Page 1 of 1

อสังหาไทยถอยทัพหนี'เออีซี'อ่วมกฎหมาย-ค่าเงิน-ประเพณี

Posted: 14 Jan 2015, 16:01
by brid.ladawan
?อสังหาไทยถอยทัพหนี'เออีซี'อ่วมกฎหมาย-ค่าเงิน-ประเพณี?
นี่เป็นข้อคิดที่ดี ที่ส่งต่อถึงเพื่อนพ้องพี่น้อง ในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ทุกคนให้ตระหนัก รอบคอบ ไม่ใช่ห้ามไม่ให้ไป แต่หากจะไปต้องวางชั้นเชิง กลยุทธ์ และแผนงานที่รัดกุมจริง ๆ ถ้าไม่อยากเหลือแค่กางเกงในตัวเดียวกลับมา


“กลับมาคราวนี้ เนื้อตัวถลอกปอกเปิกไปหมด เหลือกลับมาแค่กางเกงในตัวเดียว ทุกครั้งที่มีรุ่นน้องถามเรื่องนี้ ผมมักบอกเขาว่า คิดดี ๆ ก่อน ดูพี่เป็นตัวอย่างไอ้น้อง”

นี่คือคำบอกเล่าที่ออกจากปากของ “อนันต์ อัศวโภคิน” เจ้าพ่อยักษ์ใหญ่ในวงการอสังหาริมทรัพย์ แห่ง แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) และมหาเศรษฐีอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย เมื่อมีใครต่อใครถามว่า บริษัทจะออกไปลงทุนยังต่างประเทศหรือไม่ เมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 58 ตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาแล้ว

นั่นเพราะเป็นรายแรก ๆ ของไทย ที่ทนกลิ่นหอมเย้ายวนใจของ “เออีซี” ไม่ไหว ขณะที่กำลังทรัพย์พร้อมสรรพเต็มกระเป๋าตุง ก็ไม่ยากที่จะก้าวออกไปลิ้มลอง แต่ขนาดยักษ์ใหญ่ยังกล้าเอ่ยว่า “เราไปแล้ว และกลับมาแล้ว ขายโครงการในประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียทิ้งไป ส่วนเวียดนามยังทำอยู่เหมือนเดิม สำหรับประเทศจีนไม่ต้องพูดถึง ขายไปนานแล้ว ขายโครงการทิ้งใช่จะได้กำไรนะ เรียกว่า “ขาดทุนกลับบ้าน” ง่ายกว่า”

นี่เป็นข้อคิดที่ดี ที่ส่งต่อถึงเพื่อนพ้องพี่น้อง ในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ทุกคนให้ตระหนัก รอบคอบ ไม่ใช่ห้ามไม่ให้ไป แต่หากจะไปต้องวางชั้นเชิง กลยุทธ์ และแผนงานที่รัดกุมจริง ๆ ถ้าไม่อยากเหลือแค่กางเกงในตัวเดียวกลับมา

แต่อย่างไรก็ตาม “อดิศร ธนนันท์นราพูล” กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ก็ยังได้ทุ่ม 1,000 ล้านบาท ซื้ออสังหาริมทรัพย์ในเมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 56 โดยตั้งบริษัทลูกเข้าไปลงทุน และเน้นโฟกัสเฉพาะในย่านนี้เท่านั้น เนื่องจากมีนักธุรกิจอยู่เป็นจำนวนมาก โดยการลงทุนครั้งนี้ ถือเป็นการออกไปลงทุนในสหรัฐเป็นครั้งแรกของบริษัท หลังเกิดวิกฤติปี 40 เพราะมองว่าความเสี่ยงเรื่องราคาในสหรัฐเริ่มลดลงแล้ว อีกทั้งเน้นการซื้ออสังหา ริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัย อพาร์ตเมนต์ เพื่อปล่อยเช่า ในทำเลใจกลางเมือง หรือแหล่งธุรกิจสำคัญเท่านั้น

อีกตัวอย่าง ที่ถอดใจเห็นได้อย่างชัดเจน นั่นคือเศรษฐีหุ้นอันดับต้นของไทย “ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์” บอสใหญ่แห่ง บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ที่แต่แรกนั้น ได้ขยายการลงทุนไปต่างประเทศ เพียงเพราะต้องการเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ติด 1 ใน 10 ในภูมิภาคเอเชีย ที่มียอดขาย 100,000 ล้านบาท และต้องการกระจายความเสี่ยง โดยมีแผนขยายอาณาจักรการลงทุนในครอบคลุมทั่วเอเชีย

