8 เทรนด์ค่านิยม คนรุ่นใหม่ อยากรวยทางลัด

Post Reply
brid.ladawan
Posts: 7045
Joined: 29 Mar 2013, 13:36

8 เทรนด์ค่านิยม คนรุ่นใหม่ อยากรวยทางลัด

Post by brid.ladawan »

8 เทรนด์ค่านิยม คนรุ่นใหม่ อยากรวยทางลัด

นางสาวสรินพร จิวานันต์

เอ็นไวโรเซล ไทยแลนด์ เผย 8 ค่านิยม ปี 58 1. อยากรวยลัด 2. งามภายนอก 3. ช่วยเหลือตัวเอง 4.ไม่ผูกมัด 5. อย่าปิดบัง 6. วัฒนธรรมเดียวกัน 7. มาตรฐานสูง และ 8. ซื้อน้อยแต่ได้เยอะ แนะนักการตลาดตอบโจทย์ให้ถูกจุด พร้อมเปิดเผยเครื่องมือใหม่ Web-alongs และ Instore media ROI research ช่วยนักการตลาดแกะรอยพฤติกรรมผู้บริโภค
นางสาวสรินพร จิวานันต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นไวโรเซล (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า เอ็นไวโรเซล(ประเทศไทย) ได้ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค โดยเทรนด์ค่านิยมของคนไทยในปีหน้า มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป 8 ประการ ประกอบด้วย
1.รวยลัด (RICHFICIENCY (RICH+SUFFICIECNY)
จากงานวิจัยของทางเอ็นไวโรเซล โดยสำรวจจากผู้บริโภครุ่นใหม่ พบว่าเด็กรุ่นใหม่มีค่านิยมที่จะไม่ยอมอดทนกับสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบ หรือรู้สึกไม่ใช่ มีความเป็นตัวของตัวเองสูง และต้องการรวยด้วยตัวเอง หรือรวยทางลัด แบบไม่ต้องทำงาน เหมือนคนรุ่นก่อน ความต้องการในการทำงานออฟฟิศน้อยลง ระดับความใส่ใจในงานน้อยลง ความอดทน ความเอาจริงเอาจังก็น้อยลงเช่นกัน และเน้นเส้นทางลัด เพราะนิสัยผู้บริโภคทุกวันนี้เองมีความขี้ใจร้อน ขี้หงุดหงิด ทนรออะไรไม่ได้ ด้วยผู้บริโภครุ่นใหม่ไม่ได้เติบโตมาในยุคที่ต้องรอคอย ทุกอย่างทำได้ตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้พฤติกรรมคนส่วนใหญ่ที่เข้าร้านหนังสือ ต้องแวะดูหนังสือที่ขายดี 2 หมวดหมู่ใหญ่ คือ หนังสือเคล็ดลับที่ทำให้คุณรวย และแรงบันดาลใจสู่ความสำเร็จ และยังพบว่าในงาน Money expo คนมาศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนในหุ้นมากกว่าปีที่ผ่านมา การเติบโตของจำนวนเว็บไซต์ บล็อก เกี่ยวกับการลงทุน ก็เป็นดัชนีหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึง กระแสคนรุ่นใหม่ที่หันมาเล่นหุ้น รวมถึงความโด่งดัง ความนิยมในตัวไอดอลที่เป็นนักลงทุนรุ่นเยาว์ โดยคนต้องการรวยแบบ อยู่กินสบาย ใช้เงินปรนเปรอตัวเองได้สบายๆ แบบไม่ต้องทำงานหนัก ไม่เครียด จึงทำให้อัตราคนทำงานจากที่บ้านมีมากขึ้น คือ ทำงานโดยใช้บ้านเป็นออฟฟิศมากขึ้น และเป็นนายตัวเองมากขึ้น
