โอปเรเตอร์ดันสตาร์ทอัพไทยสู่ตลาดโลก

Post Reply
brid.ladawan
Posts: 7045
Joined: 29 Mar 2013, 13:36

โอปเรเตอร์ดันสตาร์ทอัพไทยสู่ตลาดโลก

Post by brid.ladawan »

?โอปเรเตอร์ดันสตาร์ทอัพไทยสู่ตลาดโลก?

?โอปเรเตอร์ดันสตาร์ทอัพไทยสู่ตลาดโลก??โอปเรเตอร์ดันสตาร์ทอัพไทยสู่ตลาดโลก??โอปเรเตอร์ดันสตาร์ทอัพไทยสู่ตลาดโลก?
ในปี 2557 วงการสตาร์ทอัพหรือผู้ประกอบการไอทีหน้าใหม่ของไทยถือว่ายังคงคึกคักอย่างต่อเนื่อง


ในปี 2557 วงการสตาร์ทอัพหรือผู้ประกอบการไอทีหน้าใหม่ของไทยถือว่ายังคงคึกคักอย่างต่อเนื่อง หลังจากมีเวทีให้สตาร์ทอัพที่มีไอเดียดีได้แจ้งเกิดอย่างมากมายโดยเฉพาะ 3 เวทีของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ (โอปเรเตอร์) ไม่ว่าจะเป็นเอไอเอส ดีแทค และ ทรูมูฟ ที่มีเหล่าคนรุ่นใหม่ได้นำเสนอแนวคิดในการพัฒนาแอพพลิเคชั่นรวมถึงโซลูชั่นที่น่าสนใจ

สตาร์ทอัพหลายทีมสามารถคว้ารางวัลเป็นตัวแทนไปนำเสนอผลงานในเวทีระดับนานาชาติรวมไปถึงมีผลงานเข้าตาจนสามารถดึงเงินลงทุนจากนักลงทุนจากต่างประเทศได้

“เอไอเอส” ดันสตาร์ทอัพแข่งระดับภูมิภาค

โครงการเอไอเอส เดอะ สตาร์ทอัพ 2014 (AIS The StartUp 2014) ของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด หรือ เอไอเอส ที่จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 ในปี ค.ศ. 2014 นั้นแตกต่างจากการแข่งขันในครั้งก่อน ๆ เนื่องจากแบ่ง 3 หมวด คือ ออนไลน์ แอนด์ ดิจิตอล (Online and Digital) คอร์ปอเรทโซลูชั่น (Corporate Solution)และโซเชียล บิสสิเนส (Social Business) มีผู้สมัครมากกว่า 1,000 คน จำนวน 202 ทีม

จนสุดท้ายทีมที่มีผลงานโดดเด่นที่สุดจนคว้ารางวัลชนะเลิศหมวด ออนไลน์ แอนด์ ดิจิตอล คือ ทีมกอล์ฟดิกก์ (GolfDigg) ที่เป็นแอพพลิเคชั่นเพื่อคอกอล์ฟ สำหรับการจองคิวเล่นกอล์ฟแบบ Last minute booking สำหรับคอร์ปอเรท โซลูชั่น ทีมชนะเลิศ คือ ทีมนักเรียน (Nugrean) ซึ่งเป็นโซลูชั่นแทรคกิ้ง (Tracking) รถโรงเรียนเพื่อให้ผู้ปกครองสามารถติดตามบุตรหลานในการเดินทางระหว่างบ้านและโรงเรียนได้ และหมวดโซเชียล บิสสิเนส ผู้ชนะ คือ ทีมโลคอลอะไลค์ (Local Alike) เป็นเว็บไซต์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่เปิดให้จองทัวร์และที่พักผ่านเว็บไซต์

หลังจากได้ทีมชนะเลิศใน 3 หมวดแล้ว ทางเอไอเอส ได้ตัดสินใจเลือกทีมนักเรียน เป็นตัวแทนเข้ารวมแข่งขันในรายการประกวดแอพพลิเคชั่นระดับภูมิภาคที่จัดโดยกลุ่มสิงค์เทลและซัมซุง คือ รายการ Regionalmobile app Challenge ซึ่งเป็นการค้นหาสุดยอดโมบายแอพระดับภูมิภาคโดยมีทีมสตาร์ทอัพจาก 6 โอปเรเตอร์ ของกลุ่มสิงค์เทล จำนวน 6 ทีม ซึ่งเป็นผู้ชนะเลิศในแต่ละประเทศเข้าร่วมแข่งขัน

