เกาะติดแผนเวนคืนที่ดิน โครงข่ายรถไฟฟ้าใยแมงมุม

Post Reply
brid.ladawan
Posts: 7045
Joined: 29 Mar 2013, 13:36

เกาะติดแผนเวนคืนที่ดิน โครงข่ายรถไฟฟ้าใยแมงมุม

Post by brid.ladawan »

?เกาะติดแผนเวนคืนที่ดิน โครงข่ายรถไฟฟ้าใยแมงมุม?
เริ่มเห็นเค้าโครงเป็นจริงเป็นจังขึ้นมาแล้ว สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าในเมือง 10 สายของรัฐบาล


เริ่มเห็นเค้าโครงเป็นจริงเป็นจังขึ้นมาแล้ว สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าในเมือง 10 สายของรัฐบาล ที่บางสายก็เริ่มเดินหน้าตอกเสาเข็มลงตอม่อไปแล้ว แต่บางสายก็กำลังตั้งไข่เริ่มอนุมัติโครงการ แต่ก่อนที่ความฝันเครือข่ายรถไฟฟ้าใยแมงมุมทั่วเมืองจะเป็นจริง ก็ต้องผ่านด่านอีกขั้นตอนสำคัญ คือ การจัดกรรมสิทธิ์์และเวนคืน ที่ถือเป็นช่วงที่วุ่นวาย และกระทบกระทั่งต่อชาวบ้านในแนวก่อสร้างมากสุด ซึ่งโต๊ะข่าวเศรษฐกิจเดลินิวส์ อัพเดทสถานการณ์ก่อสร้างและเวนคืนที่รถไฟฟ้าให้ติดตามกัน

สายสีเขียว หมอชิต–สะพานใหม่–คูคต,แบริ่ง–สมุทรปราการ

เริ่มจากสายสีเขียว มีการแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกหมอชิต–สะพานใหม่–คูคต มีระยะทางรวม 18.4 กม. ลงทุน 58,861 ล้านบาท ถือเป็นสายที่มีแนวการเวนคืนและจัดกรรมสิทธิ์์ชัดเจนมากสุด โดยหลังผ่านการประกวดราคาแล้ว ตั้งแต่เดือน ก.พ.นี้เป็นต้นไป จะเริ่มขั้นตอนจัดกรรมสิทธิ์และเวนคืนที่ดิน โดยเบื้องต้นใช้งบ 7,863 ล้านบาท มีที่ดิน 500 แปลง และสิ่งปลูกสร้าง 500 หลัง โดยมีแนวเวนคืนตามสถานีจุดขึ้น-ลง 16 สถานี เริ่มตั้งแต่จุดเชื่อม กับบีทีเอสหมอชิต ไปตามแนวถนนพหลโยธิน ข้ามดอนเมืองโทลล์เวย์ ผ่านห้าแยกลาดพร้าว รัชโยธิน เกษตร อนุสาวรีย์วงเวียนหลักสี่ หน้าตลาดยิ่งเจริญ เมื่อถึง กม.ที่ 25 เบี่ยงเข้า ถนนลำลูกกา สิ้นสุดที่ สน.คูคต

จุดเวนคืนใหญ่สุดของสายสีเขียว คือช่วงเบี่ยงจากถนนพหลโยธิน ไปถนนลำลูกกา คือย่าน ’ประตูกรุงเทพฯ“ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่ดินจัดสรรในเขตทหารเก่า คาบเกี่ยวทั้งเขตสายไหม และลำลูกกา โดยนอกจากใช้สร้างทางตัดแล้ว ยังใช้ก่อสร้างอาคารจอด 2 แห่ง และศูนย์ซ่อมบำรุงพื้นที่รวม 130 ไร่ ส่วนช่วง ก่อสร้างแบริ่ง–สมุทรปราการ ระยะทาง 13 กม. 9 สถานี กำลังก่อสร้าง และเวนคืนพื้นที่ได้แล้ว โดยโครงการช่วงนี้สร้างเสร็จในปี 63

สายสีส้ม ตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี

สายสีส้ม ระยะทาง 38.9 กม. ถือเป็นเส้นทางที่น่าจับตามองมากสุด เพราะมีแนวเส้นทางตัดผ่านทั้งย่านธุรกิจสำคัญ ชุมชนเก่า และใจกลางเมืองกรุงเทพฯ หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นเกาะกลางรัตนโกสินทร์ ประตูน้ำ รางน้ำ ดินแดง พระราม 9 และรามคำแหง โดยโครงการก่อสร้างแบ่งเป็น 2 ช่วง