2.งามภายนอก (EXTHETIC (EXTERNAL+AESTHETIC)
จากงานวิจัย พบว่า ค่านิยมในสมัยนี้มักไม่ค่อยเห็นคุณค่าของความงามภายใน แต่มีค่านิยมเรื่องความงามภายนอกที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องที่จำเป็น เพื่อเป็นที่ยอมรับในสังคม มีผลต่อบทบาทหน้าที่การงาน และความสำเร็จ เราจึงจะเห็นการเติบโตของสถานเสริมความงาม แอพพลิเคชั่นเสริมแต่งรูปภาพ ความนิยมในการเซลฟี่ (Selfie) ที่ถ่ายเองได้ทุกเมื่อ ไม่ต้องเกรงใจใคร ก็จะเลือกมุมที่ตัวเองชอบ และคิดว่าสวย ต้องมีการแต่งภาพให้ดูดีเกินจริง ยิ่งเป็นการปลูกฝังให้คนเห็นค่าความงามภายนอกมากขึ้น และลืมตัวตนลงไปเรื่อยๆ เด็กสมัยใหม่ ถ้าไม่สวยไม่หล่อ จะไม่มั่นใจในตัวเองเลย เลยนิยมไปทำศัลยกรรมมากขึ้น แทนที่จะมาพัฒนาความรู้ความสามารถ พัฒนาความงามจากภายใน ก็บวกกับค่านิยมที่ชอบอะไรลัดๆ คนรุ่นใหม่จึงเลือก ทางเลือกอะไรที่ง่ายกว่าเสมอ
3.ช่วยเหลือตัวเอง (ไม่พึ่งพา) หรือ YELP (Help Yourself)
การที่คนอยู่กับสังคมออนไลน์มากขึ้น จึงแปลกแยกจากสังคมมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว อุปกรณ์ แอพลิเคชั่นต่างๆ เช่น ไม้ถ่ายรูปเซลฟี่ แอพพลิเคชั่น หาเส้นทางเอง เที่ยวเอง การพูดคุยกันก็เป็นแบบ ส่งข้อความ หรือ 3D Printing ที่คนสามารถพรินต์ของที่ตัวเองต้องการ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า หรือกระเป๋า ทำให้คนสามารถทำอะไรเองได้สารพัด โดยไม่ต้องง้อ และพึ่งใคร เมื่อพึ่งพาตัวเองมากขึ้น ก็ห่างเหินกันมากขึ้น เด็กรุ่นใหม่ก็จะมีความเป็นตัวของตัวเองมาก และจะมั่นใจว่าช่วยตัวเองได้ ทำให้มีความแข็งกระด้าง เมื่อก่อน มีอะไรเด็กอาจปรึกษาพ่อ แม่ แต่ทุกวันนี้หันไปค้นหาใน google แทน จึงมีสายสัมพันธ์ที่แตกต่างออกไปกับสมัยก่อน และเมื่ออยู่กับเทคโนโลยีมากขึ้น มีปฏิสัมพันธ์กับคนที่น้อยลงก็จะมีผลทำให้แคร์ความรู้สึกกันน้อยลง มักจะยึดตัวเองเป็นจุดศูนย์กลาง เอาความต้องการตนเองเป็นหลัก ติดนิสัยชอบเขียนแสดงออกทางโซเชียล (ทางจิตวิทยาแล้วมนุษย์จะแสดงออก มีความกล้าน้อยกว่าเมื่อต้องเผชิญหน้า) เราจึงจะเห็นการแสดงออกทางความคิด การประท้วงอะไรต่างๆ มากขึ้น

