จับตาไทยเจอวิกฤตน้ำมันลด “ส่งออก-ท่องเที่ยว-กำลังซื้อต่างชาต

Post Reply
brid.ladawan
Posts: 7045
Joined: 29 Mar 2013, 13:36

จับตาไทยเจอวิกฤตน้ำมันลด “ส่งออก-ท่องเที่ยว-กำลังซื้อต่างชาต

Post by brid.ladawan »

จับตาไทยเจอวิกฤตน้ำมันลด “ส่งออก-ท่องเที่ยว-กำลังซื้อต่างชาติ” ทรุดฮวบ

นักเศรษฐศาสตร์ประเมินราคาน้ำมันลด กลไกราคาในตลาดโลกเป็นตัวจักรสำคัญ รัฐบาล “ประยุทธ์” รับอานิสงส์ช่วงปฏิรูปพลังงานพอดี กดราคาน้ำมันในประเทศได้มากกว่า 10 บาทต่อลิตร คาดคนไทยได้ผลบวกค่าไฟ-ค่าโดยสารลด ดุลการค้าของประเทศดีขึ้น แต่อีกด้านยังหวั่นกำลังซื้อของประเทศเหล่านี้ลดลง เหตุขายของเท่าเดิมแต่ได้เงินน้อยลงเกือบครึ่ง อาจกลายเป็นแรงกดดันให้ภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวไม่สดใส ขณะที่เศรษฐกิจของลูกค้าหลักอย่าง ยุโรป จีน ญี่ปุ่น ยังไม่ฟื้น หักกลบแล้วน้ำมันถูกเป็นบวกกับไทย-แต่ไม่มาก

จับตาไทยเจอวิกฤตน้ำมันลด “ส่งออก-ท่องเที่ยว-กำลังซื้อต่างชาติ” ทรุดฮวบ

ราคาน้ำมันในตลาดโลกทยอยปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่อง จากระดับ 90 กว่าเหรียญต่อบาร์เรลลงมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 50 เหรียญต่อบาร์เรล บวกกับแนวทางการปฏิรูปพลังงานของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ส่งผลให้ราคาน้ำมันในประเทศปรับลดลงมาต่ำกว่าระดับ 30 บาทต่อลิตร

นับว่าเป็นการปรับลดราคาน้ำมันที่ลดลงมากกว่า 10 บาทต่อลิตร แต่ต้องแลกด้วยการปรับขึ้นราคาก๊าซธรรมชาติ หลังจากที่ประเทศไทยใช้โครงสร้างราคาพลังงาน ด้วยการเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันมาเพื่อชดเชยการนำเข้าก๊าซธรรมชาติที่ต้องสั่งเข้ามาจากต่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้พลังงาน

หากนับจากการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 ราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินโซฮอล์อยู่ที่เกือบ 39 บาทขึ้นไป เมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลงมาอย่างมากผนวกกับการปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน ทำให้ราคาน้ำมันในวันที่ 3 มกราคม 2558 ในกลุ่มเบนซินโซฮอล์ปรับลดลงมาต่ำกว่า 30 บาททุกรายการ ยกเว้นเบนซิน 95

ค่าไฟ-ค่าโดยสารปรับลง

ปกติราคาน้ำมันที่ลดลง ถือเป็นเรื่องบวกสำหรับบ้านเรา ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง เพราะไทยเป็นประเทศที่ใช้น้ำมันเป็นต้นทุนในการผลิต เห็นได้จากดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ หรือ เงินเฟ้อ เดือนธันวาคม 2557 เท่ากับ 106.65 สูงขึ้นร้อยละ 0.60 เทียบกับเดือนธันวาคม 2556 ต่ำสุดรอบ 62 เดือน และลดลงร้อยละ 0.50 จากเดือนพฤศจิกายน 25457 เฉลี่ยทั้งปี 2557 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.89

