แท็กซี่แอพพลิเคชั่นบริการใหม่ ถูกใจคนไทย..แต่ผิดกฎหมาย

Post Reply
brid.ladawan
Posts: 7045
Joined: 29 Mar 2013, 13:36

แท็กซี่แอพพลิเคชั่นบริการใหม่ ถูกใจคนไทย..แต่ผิดกฎหมาย

Post by brid.ladawan »

?แท็กซี่แอพพลิเคชั่นบริการใหม่ ถูกใจคนไทย..แต่ผิดกฎหมาย!?

สถิติที่ผ่านมาฟ้องชัดว่าปัญหาแท็กซี่ไทยแก้เท่าไรก็ไม่หมด มิหนำซ้ำกลับทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยสถิติร้องเรียนจากประชาชนผ่านศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ 1584 เมื่อปีงบประมาณ 57 มีมากถึง 34,319 ราย

เป็นเรื่องโกลาหลส่งท้ายปีมะเมียกับการแก้ปัญหาแท็กซี่หรูผ่านระบบแอพพลิเคชั่นของกระทรวงคมนาคม เพราะนี่ถือเป็นบริการใหม่ที่กำลังถูกใจคนไทยและได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ขณะเดียวกันกลับเป็นบริการที่อยู่นอกเหนือกฎหมาย ขาดการควบคุมจากกรมการขนส่งทางบก

ปกติแล้วการให้บริการแท็กซี่ในไทย ตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 ผู้ให้บริการต้องมีการนำรถยนต์เข้ามาจดทะเบียนเป็นรถแท็กซี่กับกรมการขนส่งทางบกก่อน เพื่อรับทะเบียนป้ายเหลือง พร้อมกับผ่านมาตรฐานการตรวจเช็กสภาพรถรายปี รวมทั้งมีการกำหนดอายุตัวรถ ทำทะเบียนประวัติ รวมถึงติดตั้งมิเตอร์ คิดค่าโดยสารในอัตราที่กฎหมายกำหนด ถึงจะออกมาให้บริการได้ ขณะที่ตัวโชเฟอร์คนขับเอง ก็ต้องผ่านการสอบใบขับขี่รถโดยสารสาธารณะ ซึ่งมีเกณฑ์การทดสอบที่ยากกว่าใบขับขี่ทั่วไป

ใช้รถส่วนตัวให้บริการ

แต่ในส่วนของแท็กซี่แอพพลิเคชั่นที่ออกมาให้บริการทุกวันนี้ กำลังเป็นปัญหาเพราะไม่ได้นำรถแท็กซี่ป้ายเหลืองที่ผ่านการตรวจสอบและจดทะเบียนที่ถูกต้องมาบริการ แต่กลับนำรถยนต์ส่วนบุคคล หรือรถบ้านที่ใช้ทะเบียนป้ายดำ รวมถึงรถป้ายเขียว ซึ่งเป็นรถบรรทุกส่วนบุคคล ออกมาวิ่งรับส่งประชาชนแทน ซึ่งผิดกฎหมาย พ.ร.บ.รถยนต์ ฐานใช้รถยนต์ผิดประเภท

โชเฟอร์ไร้ใบขับขี่ถูก ก.ม.

ขณะเดียวกันโชเฟอร์คนขับบางคน ไม่ได้ผ่านการทำใบขับขี่รถโดยสารสาธารณะอย่างถูกต้อง จึงเข้าข่ายขับรถไม่มีใบอนุญาตขับรถถูกต้องด้วย ยิ่งกว่านั้นบางรายยังกำหนดค่าโดยสารเองเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงเท่ากับว่ารถแท็กซี่แอพพลิเคชั่น กระทำผิดกฎหมายถึง 3 ด้าน ซึ่งมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 2,000 บาทต่อครั้ง และที่สำคัญการไม่มีใบขับขี่ที่ถูกต้องยังมีความผิดทางคดีอาญาอีกด้วย

