Page 1 of 1

?สั่งกักแอปเปิ้ลมะกันหลังพบเชื้อก่อสมองอักเสบ

Posted: 16 Jan 2015, 17:28
by brid.ladawan
?สั่งกักแอปเปิ้ลมะกันหลังพบเชื้อก่อสมองอักเสบ?
อย.สหรัฐฯ แจ้งเตือนพบเชื้อโรคทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นพิษและโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบในแอปเปิ้ลพันธุ์กาล่าและแกรนนี่สมิทจากสหรัฐฯ คาดนำเข้ามาจำหน่ายในไทย เกษตรฯ สั่งกักสินค้าจากบริษัทผู้นำเข้าแล้ว หมอชี้เป็นเชื้อก่ออันตรายในกลุ่ม'ผู้ป่วยเอดส์-ทารก เด็ก คนท้อง คนแก่'


เมื่อวันที่ 16 ม.ค.นายวิมล จันทรโรทัย รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ แถลงข่าวด่วนที่สุดว่า เมื่อวันที่ 15 ม.ค.58 สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ได้แจ้งมายังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรณีองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Drug Administration, USFDA) ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 58 แจ้งว่าสินค้าของบริษัท Bidart Bros. ได้ถูกเรียกคืนจากการจำหน่ายในตลาดสหรัฐฯ เนื่องจากตรวจพบว่าการใช้หรือสัมผัสกับสินค้าดังกล่าวอาจถูกผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพ หรืออันตรายขั้นเสียชีวิตได้ ขณะเดียวกัน USFDA ได้รับข้อมูลว่าสินค้าดังกล่าวได้ถูกส่งออกไปยังประเทศไทย หรือบริเวณใกล้เคียงด้วย แต่ทาง USFDA ไม่สามารถตรวจสอบสินค้าที่ได้ส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้ จึงแจ้งมายังประเทศไทย เพื่อทำการตรวจสอบและเรียกคืนสินค้าดังกล่าวโดยเร่งด่วน

“ได้สั่งการให้ด่วนกรมวิชาการเกษตรตรวจเข้มแล้ว พบว่า มีบริษัทที่มีรายชื่อตามประกาศของสหรัฐอเมริกาได้นำเข้าแอปเปิ้ล อย่างไรก็ตาม ได้กักแอปเปิ้ลล็อตดังกล่าวเอาไว้แล้วที่แหลมฉบัง ยืนยันว่าแอปเปิ้ลที่วางจำหน่ายอยู่ในขณะนี้ยังสามารถรับประทานได้ เพราะล็อตที่เข้ามาล็อตแรกนั้นเราได้กักเอาไว้แล้ว”นายวิมล กล่าว

ทั้งนี้จากการตรวจสอบข้อมูลจากด่านนำเข้าสินค้าทั้ง 35 ด่าน ของกรมวิชาการเกษตร จากบริษัทที่รับสินค้าดังกล่าวในประเทศไทยมีจำนวน 6 บริษัท ได้แก่ บริษัท Fiesta Fruit Inc, บริษัท MB Fresh International, บริษัทParamount Export Co,บริษัท United Fruits Corp, บริษัท Voita Cirtrus, และบริษัท Dovex Export Company พบว่า มีสินค้า 1 ล็อตส่งมาจากสหรัฐฯ ซึ่งนำเข้าที่ท่าเรือแหลมฉบัง โดยขณะนี้ได้มีการกักกันสินค้าล็อตดังกล่าวไว้เรียบร้อยแล้ว เพื่อจะดำเนินการส่งให้องค์การอาหารและยาตรวจสอบ ซึ่งจะดูแลตรวจสอบในเรื่องสารเคมี โรคที่มากับสินค้า หรือสารปนเปื้อนต่อไป

