Page 1 of 1

รถวีลแชร์ไฟฟ้าอัจฉริยะฯ ผลงานวิจัยพัฒนาของ สจล. - ฉลาดสุดๆ

Posted: 16 Dec 2014, 10:46
by brid.ladawan

Code: Select all

?รถวีลแชร์ไฟฟ้าอัจฉริยะฯ ผลงานวิจัยพัฒนาของ สจล. - ฉลาดสุดๆ?
สแตนดี้(STANDY)เป็นรถวีลแชร์ไฟฟ้าอัจฉริยะแบบปรับยืน-นั่ง-นอนได้ รวมทั้งสามารถเคลื่อนที่เดินหน้า ถอยหลังได้ โดยเป็นผลงานสร้างสรรค์ครั้งแรกของไทย


ปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยและผู้พิการจำนวนมากที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายด้วยตนเองได้ ส่งผลให้ต้องมีคนมาคอยดูแลในเวลาเดินทางหรือประกอบกิจกรรมในชีวิตประจำวัน

ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) จึงได้พัฒนา สแตนดี้ (STANDY) ซึ่งเป็นรถวีลแชร์ไฟฟ้าอัจฉริยะแบบปรับยืน-นั่ง-นอนได้ รวมทั้งสามารถเคลื่อนที่เดินหน้า ถอยหลังได้ โดยเป็นผลงานสร้างสรรค์ครั้งแรกของไทย โดย ดร.ดอน อิศรากร ผศ.ดร.นพดล มณีรัตน์ อาจารย์สองเมือง นันทขว้าง อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมการวัดและควบคุม และ ดร.เกษมสุข เสพศิริสุข อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาเขตชุมพร คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.

ผศ.ดร.นพดล มณีรัตน์ กล่าวว่า แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์รถวีลแชร์ไฟฟ้าอัจฉริยะ เพื่อต้องการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและผู้พิการ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ให้สามารถช่วยเหลือตัวเองและทำภารกิจในชีวิตประจำวันได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น และที่สำคัญเป็นการช่วยให้ผู้พิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคม เนื่องจากในปัจจุบันมีผู้พิการและคนสูงวัยในประเทศไทยเกือบ 10 ล้านคนและยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งประดิษฐ์ที่จะมารองรับผู้พิการและผู้สูงอายุนั้นกลับมีน้อยและราคาสูงมาก คนมีฐานะรายได้สูงเท่านั้นที่จะมีโอกาสใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ

“วัตถุประสงค์หลักในการคิดค้นรถวีลแชร์ไฟฟ้าอัจฉริยะแบบปรับยืน-นั่ง-นอนได้เพื่อให้ผู้พิการที่อยู่ในประเทศสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพได้โดยมีโอกาสได้ใช้ในราคาประหยัด และให้ผู้พิการหรือผู้สูงอายุสามารถช่วยเหลือตนเองเดินทางไปไหนมาไหนได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันยังช่วยให้ผู้พิการ ผู้ป่วยและผู้สูงอายุสามารถทำกายภาพหรือเคลื่อนไหวได้ด้วยตนเอง ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้มีสุขภาพและการไหลเวียนโลหิตที่ดีขึ้น ป้องกันแรงกดทับของกระดูกที่จะทำให้เกิดแผล เสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรงยิ่งขึ้น และที่สำคัญคือลดการพึ่งพาและลดการนำเข้าจากต่างประเทศ

ผศ.ดร.นพดล กล่าวต่อว่า รถวีลแชร์ไฟฟ้าอัจฉริยะที่พัฒนาขึ้นสามารถใช้งานได้ทั้งในบ้านและอาคาร โดยสามารถขับเคลื่อนเดินหน้า ถอยหลังได้และที่สำคัญสามารถปรับรถให้สามารถยืน-นั่ง-นอนได้ หลักการทำงานจะใช้ระบบมอเตอร์เป็นตัวขับเคลื่อน ด้านขวามือของที่วางแขนจะมีจอยสติ๊กไว้สำหรับให้ผู้ใช้งานควบคุมการเดินหน้า ถอยหลังและจะมีแผงควบคุมสำหรับปรับให้รถวีลแชร์อัจฉริยะปรับเป็นท่านั่ง นอน หรือยืน โดยรถสามารถปรับระดับขึ้นลงได้ 50-70 ซม. และมีเข็มขัดรัดไว้เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งาน นอกจากนี้ยังสามารถปรับระดับให้สูงเท่าเตียงนอนได้ ผู้พิการจึงสามารถพลิกตัวจากเตียงนอนเพื่อขึ้นรถวีลแชร์ หรือพลิกตัวจากรถวีลแชร์เพื่อขึ้นเตียงนอนได้โดยไม่ต้องมีผู้ช่วยพยุง