4.ไม่ผูกมัด (NOBLIGLATION (NO+OBLIGLATION)
เมื่อรู้สึกพึ่งพาตัวเองได้ มนุษย์ก็จะมีปฎิสัมพันธ์กับสังคมภายนอกน้อยลง ไม่ว่าจะไปไหนก็เห็นทุกคนอยู่กับอุปกรณ์สื่อสาร เป็นการแสดงออกอย่างชัดเจนว่า ‘อย่ามายุ่งกับฉัน หรือ ฉันไม่อยากคุยกะใคร ขออยู่คนเดียว’ แต่ในทางกลับกัน มนุษย์สามารถสร้างสังคมออนไลน์ สามารถพูดคุย รับเพื่อนใหม่ อย่างง่ายดาย เพราะไม่ต้องผูกมัด หรือรับผิดชอบใดๆ ในการคบหาทางออนไลน์ ผู้บริโภคที่ติดนิสัยการแสดงออกอย่างเสรีออนไลน์ จะรักอิสระมากขึ้น ไม่ชอบถูกบังคับ เราจะเห็นอัตราการหย่าร้าง และการแยกกันอยู่มากขึ้นในสังคม ผู้บริโภคไม่ชอบอยู่กับอะไรเดิมๆ นานๆ เนื่องจากถูกกระตุ้นด้วยข้อมูล ของใหม่ตลอดเวลา คนในยุคนี้จึงเป็นคนที่ต้องการสิ่งเร้าเสมอ และที่สำคัญมนุษย์ในโลกออนไลน์ต้องการมีตัวตน การมุ่งหาประสบการณ์แปลกใหม่ เพื่อให้มีเรื่องเล่า เรื่องแชร์ ไม่ให้ซ้ำซากจำเจ ไม่ชอบผูกมัด อยู่กับอะไรเดิมๆ นานๆ อีกต่อไป
5.เปิดเผย ชัดเจน อย่าปิดบัง (SINCLEAR (SINCERE+CLEAR)
ทุกวันนี้ข้อมูลหาได้ง่าย สืบได้ง่าย อะไรจริงหรือหลอก การแสดงความจริงใจ คือสิ่งที่ผู้บริโภคทุกวันนี้ต้องการ เราก็อยู่กันในสังคมที่มีความระแวงระวังมากขึ้น เพราะกลัวถูกเปิดเผย ที่ทุกวันนี้ทำได้ง่ายเพียงคลิ๊กแชร์ เราจะเห็นว่าทุกวันนี้ผู้บริโภคเชื่อรีวิว มากกว่าโฆษณาที่ถูกปรุงแต่งมาแล้ว เพราะรู้สึกว่ามันคือเรื่องจริงของคนมีประสบการณ์จริง และมาแบ่งปัน เช่น เรื่องของการท่องเที่ยว ผู้บริโภคก็อยากเห็นอะไรที่ไปแล้วจะเจอแบบนั้นจริงๆ (authentic seeking) จึงชอบอ่านรีวิวจากนักท่องเที่ยว บล็อกเกอร์ที่ไปมา และถ่ายรูปจากสถานที่จริง มากกว่า ดูเว็บไซต์ การท่องเที่ยว หรือ โรงแรมต่างๆ ที่มักจะสร้างสรรค์ฉาก บรรยากาศ ที่ไม่สมจริง ไปแล้วไม่เหมือนภาพโฆษณาที่เห็น
6.วัฒนธรรม เดียวกัน (BLENDSO (BLENDED+SOCIETY)
เป็นเรื่องที่น่าเสียใจ แต่อาจต้องยอมรับกับความเป็นจริงที่ว่า คนรุ่นใหม่ อาจไม่สานต่อ วัฒนธรรม ประเพณี ที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน เพราะไม่ได้เติบโตมาในสังคมที่บ่มเพาะมาด้วยวัฒนธรรม ประเพณี ที่คนรุ่นก่อนยังสืบสาน ปัจจุบันการสื่อสาร ในโลกโซเชียลไปได้ทุกที่ เด็กรุ่นใหม่ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลก จะสามารถรับรู้ ข่าวสารแบบเดียวกัน เท่าทันกัน แฟชั่น เทรนด์ ความนิยม แพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว เรียกได้ว่า แทบจะมีวัฒนธรรมแบบเดียวกันเลยก็ว่าได้ การจะสร้างความเป็นเอกลักษณ์ จึงต้องคำนึงถึงบริบท ว่าคนที่เติบโตมา กับ ‘วัฒนธรรมเดียวกัน’ จะเข้าใจเพียงไร และจะสามารถปรับใช้ในโลก ของ‘วัฒนธรรมเดียวกัน’ ได้อย่างไร เพราะทุกวันนี้ผู้บริโภคในโลกไร้พรมแดน มีรสนิยมเหมือนๆ กันมากขึ้นเรื่อยๆ