ปลายปี 2557 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้พิจารณาค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) สำหรับการเรียกเก็บในเดือนมกราคม-เมษายน 2558 โดยมีมติให้เรียกเก็บค่า Ft ลดลง 10.04 สตางค์/หน่วย หรือเท่ากับเรียกเก็บในอัตรา 58.96 สตางค์/หน่วย ซึ่งลดลงจากค่า Ft ในงวดที่ผ่านมา ที่เรียกเก็บอยู่ในอัตรา 69.00 สตางค์/หน่วย

ก่อนหน้านี้เรือโดยสารคลองแสนแสบ และเรือด่วนเจ้าพระยาได้ปรับลดราคาค่าโดยสารลง รวมไปถึงค่าโดยสารของบริษัทขนส่งและรถร่วมบริการที่จะปรับลดลงกิโลเมตรละ 2 สตางค์หลังพ้นช่วงปีใหม่ 2558

ขณะที่ราคาสินค้าที่ได้รับผลบวกจากราคาน้ำมันที่ลดลงนั้นยังไม่มีการปรับลดราคาลง ทำให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงพาณิชย์หาแนวทางให้ปรับลดราคาสินค้าลง

จับตาไทยเจอวิกฤตน้ำมันลด “ส่งออก-ท่องเที่ยว-กำลังซื้อต่างชาติ” ทรุดฮวบ



ภาพรวมรับผลบวก

จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ออกรายงานระบุว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง เป็นผลบวกต่อประเทศผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิ รวมทั้งประเทศไทย ราคาตลาดโลกเฉลี่ยที่คาดว่าอาจจะลดลงกว่า 20% จะช่วยให้ประเทศไทยมีสถานะดุลบัญชีเดินสะพัดที่ดีขึ้น คิดเป็นมูลค่าราว 1.6% ของจีดีพีในปี 2558

รวมทั้งยังเอื้อต่อการปรับโครงสร้างราคาพลังงานในประเทศไทย โดยไม่เพิ่มภาระต้นทุนต่อผู้บริโภคและธุรกิจ
ปัจจัยด้านราคาที่ไม่สร้างแรงกดดันมาก จะช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ดีขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่พึ่งพาค่าใช้จ่ายด้านพลังงานต่อต้นทุนรวมในสัดส่วนสูง เช่น ธุรกิจขนส่ง ประมง

น้ำมันล้นโลก

สอดคล้องกับนักเศรษฐศาสตร์อีกรายที่ประเมินสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ลดลงว่า หลายฝ่ายมองว่าเป็นเรื่องดีสำหรับประเทศไทยที่ราคาน้ำมันปรับลดลง เราก็มองเช่นเดียวกัน เพราะจะทำให้ตัวเลขนำเข้าของไทยลดลงจากราคาน้ำมันที่ลดลง ดุลการค้า ดุลการชำระเงินจนถึงดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยย่อมดีขึ้น ส่วนเกินที่ได้รัฐบาลสามารถนำไปใช้พัฒนาในส่วนอื่นๆ ได้

ถือว่ารัฐบาลโชคดีที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง เพราะแนวทางการปฏิรูปพลังงานจะทำได้ง่ายขึ้น ไม่กระทบต่อภาคประชาชนมากนัก นั่นคือก๊าชขึ้นราคา แต่ราคาน้ำมันลดลง จึงทำให้ลดแรงกดดันจากประชาชนได้

แต่ในอีกด้านหนึ่งของราคาน้ำมันที่ลดลงไปนั้น หากพิจารณาถึงสาเหตุที่ราคาน้ำมันปรับลดลงอย่างรวดเร็วราว 40% นั้น ด้านหนึ่งเกิดจากเรื่องของความต้องการใช้น้ำมันที่อาจลดลงของกลุ่มประเทศยุโรปที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว รวมไปถึงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีนและญี่ปุ่น แม้กระทั่งสหรัฐฯ เองแม้จะมีสัญญาณเริ่มฟื้นแต่ก็เป็นเพียงการเริ่มต้น