โดยทีมที่ได้รางวัลชนะเลิศตกเป็นของทีมจากประเทศออสเตร เลียคือ ทีม wattcost ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นตรวจสอบการใช้ไฟของอุปกรณ์ไฟฟ้าถายในบ้านและช่วยคำนวณค่าใช้จ่ายไฟฟ้าภายในบ้านและสามารถตรวจสอบอุปกรณ์ชิ้นไหนกินไฟเกินมาตรฐาน ช่วยทำให้สามารถประหยัดค่าไฟได้ แม้ว่าทีมจากประเทศไทยไม่สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศได้ แต่ก็ถือว่าได้ประสบการณ์อย่างมากในนำผลงานไปนำเสนอในการประกวดครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม ทางเอไอเอสก็ยืนยันจะสนับสนุนผลงานของทีมนักเรียนให้ออกสู่ตลาดโดยขณะนี้ผลงานสำเร็จไปแล้วกว่า 80% โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือโรงเรียนต่าง ๆ รวมถึงลูกค้าของสิงค์เทลในระดับภูมิภาคที่มีอยู่กว่า 500 ล้านราย

นายปรัธนา ลีลพนัง รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานการตลาด เอไอเอส กล่าวว่า วงการสตาร์ทอัพของไทยกำลังอยู่ในช่วงได้รับความนิยมนักพัฒนาหน้าใหม่จำนวนมากขณะที่ในต่างประเทศอย่างสิงคโปร์เริ่มบูมมาก่อนไทย 2-3 ปี จนทำให้มีกลุ่ม Venture Capital (VC) หรือกลุ่มลงทุนที่เกิดขึ้นมากมาย แต่ไทยมีจุดเด่นคือ ด้านดีไซน์ออกแบบและการเขียนโปรแกรม ขณะที่ด้านการตลาดสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมให้มีความเชี่ยวชาญเพิ่มขึ้นได้

“หากมองดูผลงานที่ทีมต่าง ๆ ส่งเข้าประกวดในโครงการส่วนใหญ่จะเป็นไอเดียซ้ำ ๆ หรือมีคนเคยทำมาก่อนแล้ว หากอยากเป็นสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จในตลาดจำเป็นต้องคิดในสิ่งที่แตกต่างออกไปหรือยังไม่มีใครเคยทำ ขณะเดียวกันก็ต้องมีกลุ่มเป้าหมายหรือตลาดที่ใหญ่ เอไอเอสตั้งเป้าหมายนำแอพพลิเคชั่นออกให้บริการแก่ลูกค้าให้ได้ไม่ต่ำกว่า 10 แอพพลิเคชั่น อย่างไรก็ตามในส่วนของแอพพลิเคชั่น เกมที่ถือเป็นแอพประเภทที่ได้รับความนิยมในตลาดนั้นทางเอไอเอส ก็สนใจแต่กำลังพัฒนาแพลตฟอร์มของตนเองอยู่”

“ดีแทค” นำผลงานให้บริการกลุ่มเทเลนอร์

ในส่วนของ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซสคอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ก็มีเวทีให้เหล่าสตาร์ทอัพได้แสดงไอเดียที่น่าสนใจ กับ โครงการ ดีแทค แอคเซลเลอเรท ปี 2557 ซึ่งมี 5 ทีมที่ผ่านการคัดเลือก คือ ทีมเอนนี่แวร์ ทู โก (Anywhere to Go), ทีมพิกกิโปะ (Piggipo), ทีมฟาสท์ทินโฟล (Fastin Flow), ทีมไดรฟ์บอท (Drivebot) และทีมสตอรี่ล็อก (Story Log) ซึ่งทั้งหมดได้ร่วมงานเดโม เดย์ เพื่อนำเสนอผลงานต่อหน้านักลงทุนชั้นนำจากทั่วโลกที่มาเป็นคณะกรรมการตัดสิน