อย่างไรก็ตามเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามหลังมา ว่า กรมการขนส่งทางบกเล่นบทพระเอกไม่ถูกเวลาหรือไม่? เพราะแม้แท็กซี่แอพพลิเคชั่นเหล่านี้ จะไม่ผ่านการตรวจเช็กสภาพและจดทะเบียนกับภาครัฐอย่างถูกต้อง แต่เป็นบริการที่ดีตอบสนองความต้องการประชาชนได้ดีกว่าแท็กซี่ทั่วไป ทั้งตัวรถที่สภาพใหม่ หรูหรา บริการที่ดีของคนขับ และที่สำคัญไม่มีปัญหาการปฏิเสธผู้โดยสารให้เสียอารมณ์ด้วย ส่วนเรื่องการคิดค่าโดยสารที่แพง ควรมองให้เป็นหลักของการแข่งขัน เป็นบริการทางเลือกให้สำหรับคนที่พอใจและพร้อมจ่ายแพงกว่า

ล้อมคอกก่อนวัวหาย

ขณะที่มุมมองของกรมการขนส่งทางบก... กลับเห็นว่า เรื่องแบบนี้ควร “ล้อมคอกก่อนวัวหาย” เพราะแม้ปัจจุบันแท็กซี่แอพพลิเคชั่นได้รับการชื่นชมด้านบริการที่ดีเลิศ แต่หากปล่อยปละละเลย ในอนาคตอาจเกิดปัญหาตามมาเหมือนต่างประเทศ ที่เคยเกิดเหตุแท็กซี่แอพพลิเคชั่นข่มขืนผู้โดยสาร ที่สำคัญอาจจับกุมได้ยาก เพราะไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนรถและคนขับกับภาครัฐ แตกต่างกับแท็กซี่ป้ายเหลือง ที่แม้จะกระทำผิดยังสามารถตรวจเช็กประวัติและลงโทษตามมาได้

นอกจากนี้...ยังช่วยให้ผู้โดยสารได้รับความคุ้มครองในระบบประกันภัยรถสาธารณะ หากเกิดอุบัติเหตุได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย รวมถึงยังช่วยป้องปรามปัญหาการจ่ายค่าโดยสารผ่านบัตรเครดิตซึ่งอาจเกิดปัญหาโจรกรรมข้อมูลตามมาได้ และอีกด้านหนึ่งยังเป็นการสร้างความเป็นธรรมให้อาชีพคนขับแท็กซี่ในระบบ ไม่ให้เสียเปรียบจากคู่แข่งขันนอกระบบ ที่ไม่ต้องคิดค่าโดยสารตามมิเตอร์ และไม่ต้องมีต้นทุนการตรวจสอบสภาพ
รถด้วย

นัดถกเอกชน 3 รายใหญ่

ที่ผ่านมา กรมการขนส่งทางบก ได้เรียกผู้ประกอบการ 3 รายใหญ่ ได้แก่ อีซี่แท็กซี่ แกร็บแท็กซี่ และอูเบอร์แท็กซี่ เข้ามาหารือ เพื่อชี้แจงแนวทางการให้บริการแท็กซี่ที่ถูกต้องในเมืองไทย และรับฟังปัญหาของผู้ประกอบการ พร้อมกับห้ามให้ผู้ประกอบการนำรถแท็กซี่ป้ายดำออกมาวิ่งรับส่งผู้โดยสารเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นจะมีโทษปรับรุนแรง ขณะที่รถป้ายเขียว แม้ได้รับอนุญาตให้บริการและคิดค่าโดยสารเองได้ แต่ต้องปรับปรุงเส้นทางให้บริการตามที่กฎหมายกำหนด เช่น จากสนามบินถึงโรงแรม หรือแค่รับแขกของโรงแรมไปท่องเที่ยว ทัศนาจรเท่านั้น ห้ามวิ่งรับส่งผู้โดยสารเป็นการทั่วไปเด็ดขาด

แม้ขณะนี้ปัญหาเรื่องนี้ได้เริ่มคลี่คลายไปแล้ว หลังจากที่อูเบอร์แท็กซี่ ได้ออกแถลงการณ์พร้อมปฏิบัติตามกฎหมายที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดไว้ แต่ปรากฏการณ์ล้อมคอกแท็กซี่แอพพลิเคชั่นครั้งนี้ ได้ทิ้งคำถามชวนคิด อีกทั้งเป็นการส่งสัญญาณเตือนให้เห็นถึงความล้มเหลวของการให้บริการระบบแท็กซี่ของไทยในตลอดเวลาที่ผ่านมา ที่มีหมักหมมมานาน

