Page 1 of 1

ก.พลังงาน'เมิน'สปช.' เดินหน้าประมูลปิโตรเลียมรอบที่ 21

Posted: 16 Jan 2015, 10:21
by brid.ladawan
?'ก.พลังงาน'เมิน'สปช.' เดินหน้าประมูลปิโตรเลียมรอบที่ 21?
กระทรวงพลังงานเมินเสียงค้านของ"สปช." เรื่องสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 "รมว.พลังงาน" สั่งเดินหน้าประมูล หวังดึงความเชื่อมั่นนักลงทุน ลั่น "ไม่เปลี่ยนแปลงใดๆ เพื่อรักษาเกียรติยศของไทย ไม่เช่นนั้นจะไม่มีใครเชื่อถือ"


นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน เปิดเผยถึงกรณีสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้มีการจัดทำผลศึกษาเรื่อง การเปิดให้สัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21และมีข้อเสนอแนะให้ชะลอการเปิดสัมปทานฯออกไปว่า ในหลักการ ขอยืนยันระบบสัมปทานปิโตรเลียมที่นำมาใช้ในรอบที่ 21 นี้ เป็นระบบที่เหมาะสมกับประเทศไทยที่สุดแล้ว และจะยังดำเนินการตามแผนที่ได้วางไว้ โดยเปิดให้ผู้สนใจยื่นประมูลแปลงสัมปทานฯได้จนถึงวันที่ 18 ก.พ. นี้

"จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆตามแผนที่ได้กำหนดไว้ เพราะต้องรักษาเกียรติยศของไทย ไม่เช่นนั้นจะไม่มีใครเชื่อถือ กระทรวงพลังงานมีหน้าที่ในการบริหาร และต้องสร้างความเชื่อมั่น โดยผลการศึกษาของสปช. เป็นข้อเสนอแนะ และพร้อมรับฟังเพื่อนำมาพิจารณา"รมว.พลังงานระบุ

สำหรับข้อเนอของสปช.ที่ต้องการใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) มาใช้กับการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมนั้น คงต้องมาพิจารณาก่อนว่า ใช้ได้หรือไม่แต่ยังไม่สามารถใช้กับการเปิดรอบนี้ได้ ส่วนกรณีสัมปทานปิโตรเลียมของบริษัทเชฟรอน และบริษัท.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ที่จะหมดอายุปี2565-2566นั้น ทางกระทรวงกำลังพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งจะสรุปให้เสร็จภายในปี 2558

ด้านนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การเปิดสัมปทานฯรอบที่21 เป็นระบบที่ได้มาตรฐานสากลมีความโปร่งใส โดยใช้แนวทางระบบไทยแลนด์ 3 พลัส และเป็นระบบที่รัฐได้ผลตอบแทนสูงกว่าเมื่อเทียบกับระบบพีเอสซีของพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (เจดีเอ) และหากจะเปลี่ยนมาใช้ระบบพีเอสซี จะขั้นตอนในการเตรียมการที่ใช้เวลามาก ตั้งแต่การการแก้กฏหมาย การตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมาดูแล ทั้งระบบใช้เวลาอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 4 ปี ก่อนที่จะมีการเริ่มดำเนินการเปิดพีเอสซีได้

นอกจากนี้ ระบบสัมปทานสามารถตรวจสอบปริมาณก๊าซธรรมชาติ น้ำมันที่ขุดเจาะได้ทั้งระบบและในช่วงที่ปริมาณก๊าซของไทยที่พิสูจน์ได้จะหมดใน7ปี จำเป็นต้องมีความรวดเร็วในการสำรวจแหล่งปิโตรเลียมใหม่ โดยการใช้ระบบสัมปทานสามารถทำได้รวดเร็วกว่า

อย่างไรก็ตาม กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเตรียมแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ5คนเข้ามาเป็นคณะกรรมการปิโตรเลียม เช่น ด้านภาษี อุตสาหกรรม กฎหมายและองค์กรต่อต้านคอรัปชั่น เพื่อให้เกิดความโปร่งใสน่าเชื่อถือรวมทั้งอยู่ระหว่างการว่าจ้างบริษัทบัญชีรายใหญ่ 1ใน4ของโลกเข้ามาตรวจสอบการทำงานของผู้ที่ได้รับสัมปทานและข้อมูลทุกด้าน เพื่อแก้ข้อสงสัยเรื่องการแจ้งข้อมูลเท็จต่าง ๆด้วย

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 16 มกราคม 2558