อีกด้านหนึ่งเป็นเรื่องของกำลังการผลิต ที่สหรัฐฯ เองมีการผลิตน้ำมันจาก shale oil มากขึ้น กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันอย่างโอเปก ยังไม่ลดกำลังการผลิต รวมถึงรัสเซีย และยังมีประเทศอื่นเช่น ลิเบียและอิหร่านที่เคยหยุดการส่งออกไปจากสถานการณ์การเมือง เริ่มกลับมาผลิตอีกครั้ง ทำให้เกิดการแข่งขันและมีปริมาณน้ำมันในตลาดมาก

ประกอบกับการที่สหรัฐฯ ตัดสินใจที่จะไม่อัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อฟื้นเศรษฐกิจในประเทศ ทำให้กลุ่มที่เคยเข้ามาเก็งกำไรราคาน้ำมันในตลาดล่วงหน้าต้องตัดสินใจเทขาย ส่งผลให้รายอื่นต้องขายตามเพื่อลดความเสี่ยง ราคาน้ำมันจึงปรับลงอย่างรวดเร็ว

เงินในกระเป๋าคนไทยเพิ่ม

สำหรับประเทศไทยนั้น แม้ราคาน้ำมันจะปรับลดลงไป คาดว่าเราจะได้รับผลบวกไม่มากนัก ด้านหนึ่งคือราคาก๊าชในประเทศสูงขึ้นจากนโยบายลดการอุดหนุนและสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้พลังงาน แม้ในภาคขนส่งจะปรับลดค่าโดยสารลงมาบ้าง แต่ตัวราคาสินค้าอุปโภค บริโภค ยังไม่มีการปรับลด และเชื่อว่าคงไม่ปรับลดลง อย่างมากก็เพิ่มปริมาณให้เท่านั้น

คนที่ใช้รถยนต์อาจมีเงินเหลือต่อเดือนเพิ่มขึ้น การจับจ่ายใช้สอย หรือการเดินทางท่องเที่ยวอาจมีมากขึ้น แต่ต้องขึ้นกับสถานะของแต่ละบุคคลและการกระตุ้นจากภาครัฐ อย่าลืมว่าที่ผ่านมาหนี้ครัวเรือนของไทยสูงขึ้นมาก เงินส่วนที่เหลือจากราคาน้ำมัน อาจไม่นำไปสู่การเร่งให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยด้านเดียว แต่อาจถูกนำไปใช้เพื่อการชำระหนี้มากขึ้น ตรงนี้จะไม่ทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศจากเม็ดเงินที่เหลือมากขึ้น

แต่ในภาคธุรกิจแล้ว ต้นทุนในการดำเนินงานย่อมลดลง Margin ในตัวสินค้าย่อมมีมากขึ้น

ในมิติด้านบวกของราคาน้ำมันที่ลดลง เราได้เห็นแล้วว่าตัวเงินเฟ้อไม่ได้ปรับขึ้นไปมากเหมือนในอดีต ดังนั้นปัจจัยเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยจึงหมดไป ดุลการค้า ดุลการชำระเงินจะดีขึ้น ค่าเงินบาทจะมีเสถียรภาพมากขึ้น

จับตาไทยเจอวิกฤตน้ำมันลด “ส่งออก-ท่องเที่ยว-กำลังซื้อต่างชาติ” ทรุดฮวบ
ภาคส่งออกและภาคท่องเที่ยวของไทยอาจประสบปัญหาด้านกำลังซื้อจากต่างชาติ



Net แล้วบวกไม่เยอะ

อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์รายนี้ยังให้มุมมองที่น่าสนใจเพิ่มเติมว่า ภายใต้ราคาน้ำมันที่ลดลงนั้น นั่นหมายถึงกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันจะมีรายได้ลดลง ตามราคาขายน้ำมันที่ลดลง เช่นเดิมขายได้ 1 ล้านบาร์เรล คูณด้วย 90 เหรียญต่อบาร์เรล เท่ากับได้เงิน 90 ล้านเหรียญ แต่วันนี้ราคาลดลงมาอยู่ที่ราว 48 เหรียญ ขาย 1 ล้านเหรียญเท่าเดิม เงินที่ได้เข้าประเทศเหลือเพียง 48 ล้านเหรียญเท่านั้น รายได้หายไปจากเดิมถึง 42 ล้านเหรียญ

