กระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม - รอบรู้ไอที

Post Reply
brid.ladawan
Posts: 7045
Joined: 29 Mar 2013, 13:36

กระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม - รอบรู้ไอที

Post by brid.ladawan »

?กระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม - รอบรู้ไอที?
พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “เศรษฐกิจดิจิตอล พลิกโฉมประเทศไทย” โดยหนึ่งในหัวข้อมีความประสงค์ที่จะเปลี่ยนชื่อ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เป็น กระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “เศรษฐกิจดิจิตอล พลิกโฉมประเทศไทย” โดยหนึ่งในหัวข้อที่พูดก็คือ รัฐบาลมีความประสงค์ที่จะเปลี่ยนชื่อ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เป็น กระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Digital for Economy and Society Ministry)

คุณผู้อ่านที่ติดตามคอลัมน์วันพุธของผมเป็นประจำ คงพอจะจำได้ว่าผมเองเป็นนักวิชาการคนหนึ่งที่สนับสนุนการใช้นโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลเพื่อขับเคลื่อนประเทศมาแต่ต้น และไม่เพียงแค่เศรษฐกิจดิจิตอลเท่านั้น แต่ตั้งแต่เมื่อหลายเดือนก่อนที่ผมพูดไกลออกไปถึง เศรษฐกิจดิจิตอลสร้างสรรค์ (Creative-Digital Economy) ที่ไม่ใช่แค่อาศัยโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิตอล อีคอมเมิร์ซ และ ระบบสารสนเทศมาช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจ แต่หมายรวมถึงการเปิดกว้างต่อพลวัตความเปลี่ยนแปลง การให้โอกาสกับแนวคิดใหม่ ๆ และการสนับสนุนการค้นคว้าวิจัยเพื่อสรรค์สร้างนวัตกรรมใหม่ที่เป็นของประเทศเราเองด้วย

คุณผู้อ่านหลายคนคงคิดเหมือนผมว่า การเปลี่ยนชื่อกระทรวงเพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถทำให้ผลลัพธ์ของสิ่งที่เรียกว่า “เศรษฐกิจดิจิตอล” เป็นจริงขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญได้ยิ่งหากลองไปดูในหลาย ๆ ประเทศที่ใช้เศรษฐกิจดิจิตอลขับเคลื่อนประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศญี่ปุ่น ที่ใช้ชื่อกระทรวงว่า “กระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (MEXT)” หรือที่คนไทยหลายคนเรียกว่า Monbusho หรืออย่างในประเทศเกาหลีใต้ที่ใช้ชื่อกระทรวงว่า “กระทรวงวิทยาศาสตร์ไอซีที และ การวางแผนในอนาคต (Ministry of Science, ICT and Future Planning)” ก็
ยิ่งจะเห็นว่าชื่อกระทรวงที่ใช้นั้นไม่ได้สื่อถึงความหมายของเศรษฐกิจดิจิตอลอย่างตรงไปตรงมาเลย

จริงอยู่นะครับว่าชื่อนั้นสำคัญ เพราะเป็นสิ่งที่จะถูกเรียกซ้ำ ๆ ย้ำ ๆ กันต่อไปเรื่อย ๆ การตั้งชื่อกระทรวงให้สอดคล้องกับนโยบายหลักของรัฐบาลนั้นก็มีประโยชน์ในแง่ที่เป็นการตอกย้ำถึงความตั้งใจและเป้าหมายของรัฐบาลที่ชัดเจนได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องไม่ลืมว่าเนื้อแท้ข้างในนั้นมีความสำคัญยิ่งกว่าชื่อ เนื้อแท้ที่ว่าแล้วรัฐบาลจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจดิจิตอลสร้างสรรค์เกิดขึ้นได้จริง จะผลักดันอย่างไรให้ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซคนไทยเติบโตอย่างยั่งยืนสู่ระดับประเทศระดับโลกได้ จะสนับสนุนอย่างไรให้คนไทยมีสมาร์ทโฟนดี ๆ ที่มีโนว์ฮาวอันเป็นผลิตผลจากคนในประเทศใช้กัน และที่สำคัญที่สุดก็คือ จะตระเตรียมระบบกลไกที่ยุติธรรมและชัดเจนอย่างไร สำหรับใช้ตรวจสอบความโปร่งใสขององค์กรที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่เป็นผลสืบเนื่องของนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลนี้ในอนาคต

ผมยกตัวอย่างในเรื่องประเด็นของสำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่น่าจะต้องมีการปฏิรูปในเรื่องความโปร่งใสของการใช้งบประมาณ ตั้งแต่งบค่าเดินทางไปต่างประเทศที่ใช้กันอย่างมหาศาลมากกว่าองค์กรอิสระอื่นมาก ไปจนถึงผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมของการมีส่วนได้ส่วนเสียในตำแหน่งหน้าที่ ทั้งนี้ ผมเห็นว่าควรมีการจัดตั้งหน่วยงานที่เป็นอิสระอย่างแท้จริงเข้ามาคอยกำกับดูแล ทั้งนี้ไม่ใช่เพื่อมาจับผิดหรือขัดขวางการทำงาน แต่เพื่อความน่าเชื่อถือของตัวองค์กรเองในระยะยาว ในฐานะองค์กรที่ควรจะต้องปราศจากซึ่งผลประโยชน์ทับซ้อน อันจะเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญของนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลที่กล่าวไป

เหล่านี้เป็นปัญหาที่ผมคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรจะรีบหาทางแก้ เพื่อสร้างความโปร่งใสและความมั่นใจในรัฐบาลให้เกิดขึ้นในใจของประชาชน เพราะการขับเคลื่อนประเทศนั้นไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลหรือประชาชนเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นทุก ๆ ฝ่ายทุก ๆ คนที่ต้องร่วมมือกัน หากรัฐไม่ผลักดันและสนับสนุน ประชาชนก็ยากที่จะขับเคลื่อนนวัตกรรมในระดับมหภาคของเศรษฐกิจดิจิตอลได้ หรือ แม้รัฐจะออกหน้าสนับสนุน แต่หากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมีการทำงานที่ไม่สอดคล้อง มีประเด็นที่เป็นที่กังขาในใจของประชาชน ก็คงยากอีกเช่นกันที่จะจูงใจประชาชนให้หันมาสู้เพื่อทุ่มเทขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิตอลนี้ร่วมกันไปกับรัฐบาลได้.

ผศ.ดร.ชุติสันต์ เกิดวิบูลย์เวช
มหาวิทยาลัยรังสิต
chutisant.k@rsu.ac.th

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 17ธันวาคม 2557
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”