​“สำหรับสินค้าที่ถูกเรียกคืน คือ แอปเปิ้ล พันธุ์ กาล่า และแอปเปิ้ล พันธุ์แกรนนี่สมิธ โดยเหตุผลในการเรียกคืนสินค้าดังกล่าว เนื่องจากสินค้าทั้งสองรายการมีความเกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของโรคโรคลิสเทริโอซิส เกิดจากเชื้อลิสทีเรีย ซึ่งพบบ่อยในดินและอาหารดิบบางชนิด ในคนส่วนใหญ่เกิดจากการทานอาหาร ไม่ได้ทำให้เกิดโรค ทั้งนี้หากมีการติดเชื้ออาจจะทำให้เกิดภาวะเซ็พติซีเมีย (เลือดเป็นพิษ) เมนินใจทิส (เยื่อหุ้มสมองอักเสบ) หรือมีอาการมึนงง เมื่อยคอ เสียการทรงตัว ชักและเข้าขั้นโคม่า ซึ่งหากเกิดการติดเชื้อในระหว่างตั้งครรภ์ก็สามารถทำให้แท้งบุตรในครรภ์หรือทารกติดเชื้อด้วยได้ ปัจจุบันประเทศไทยมีการนำเข้าแอปเปิ้ลจากสหรัฐฯ ปี 2557 ตั้งแต่ ม.ค.-พ.ย. ปริมาณ 15,599 ตัน มูลค่า 532 ล้านบาท จากมูลค่าการนำเข้าแอปเปิ้ลทั้งหมด 116,170 ตัน คิดเป็นมูลค่า 4,930 ล้านบาท” นายวิมล กล่าว

อย.ไทยเตรียมตรวจแอปเปิ้ลนำเข้า

อีกด้านหนึ่ง ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวถึงกรณีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหสรัฐอเมริกา ทำหนังสือแจ้งมายังประเทศไทยให้ตรวจสอบ และ เรียกคืนแอเปิ้ลสายพันธุ์กาล่า และแกรนสมิธ ออกจากท้องตลาด เพราะพบความสัมพันธ์กับโรคลิสเทอริโอซิส Listeriosis ว่า การนำเข้าผลไม้มาในประเทศไทยจะถูกตรวจสอบโดยสำนักด่านควบคุมโรคของอย. ซึ่งดูเรื่องเชื้อโรค ส่วนด่านของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะดูเรื่องแมลง และสารเคมี ทั้งนี้จะต้องตรวจสอบล็อตนัมเบอร์และดูว่ามีการกระจายสินค้าออกไปแล้วหรือไม่ หากกระจายออกไปแล้วจะอย.จะต้องสั่งอายัด และเรียกคืน อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้นำเข้าอาจจะต้องไปตรวจสอบที่ตัวสินค้าอีกครั้งหนึ่ง

ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ลิสเทอริโอซิสเป็นเชื้อที่พบได้ในสิ่งแวดล้อม อุจจาระคนและสัตว์ และแหล่งน้ำ ซึ่งจะมีโอกาสปนเปื้อนได้ง่ายในอาหารประเภทผักสด ผลไม้ และนม ซึ่งในประเทศไทยมีการรายงานการพบเชื้อต่ำ อย่างไรก็ตาม เชื้อดังกล่าวจะมีปัญหากับกลุ่มผู้ที่มีความต้านทานต่ำ เช่น ผู้ป่วยเอชไอวี เด็ก ผู้สูงอายุ คนท้อง หรือผู้เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง มักพบว่า เชื้อดังกล่าวเป็นเหตุให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด และเชื้อขึ้นสมอง ทั้งนี้ ช่องทางการพบเชื้อครั้งนี้เกิดจากต่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีกระบวนการตรวจสอบและป้องกันสินค้านำเข้าทั้งหมดอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม การล้างผัก ผลไม้ ก่อนรับประทานสามารถช่วยล้างเชื้อที่ปนเปื้อนออกได้ ส่วนผลิตภัณฑ์นม ก็ควรรับประทานที่ผ่านการพาสเจอไรท์แล้ว ส่วนอาหารอื่น ๆ การทำให้สุกก็สามารถฆ่าเชื้อดังกล่าวได้.


ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 16 มกราคม 2558