สำหรับวัสดุที่ใช้ในการผลิตรถวีลแชร์ไฟฟ้าอัจฉริยะส่วนใหญ่จะเป็นวัสดุอะลูมิเนียมและเหล็ก การขับเคลื่อนจะใช้แบตเตอรี่ โดยสามารถขับเคลื่อนได้ต่อเนื่อง 6 ชั่วโมงต่อการชาร์จไฟฟ้า 1 ครั้ง
ความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 12 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รองรับน้ำหนักได้สูงสุดถึง 120 กิโลกรัม โดยใช้งบประมาณในการพัฒนาอยู่ที่ 250,000-260,000 บาท ซึ่งถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศที่มีราคาอยู่ที่ 600,000-1,200,000 บาทต่อคัน และหากผลิตจำนวนมาก ๆ ก็จะมีราคาต่อคันที่ถูกลงอีก ซึ่งขณะนี้ก็มีบริษัทเอกชนได้เข้ามาพูดคุยถึงความเป็นไปได้ในการนำงานวิจัยรถวีลแชร์ไฟฟ้าอัจฉริยะชิ้นนี้ไปต่อยอดเพื่อผลิตในภาคอุตสาหกรรมได้หรือไม่ ซึ่งรถวีลแชร์ไฟฟ้าอัจฉริยะคันนี้ยังถือเป็นรถต้นแบบอยู่

“สแตนดี้ที่พัฒนาขึ้นถือเป็นเวอร์ชั่นแรก ใช้เวลาในการพัฒนาประมาณ 1 ปี สำหรับในอนาคตจะมีการพัฒนาในเรื่องของระบบความปลอดภัยสำหรับผู้พิการ ระบบป้องกันการชนแบบอัตโนมัติ การป้องการกันตกหลุม ระบบประมวลผลให้รถหยุดเมื่อเจอสิ่งกีดขวาง เพื่อลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้พิการ รวมถึงการทำให้รถวีลแชร์สามารถขึ้นบันไดได้ด้วย” ผศ.ดร.นพดล กล่าว

อย่างไรก็ตามปัจจุบันคนเริ่มนำหุ่นยนต์มาช่วยในการดูแลผู้ป่วยมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีมีระบบอิเล็กทรอนิกส์ตรวจจับดูแลการเคลื่อนไหวที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถนำมาช่วยสังเกตความผิดปกติของผู้ป่วยได้อย่างแม่นยำตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับประเทศไทยนั้นเราสามารถคิดค้นนวัตกรรม
ใหม่ ๆ รวมทั้งการออกแบบโปรแกรมและโครงสร้างสำหรับหุ่นยนต์ได้อย่างทัดเทียมนานาประเทศ สิ่งที่ขาดก็เพียงแต่ชิ้นส่วน อะไหล่และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างชาติ ซึ่งหากรัฐเข้ามาช่วยสนับสนุนไม่ว่าจะทางด้านการลดภาษีการนำเข้าอุปกรณ์ให้ถูกลง หรือสนับสนุนวงการอิเล็กทรอนิกส์ของไทยให้พึ่งพาตัวเองได้

ก็จะทำให้การพัฒนาหุ่นยนต์ หรือนวัตกรรมใหม่ ๆ ของไทยเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ก้าวไปได้เร็วยิ่งขึ้น.

จิราวัฒน์ จารุพันธ์
Jirawatj@dailynews.co.th


ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 16 ธันวาคม 2557