เมื่อเป็นเช่นนี้ความมั่งคั่งของประเทศผู้ส่งออกน้ำมั่นย่อมหายไป สุดท้ายจะส่งผลกระทบไปยังภาคประชาชนของประเทศนั้นๆ ในรูปแบบต่างๆ เมื่อรัฐหารายได้ได้น้อยลง ย่อมจะส่งผลไปถึงอำนาจซื้อของรัฐบาลและประชาชนของประเทศเหล่านั้นตามไปด้วย

อย่างกลุ่มตะวันออกกลางมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาที่ประเทศไทยราว 8% ส่วนไทยส่งออกสินค้าอย่างข้าว รถยนต์ เครื่องปรับอากาศไปประเทศกลุ่มนี้ราว 4.9% หากกำลังซื้อของพวกเขาลดลงจากการที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง

สิ่งที่จะตามมาคือเรื่องการส่งออกไปยังประเทศเหล่านี้ และจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาประเทศไทยอาจลดลง เมื่อรวมกับการไม่ฟื้นตัวของประเทศมหาอำนาจอย่างยุโรป จีนและญี่ปุ่นแล้ว ประเทศไทยควรต้องหาทางรับมือกับสิ่งเหล่านี้ด้วย ที่ผ่านมายอดส่งออกของไทยก็ถือว่าไม่ดีนัก

“เราต้องมองความจริงในส่วนนี้ด้วย เพราะรายได้หลักของไทยคือการท่องเที่ยวและการส่งออก หากราคาน้ำมันลงมากๆ แต่ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันมีกำลังซื้อน้อยลง ก็จะกระทบกับฐานรายได้ของประเทศไทยไปด้วยเช่นกัน”

ถ้าว่ากันตามตัวเลขแล้ว ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลงมาราว 40% แต่ราคาน้ำมันในประเทศลดลงมาราว 18-20% เท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากราคาน้ำมันโลกปรับลดลง ไม่ใช่ฝีมือของรัฐบาลปัจจุบัน และราคาที่ลงมาอยู่ในระดับ 50 เหรียญต่อบาร์เรล ก็อาจจะขยับขึ้นไปได้อีก คาดว่าเฉลี่ยทั้งปี 2558 ราคาน้ำมันในตลาดโลกน่าจะอยู่ที่ระดับ 70-75 เหรียญต่อบาร์เรล ตรงนี้จึงเป็นโจทย์ให้กับผู้เกี่ยวข้องต้องนำกลับไปพิจารณาด้วยเช่นกัน

เมื่อหักลบกันแล้วระหว่างผลบวกที่เราได้รับจากราคาน้ำมันที่ลดลง ในภาคบุคคลอาจเห็นผลได้ชัดเจนกว่า แต่ในภาพรวมของประเทศแล้ว อาจจะได้รับผลบวกที่ไม่เต็มที่นัก เนื่องจากมีเรื่องของกำลังซื้อที่หายไปของประเทศคู่ค้าจะมาเป็นตัวหักลบ โดยเฉพาะเรื่องการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว อย่างที่ผ่านมาเกิดกรณีของค่าเงินรูเบิลของรัสเซียขึ้น ทำให้นักท่องเที่ยวรัสเซียลดลงไปไม่น้อย

ครั้งนี้ต้องหวังให้เศรษฐกิจของประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและสหรัฐฯ ยุโรป จีน และญี่ปุ่นฟื้นตัวไปด้วยกัน เพื่อให้ประเทศไทยสามารถส่งสินค้าออกได้มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้เศรษฐกิจไทยในปี 2558 เติบโตได้ตามเป้าหมายที่คาดการณ์กันไว้ที่ 4%


ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 8 มกราคม 2558
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”