สุดท้ายแล้วทีมพิกกิโปะ (Piggipo) ที่ได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นบริหารจัดการการใช้บัตรเครดิตสามารถบันทึกรายการบัตรเครดิตหลายใบได้ในแอพเดียวได้รับเลือกให้ได้ไปร่วมโครงการ BlackBox ที่ซิลิคอล วัลล์เล่ย์ และทีม Anywhere to Go ที่พัฒนาแอพพลิเคชั่น “เคลม ดิ” (ClaimDi) ช่วยในการเคลมประกันรถยนต์ได้รับรางวัล ดิจิทัล วินเนอร์ เป็นตัวแทนสตาร์ทอัพจากทีมดีแทคประเทศไทยไปแข่งขันกับตัวแทนจากเทเลนอร์ทั่วโลกทั้ง 13 ประเทศ ณ ประเทศนอร์เวย์ นอกจากนี้ทั้ง 5 ทีมยังจะได้รับเงินลงทุนเพิ่มเติม (Follow on Funding) และสนับสนุนการทำตลาดจนสามารถดำเนินการในเชิงพาณิชย์ได้ (Commercialize Support) จากดีแทครวมมูลค่า 10 ล้านบาทด้วย

ทั้งนี้แอพพลิเคชั่นพิกกิโปะได้เปิดให้ดาวน์โหลดในตลาดจริงแล้วทั้งในระบบปฏิบัติการไอโอเอสบนแอพ สโตร์ และแอนดรอยด์บน เพลย์ สโตร์ ซึ่งก็ได้รับความนิยมขึ้นเป็นแอพพลิเคชั่นด้านการเงินอันดับ 1ในแอพสโตร์ และยังได้รับเงินสนับสนุนจากอุ๊กบี (Ookbee) ด้วย สำหรับจุดเด่นของพิกกิโปะคือ สามารถเห็นภาพรวมค่าใช้จ่ายของบัตรเครดิตทุกใบในหน้าแรกของแอพพลิเคชั่นโดยยอดค่าใช้จ่ายจะแยกตามรอบบิลของแต่ละบัตรเครดิตทำให้ผู้ใช้รู้ยอดใช้จ่ายแบบเรียลไทม์และสามารถตั้งยอดค่าใช้จ่ายต่อบัตรได้เมื่อใช้จ่ายใกล้ถึงยอดจะมีอีโมชั่นพิกกิโปะ รูปหมูที่จะเปลี่ยนอีโมชั่นไปตามการใช้จ่ายคอยเตือนให้รู้ ช่วยวางแผนการใช้จ่ายให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ขณะที่แอพพลิเคชั่นเคลม ดิ ก็พร้อมจะทำตลาดถึงกลุ่มลูกค้าแล้วโดยได้รับเงินลงทุนจากกลุ่มนักลงทุนและ 500 Startups กว่า 1 ล้านดออลาร์สหรัฐ โดยจะนำเงินทุนไปขยายตลาดยังประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย สำหรับจุดเด่นของ “เคลม ดิ” คือ แอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือที่ให้ผู้ใช้งานสามารถทำการเคลมประกันได้ ณ จุดเกิดเหตุภายใน 15 นาที และช่วยประหยัดเวลาได้มากถึง 90% ไม่ต้องเสียเวลารอตัวแทนจากบริษัทประกันหรือ เซอร์เวยเยอร์ มาถ่ายรูปแต่ผู้ใช้สามารถถ่ายรูปแล้วส่งให้บริษัทประกันทางแอพพลิเคชั่นส่วนบริษัทประกันก็สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายลง 80% ทั้งนี้เอนนี่แวร์ทู โก ได้วางแผนจะนำแอพพลิเคชั่น เคลม ดิ ทำตลาดในไทยโดยมีบริษัทประกันภัยให้ความสนใจหลายรายรวมถึงขยายตลาดไปยังประเทศอื่น ๆ ในปี 58 อาทิ สิงคโปร์ ฮ่องกง อินโดนีเซีย จีน ไต้หวัน และประเทศที่เทเลนอร์เข้าไปทำธุรกิจอยู่

ด้านนายแอนดริว กวาลเซท ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกลยุทธ์และนวัตกรรมธุรกิจดีแทค กล่าวว่า ทางดีแทคมีรูปแบบธุรกิจในการเป็น Strategic Partner กับทางสตาร์ทอัพทั้ง 5 ทีม โดยให้เงินลงทุนอย่างต่อเนื่องพร้อมช่วยทำตลาดเชิงพาณิชย์โดยมี 2-3 ทีม ที่พร้อมทำตลาดแล้วในไทย และในช่วงต้นปี 58 ดีแทคจะช่วยขยายตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และขยายไปสู่ลูกค้าของเทเลนอร์ที่มีอยู่ใน 13 ประเทศทั่วโลกด้วย