สะท้อนปัญหาแท็กซี่ไทย

ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการให้บริการที่ย่ำแย่ ซึ่งสถิติที่ผ่านมาฟ้องชัดว่าปัญหาแท็กซี่ไทยแก้เท่าไรก็ไม่หมด มิหนำซ้ำกลับทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยสถิติร้องเรียนจากประชาชนผ่านศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ 1584 เมื่อปีงบประมาณ 57 มีมากถึง 34,319 ราย นำโดยปัญหาคลาสสิก คือ การปฏิเสธไม่รับผู้โดยสารถึง 12,504 ราย รองลงมา เป็นแสดงกิริยาวาจาไม่สุภาพ ขับรถประมาทน่าหวาดเสียว ไม่ส่งผู้โดยสารตามที่ตกลง และไม่คิดค่าโดยสารตามมิเตอร์ จากปัญหาเหล่านี้ได้ทำให้ผู้ประกอบการแท็กซี่หน้าใหม่ ได้อาศัยช่องว่างเข้ามาตีตลาดแย่งลูกค้าคนไทยได้

อีกปัญหาที่สะท้อนได้ชัด คือ การขาดประสิทธิภาพในการควบคุมดูแลการให้บริการแท็กซี่ของภาครัฐ ทั้งด้านตัวบทกฎหมาย ที่ปัจจุบันทำได้แค่เพียงโทษปรับ พัก และถอนใบอนุญาตเป็นครั้ง ๆ ไปเท่านั้น ไม่สามารถเข้าไปสั่งห้าม ระงับการประกอบธุรกิจรถที่ผิดกฎหมายได้ ขณะเดียวกันยังมีกฎหมายล้าหลังไม่สอดคล้องพฤติกรรมการใช้บริการ เช่น กรณีการทำรถแท็กซี่แอพพลิเคชั่น สามารถขออนุญาตจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยไม่ต้องผ่านกรมการขนส่งทางบก ทำให้กรมขนส่งไม่สามารถติดตามควบคุมการบริการได้เพียงพอ

แม้กระทั่งการกำหนดอัตราค่าเรียกแท็กซี่ผ่านแอพพลิเคชั่นก็ยังไม่มี มีแค่กฎหมายกำหนดเก็บค่าบริการผ่านศูนย์วิทยุสื่อสารครั้งละ 20 บาทเท่านั้น นอกจากนี้สิ่งที่ไทยยังมีปัญหาที่ต้องทบทวนอีกหลายด้าน ทั้งเรื่องการปล่อยให้มีแท็กซี่เสรี จนทำให้การควบคุมดูแลคุณภาพได้ลำบาก การให้บริการมีแค่เชิงปริมาณ แต่ขาดคุณภาพ

ฉวยโอกาสยกเครื่องบริการ

ดังนั้น...จึงถือเป็นจังหวะที่ดี ที่กรมการขนส่งทางบก จะใช้โอกาสนี้แก้ปัญหาอย่างจริงจัง ล่าสุดได้เรียกกลุ่มเครือข่ายแท็กซี่ทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑลเข้ามาหารือ เพื่อยกเครื่องการให้บริการครั้งใหญ่ เพื่อแข่งกับแท็กซี่แอพพลิเคชั่น เช่น การตรวจสภาพรถให้มีคุณภาพดีกว่าเดิม การให้กลุ่มสหกรณ์แท็กซี่ป้ายเหลืองทำแอพพลิเคชั่นสำหรับเรียกรถที่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงร่วมมือกับเครือข่ายแท็กซี่ไทยแก้ปัญหาปฏิเสธผู้โดยสาร ด้วยการให้ติดสติกเกอร์รถคันนี้ไม่ปฏิเสธผู้โดยสาร เพื่อกระตุ้นในการแก้ปัญหาร่วมกัน ขณะที่ตัวกรมการขนส่งทางบกจะทำแอพพลิเคชั่น “แท็กซี่ เช็กอิน” ผ่านคิวอาร์โค้ด เพื่อให้ผู้โดยสารตรวจสอบการใช้บริการ และร้องเรียนปัญหาต่าง ๆ ได้ด้วยโทรศัพท์มือถือ

อย่างไรแล้ว! การหารือครั้งนี้ยังต้องติดตามกันต่อว่า จะทำให้เห็นผลเป็นรูปธรรมได้มากน้อยเพียงใด อย่าเป็นเพียงแค่...ไฟไหม้ฟางตามกระแส ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่า ดีแต่บังคับใช้กฎหมาย แต่ประชาชนกลับไม่ได้ประโยชน์!.

ศักดิ์ชัย อินทร์จันทร์

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 16 ธันวาคม 2557
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”