แต่แล้วเมื่อปลายปี 57 ที่ผ่านมา ก็ต้องยอมมอบตัว ชะลอการลงทุนในต่างประเทศ ทั้ง อินโดนีเซีย และเวียดนาม หลังจากที่ก่อนหน้านี้ยกเลิกการลงทุนในมัลดีฟส์ไปแล้ว เนื่องจากประสบปัญหาเรื่องของกฎหมายที่ดิน ภาษีที่เก็บสูงถึง 5% แม้ว่าจะมีกำไรหรือขาดทุน อัตราแลกเปลี่ยน ภาวะเงินเฟ้อ ปัญหาเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ ทำให้ต้องยกเลิกการลงทุนไปก่อน

ต้องยอมรับว่า ที่บาดเจ็บมากที่สุด คือการลงทุนที่เกาะฮูลูมาเล่ “มัลดีฟส์” นี่แหละ ที่โดนทั้งเรื่องค่าเงิน อัตราแลกเปลี่ยน กฎหมาย และภาษี จึงต้องขายทิ้งไป หลังหอบเงินไปลงทุนสร้างคอนโดฯ กว่า 300-400 ล้านบาท แต่ก็ถอนตัวออกมาเมื่อต้นปี 56 เพราะขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนสูง ตามด้วยการลงทุนที่เวียดนาม ที่ก่อนหน้านี้อัตราเงินเฟ้อสูงมาก จึงทำให้ต้นทุนผันแปร ซึ่งทุกประเทศที่พฤกษาออกไปลงทุน ก็มักจะเจอปัญหาคล้าย ๆ กัน รวมถึงปัญหาเรื่องภาษา ค่าครองชีพ คู่แข่ง การถือครองที่ดิน ที่สำคัญคือขาดข้อมูล ทำให้หันมาตั้งรับ ลงทุนแต่เฉพาะในประเทศไทยเป็นหลักก่อนเท่านั้น

แต่ทั้งนี้ ยังคงมีการลงทุนเฉพาะที่เมืองบังกะลอร์ ประเทศอินเดีย หลังจากที่เข้าไปเปิดตลาดมามากกว่า 5 ปีแล้ว และให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า โดยล่าสุดได้ซื้อที่ดินเพิ่มอีก 1 แปลง เพื่อพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม พร้อมกับยุบหน่วยธุรกิจ (บียู) ต่างประเทศ เหลือเพียงหน่วยงานย่อยเท่านั้น

“เราต้องกลับมาศึกษาบทเรียนที่ได้จากการไปลงทุนในต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมีปัญหามาโดยเฉพาะกฎหมายที่ดิน ภาษีรายได้ที่สูงมาก เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน รวมถึงปัญหาด้านเศรษฐกิจ ขณะที่นโยบายเดินหน้าโครงการ 2.4 ล้านล้านบาท ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำให้โอกาสด้านการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในประเทศมีมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในระบบขนส่งมวลชน รถไฟฟ้าสายต่าง ๆ รถไฟทางคู่ ที่มองว่าล้วนเป็นการเปิดหน้าดินให้ผู้ประกอบการเข้าไปลงทุนพัฒนาโครงการ อสังหาฯ ต่าง ๆ ทำให้บริษัทจะหันมาลงทุนในประเทศแทน ด้วยการเพิ่มพอร์ตลงทุนในต่างจังหวัดมากขึ้น หลังจากที่ชะลอแผนลงทุนต่างจังหวัด นับจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา”

แต่ก็ไม่ถือว่าจะยุติการไปเสียทีเดียว โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ มีนักพัฒนาอสังหาฯ ในมาเลเซีย ชวนไปลงทุนในมาเลเซีย ซึ่งก็รับไว้พิจารณา อนาคตถ้ามีโอกาสที่ดี และพร้อมด้านบุคลากรเหมือนในไทยแล้ว ก็สนใจร่วมทุนกับพันธมิตรต่างชาติ โดยอาจรอเวลาอีกสักระยะ ให้การเปิดเออีซีแข็งแกร่งกว่านี้ แล้วค่อยเล็งหาประเทศที่น่าสนใจ และสภาวะการเงินต่าง ๆ ในเออีซีนี้มั่นคง ไม่ผันผวนตามสภาพเศรษฐกิจโลก ค่อยหันกลับไปลงทุนใหม่ ก็ยังน่าจะทำกำไรได้