“ทรู” ยกระดับเวทีแข่งขันสู่นานาชาติ

ทางด้านกลุ่มทรู หลังประสบความสำเร็จจากโครงการทรู อินคิวบ์ในรุ่น 1 และ 2 ที่ผ่านมาสามารถสร้างสตาร์ทอัพหน้าใหม่ได้ถึง 11 ทีม ในจำนวนนี้ 8 ทีมได้เปิดให้บริการแอพพลิเคชั่นมีลูกค้าและเริ่มมีรายได้เข้ามาแล้ว และมี 2 ทีมที่ธุรกิจเริ่มมีกำไรแล้วและรวมถึงมี 6 ทีมที่มีนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาให้เงินร่วมลงทุนด้วย

โครงการทรูอินคิวบ์ จึงได้จัดโครงการพิเศษขึ้นโดยร่วมกับ พันธมิตร คือสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) หรือซิป้า ศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการประเทศญี่ปุ่น J-SeedVentures Inc สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติทรู มันนี่ จำกัด และ Amazon Wed Servicer จัดการแข่งขันทรู อินคิวบ์ เอเชีย แปซิฟิกโมบาย แอพ ชาเล้นจ์ 2014( True Incube Asia Pacific Mobile App Challenge 2014) ขึ้นเพื่อยกระดับโครงการประกวดพัฒนาแอพพลิเคชั่นของไทยสู่เวทีนานาชาติ

โดยจะทำการประกวดคัดเลือก 3 ทีมสตาร์ทอัพ เป็นตัวแทนประเทศไทยเดินทางไปเข้าร่วมการแข่งขันชิงแชมป์ในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ประเทศสิงคโปร์ในช่วงเดือน ก.พ. 58 นี้ร่วมกับตัวแทนจากอีก 8 ประเทศ คือ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เกาเหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น และไต้หวันจำนวน 24 ทีม เพื่อหา 3 ทีมสุดท้ายในระดับภูมิภาคนำผลงานแอพพลิเคชั่นที่พัฒนาขึ้นไปแข่งขันชิงแชมป์โลกในงานจีเอสเอ็มเอ โมบาย เวิลด์คองเกรส 2015 ที่เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน ในเดือน มี.ค. 58 นี้

นายปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา ผู้อำนวยการบริหารทรู อินคิวบ์ กล่าวว่า กลุ่มทรูเห็นถึงการขยายตัวของสมาร์ทโฟนในไทยจนทำให้ธุรกิจโมบายแอพพลิเคชั่นเติบโตขึ้นมากซึ่งคนไทยมีศักยภาพและความโดดเด่นด้านไอเดียขณะเดียวกันปัจจุบันคนไทยใช้แอพพลิเคชั่น มากกว่าการเข้าเว็บไซต์เห็นได้จากการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กต่าง ๆ ผ่านแอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟนโครงการนี้จึงเป็นโครงการพิเศษที่นอกเหนือจากทรู อินคิวบ์ เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีของไทยหรือสตาร์ทอัพใหม่ ๆ เพื่อร่วมสร้างระบบนิเวศด้านโมบายแอพพลิเคชั่นของไทยให้เติบโตเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผลงานที่ผ่านการคัดเลือกทางกลุ่มทรูก็พร้อมเข้าไปสนับสนุนเงินทุนเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้ในอนาคต

กลุ่มนักลงทุนโฟกัสมาที่ไทย

ขณะที่มุมมองของนักลงทุนชั้นนำ อย่าง นายไคลี อึ้ง หุ้นส่วนนักลงทุนของ 500 Startups ของภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ มองว่า ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาระบบนิเวศหรือแอพพลิเคชั่นอีโคซิสเต็มของไทยเติบโตและมีการเปลี่ยนแปลงเร็วมากนักลงทุนจากทั่วโลกต่างโฟกัสมายังไทยซึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทาง 500 Startups ได้มีการลงทุนในไทยมากถึง 40% ถือเป็นสัดส่วนมากกว่าในสิงคโปร์ ส่วนการเลือกลงทุนในสตาร์ทอัพ ทางกลุ่มจะมองว่าบริษัทนั้น ๆ จะต้องมีแนวโน้มที่สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วหรือมีมูลค่าที่เพิ่มขึ้นและมีโอกาสที่จะขายเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมให้กับบริษัทรายใหญ่ได้
ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สตาร์ทอัพไทยจะนำผลงานออกสู่ตลาดโลกสร้างรายได้รับเศรษฐกิจดิจิตอล.

จิราวัฒน์ จารุพันธ์
JirawatJ@dailynews.co.th

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 31 ธันวาคม 2557
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”