็นการซื้อและขายสัญญา Futures ที่มีสินค้าอ้างอิงเดียวกันแต่ต่างเดือนหมดอายุ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Calendar Spread ด้วยวิธีนี้เราไม่ต้องกังวลทิศทางราคาสินค้าอ้างอิงเพราะมีการถัวความเสี่ยงไว้แล้ว (มีทั้งสัญญา Long และ Short) สิ่งที่เราสนใจคือส่วนต่างราคาเท่านั้น ผมขอให้มองภาพง่ายๆ อย่างนี้ครับว่าเรากำลังเก็งกำไรส่วนต่าง

ดังนั้นให้มองค่าส่วนต่างเป็นราคาสินค้าที่เรากำลังเก็งกำไรได้เลยครับ โดยค่าส่วนต่างเกิดจากการนำราคา Futures เดือนที่มีอายุยาวกว่าเป็นตัวตั้งแล้วลบด้วยราคา Futures เดือนที่มีอายุสั้นกว่า โดยค่าที่ได้อาจจะติดลบหาก Futures เดือนที่มีอายุยาวมีราคาต่ำกว่า Futures เดือนที่มีอายุสั้น ยกตัวอย่างเช่นขณะที่ผมเขียนบทความนี้ค่า Calendar Spread ของ SET50 Index Futures ระหว่างคู่ S50Z14 กับ S50H15 อยู่ที่ -6 จุด

ถ้าเรามองว่าราคานี้ต่ำเกินไป ราคาที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ -1 จุด เราก็ต้อง Long Spread ที่ราคา -6 จุด เพื่อไปขายทำกำไรที่ราคา -1 จุด มีโอกาสได้กำไร 5 จุด (โดยความหมาย S50H15 ควรจะต่ำกว่า S50Z14 แค่เพียงจุดเดียว แต่ราคาตลาด ณ ปัจจุบันต่ำกว่าถึง 6 จุด แสดงว่า S50H15 ถูกเกิน ขณะที่ S50Z14 แพงเกินไป หากเราอยากได้กำไรก็ต้องซื้อถูกและขายแพง โดย Long S50H15 พร้อมทั้ง Short S50Z14)

ในทางกลับกันเราจะ Short Spread (Short S50H15 พร้อมทั้ง Long S50Z14) ต่อเมื่อเห็นว่าค่า Spread สูงเกินไป สำหรับการคิดกำไรขาดทุนก็ตรงไปตรงมา 1 จุด ของ Index Futures มีมูลค่า 200 บาท โดยการเก็งกำไร Calendar Spread ใช้เงินลงทุน (Initial Margin) ณ ปัจจุบันเพียงแค่ 2,850 บาทต่อคู่ (25% ของ Outright) ดังนั้นหากมีความเข้าใจก็จะเห็นโอกาส แม้การเก็งกำไรต่อครั้งจะได้กำไรเป็นจำนวนจุดดัชนีที่น้อย แต่ด้วยเงินลงทุนต่อคู่ที่ต่ำก็สามารถสร้างผลตอบแทนต่อครั้งได้สูง

อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดของความยาวบทความ สิ่งที่ผมอธิบายเป็นเพียงความเข้าใจเบื้องต้นเท่านั้น ยังมีประเด็นสำคัญในการคำนวณราคาเป้าหมาย Calendar Spread ที่เหมาะสม (ทางทฤษฎี) และการส่งคำสั่งซื้อขายด้วย Combination Order
ผู้ที่สนใจ บริษัทหลักทรัพย์กรุงศรี จำกัด (มหาชน) เราจัดสัมมนาส่งเสริมความรู้ด้านการลงทุน เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการตัดสินใจลงทุนภายใต้โครงการ “KSS Knowledge Sharing Program : แชร์ความรวย ด้วยความรู้” สำหรับสัมมนาเรื่อง Calendar Spread เราใช้ชื่อหัวข้อ “ชี้ช่องรวย!!! โดยไม่สนทิศทางตลาดด้วย Calendar Spread” นักลงทุนที่สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.krungsrisecurities.com (ในหน้าอบรมและสัมมนา)

โดยธวัชชัย ทองดี บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด(มหาชน)


ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 15 ธันวาคม 2557