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายแห่งที่ออกไปลงทุนแล้วยังไปได้สวย เช่น “เศรษฐา ทวีสิน” บอสใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ได้ออกไปลงทุนต่างประเทศ โดยเน้นลงทุนในประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งในทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกา เพราะเป็นตลาดที่เติบโตมั่นคงแล้ว โดยมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นคนไทยที่ทำงาน หรือส่งลูกไปศึกษาต่อในประเทศนั้น ๆ และกลุ่มนักลงทุน เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อ ซึ่งโครงการแรกเป็นอพาร์ตเมนต์ “9 Elvaston Place” มูลค่า 600 ล้านบาท ที่ใจกลางมหานครลอนดอน ประเทศอังกฤษ ก็ประสบความสำเร็จด้วยดี

แม้ว่าไม่มีข้อมูลว่า ล้มเหลว เพราะลงทุนน้อย แต่ถ้าจะมองข้ามช็อต ประเด็นคือว่า ถ้าลงทุนต่างประเทศแล้วให้ผลตอบแทนที่ดี แล้วทำไมไม่ลงทุนต่อ ทั้งในอังกฤษ และประเทศอื่น ๆ ในยุโรป ตามที่เคยให้ข่าวไว้

ขณะที่ “ชายนิด โง้วศิริมณี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟ็ค จำกัด (มหาชน) ได้ขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ โดยตั้งบริษัทย่อย คือ พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟ็ค อินเตอร์เนชั่นแนล (พีพีไอ) ในประเทศสิงคโปร์ เพื่อเป็นฐานลงทุน โดยทุ่ม 770 ล้านบาท ซื้อสกีรีสอร์ท คิโรโระ บนเกาะฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น ใกล้เมืองซัปโปโร จากมิตซุย ฟูโดซัง บริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่และเก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่น เพื่อสร้างคอนโดฯ และวิลล่า มูลค่ารวม 3,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ

กระทั่งบริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ก็เริ่มเจรจากับนักพัฒนาอสังหาฯ ในประเทศออสเตรเลียอยู่ในขณะนี้ คาดว่าปีนี้น่าจะได้เห็นความชัดเจนแน่นอน

บทสรุปของผู้บริหาร ต่อการออกไปลงทุนยังต่างแดน โดยเฉพาะในสมาชิกเออีซี ยังคงเป็น 5 ประเด็นหลัก นั่นคือ ข้อกฎหมายที่ยังไม่เอื้ออำนวย โดยเฉพาะอัตราภาษีต่าง ๆ สถาบันการเงินไม่รองรับการทำธุรกรรม อัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน วัฒนธรรมประเพณี ทั้งเชื้อชาติ และศาสนา ที่ต่างกัน สุดท้ายคือภาวะเศรษฐกิจของประเทศนั้น ๆ เอง เมื่อทุกอย่างล้วนไม่นิ่ง จึงทำให้ไม่สามารถกำหนดต้นทุนที่นิ่งได้

และการถอยกลับมาตั้งหลักใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องน่าอาย แต่เพื่อลดความเสี่ยง แล้วหันมาทุ่มเทการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในไทยให้เต็มที่ โดยเฉพาะตลาดต่างจังหวัด ทั้งในเมืองท่องเที่ยว เมืองที่มีเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือเมืองที่มีนิคมอุตสาหกรรมจำนวนมาก ยังมีแนวโน้มเติบโตก้าวกระโดด ผลักดันให้ไทยเนื้อหอม จนต่างชาติอยากเข้ามารุมจีบ ทั้งขอร่วมทุน ขอซื้อกิจการ น่าจะแจ่มกว่า ซึ่งแน่นอนขณะนี้ไทยเองก็กำลังก้าวเข้าสู่จุดนั้น!!.

ณัฐธินี มณีวรรณ

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 13 มกราคม 2558