7.มาตรฐานสูง (SUPERGENIC (SUPER+GENIC))
เมื่อแบรนด์แข่งกันสร้างความพึงพอใจ ผู้บริโภค ทุกวันนี้จึงมีมาตรฐานที่สูงขึ้น โดยเฉพาะความรู้สึก ความต้องการที่จะได้รับบริการดีๆ สังเกตได้จากตัวเราเอง เรามีความคาดหวังที่จะได้รับการดูแลที่ดี การต้อนรับ และการบริการที่ดี จะได้ยินคนบ่น คำว่า ไม่มี service mind มากขึ้น นอกจากนี้ 68% ของผู้บริโภคเปลี่ยนยี่ห้อ อาจไม่ใช่เพราะเรื่องความไม่พอใจเรื่องผลิตภัณฑ์ มักเป็นเรื่อง ความไม่พอใจเรื่องการบริการ
8.ซื้อน้อยแต่ได้เยอะ (EASEMORE (EASY+MORE))
ทุกวันนี้ผู้บริโภคคุ้นชินกับอะไรที่ไม่ต้องพกพะรุงพะรัง มีเพียงอันเดียวทำได้ทุกอย่าง เช่น โทรศัพท์มือถือ เป็นทุกอย่างของชีวิต ไม่ว่าจะใช้ติดต่อ ดูหนัง ละคร ฟังเพลง ถ่ายรูป เป็นกระเป๋าสตางค์ เป็นสมุดบันทึก เป็นเพื่อนคุย เพื่อนร่วมทาง สารพัดประโยชน์ในเครื่องเดียว ผู้บริโภคจึงจะติดกับของ 1 ชิ้น แต่สารพัดประโยชน์ เพราะฉะนั้น ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ต้องมองนอกกรอบออกไป สร้างนวัตกรรมที่ใช้ง่าย สร้างความสะดวกต่อชีวิตประจำวันผู้บริโภค ใช้ประโยชน์หลายอย่างมากขึ้น
“นอกเหนือจากค่านิยมทั้ง 8 ประการ สำหรับในปี 2558 เอ็นไวโรเซล ยังได้พัฒนานวัตกรรมใหม่สำหรับการแกะรอยพฤติกรรมผู้บริโภคทั้งในโลกออนไลน์ และ ณ จุดขาย ซึ่งจะสามารถตอบโจทย์แบรนด์สินค้าที่ต้องการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ ประกอบด้วย
1) Web-alongs ซอฟแวร์ที่สามารถมอนิเตอร์พฤติกรรมของผู้บริโภคในการใช้งานเว็บไซต์ อาทิ ผู้บริโภคเป็นคนวัยใด เพศไหน เปิดจากที่ใด ใช้เวลาเปิดเว็บไซต์นั้นนานแค่ไหน เปิดเว็บไซต์คู่แข่งหรือไม่ มีความสนใจเนื้อหาเรื่องใดเป็นพิเศษ เป็นต้น
2) Instore media ROI research เป็นโปรแกรมที่ใช้กับสื่อ ณ จุดขาย โดยสามารถประมวลผลประสิทธิภาพของสื่อในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อีกด้วย
ทุกวันนี้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างมาก แบรนด์สินค้าจำเป็นที่ต้องให้ความสำคัญ และทำความเข้าใจกับความต้องการ ที่นับวันจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัย รวมถึงการใช้เทคโนโลยีที่รองรับ ตอบโจทย์ความต้องการของนักการตลาด เพื่อช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น” น.ส.สรินพร กล่าว


ที่มา ASTV ผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 18 ธันวาคม 2557
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”