สีส้มฝั่งตะวันออก ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี มีระยะทางก่อสร้างเป็นทางยกระดับ 9 กม. และใต้ดิน 12.2 กม. รวม 17 สถานี มีแนวเส้นทางเริ่มจากสถานีศูนย์วัฒนธรรมเชื่อมรถไฟฟ้าใต้ดินเข้าศูนย์ซ่อมบำรุง สำนักงาน รฟม. ไป ถนนพระราม 9 เลี้ยวซ้ายไป ถนนรามคำแหง ผ่านแยกลำสาลี ถนนกาญจนาภิเษก สิ้นสุดที่ สุวินทวงศ์ ใกล้จุดตัด ถนนรามคำแหงกับสุวินทวงศ์ เบื้องต้นประเมินค่าเวนคืนและจัดกรรมสิทธิ์ไว้ที่ 9,600 ล้านบาท โดยที่ดินได้รับผลกระทบ 594 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 222 หลัง แต่การเวนคืนส่วนใหญ่จะมีเฉพาะตามจุดขึ้นลงสถานี 17 แห่งเท่านั้น ส่วนที่เหลือใช้วิธีรอนสิทธิใต้ผิวดินโดยไม่ต้องเวนคืน เนื่องจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินใช้ขุดลึกลงไปจากพื้นดิน 25-30 เมตร เพื่อทำอุโมงค์ก่อสร้างรถใต้ดิน โดยไม่ต้องกระทบต่อตัวโครงสร้างอาคาร

ส่วน ฝั่งตะวันตก ตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม ยังมีปัญหาการกำหนดแนวก่อสร้างและการเวนคืนอยู่ เช่น พื้นที่ชุมชนประชาสงเคราะห์ เพื่อทำทางเชื่อมต่อสถานีศูนย์วัฒนธรรม ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ม.ค. 58 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพิ่งมีมติปรับแบบก่อสร้าง โดยขยับแนวมาใช้ถนนพระราม 9 แทนการตัดผ่านชุมชนประชาสงเคราะห์ เพื่อลดผลกระทบการเวนคืนที่ดิน และช่วยให้ประหยัดงบก่อสร้างและเวนคืนที่ดินได้อีก 500 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังต้องติดตามปัญหาในเขตเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ ที่มีกฎระเบียบสำคัญหลายข้อ สำหรับแนวทางการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน เน้นการเวนคืนช่วงสถานีขึ้นลงเริ่มตั้งแต่ ตลิ่งชัน บางขุนนนท์ รพ.ศิริราช สนามหลวง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หลานหลวง ไปถนนเพชรบุรี รางน้ำ ดินแดง ก่อนเข้าสู่พระราม 9 ส่วนการสร้างเส้นทางใช้การรอนสิทธิใต้ดินเช่นกัน เพราะเป็นทางใต้ดิน โดยมีแผนสร้างเสร็จปี 63

สายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง

ตอนนี้กำลังรอนำเสนอโครงการเข้า ครม.พิจารณา โดยมีระยะทาง 30.4 กม. ลงทุน 56,110 ล้านบาท 23 สถานี โดยเบื้องต้นได้ตั้งงบประมาณเวนคืน และจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 6,000 ล้านบาท ที่ดิน 310 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 160 หลัง โดยแนวเส้นทางจะสร้างตามถนนลาดพร้าวต่อเนื่องไปถนนศรีนครินทร์ พื้นที่การเวนคืนส่วนใหญ่อยู่ทางขึ้นลงตามสถานี 23 แห่ง โดยจุดที่กระทบมากสุด เป็นทางโค้งเบี่ยงจากถนนลาดพร้าว ไป ถนนศรีนครินทร์ แถวเดอะมอลล์ บางกะปิ รวมถึงการทำศูนย์ซ่อมรถย่านสถานีวัดศรีเอี่ยม เยื้องศุภาลัยปาร์ค ตลอดจนช่วง ถนนศรีนครินทร์ ไป ถนนเทพารักษ์ บริเวณแยกศรีเทพา โดยคาดว่ารายละเอียดการก่อสร้าง และแนวเวนคืน จัดกรรมสิทธิ์์ที่ดินจะชัดเจนในกลางปีนี้ และมีแผนก่อสร้างเสร็จปี 63

สายสีชมพู แคราย-มีนบุรี

สายสีชมพู มีระยะทาง 36 กม. ลงทุน 58,264 ล้านบาท โดยปัจจุบันเส้นทางนี้แผนก่อสร้างเป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยว โมโนเรล ซึ่งหากทำตามแผนนี้ใช้งบเวนคืน และจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 6,800 ล้านบาท มีที่ดินกระทบ 600 แปลง และสิ่งก่อสร้าง 100 กว่าหลัง โดยพื้นที่ถูกผลกระทบเยอะ ได้แก่ ทางเบี่ยงขวาจากถนนติวานนท์ไป ถนนแจ้งวัฒนะ แถวห้าแยกปากเกร็ด และจุดขึ้นตามสถานีต่าง ๆ อีก 30 แห่ง โดยมีสถานีใหญ่ 5 จุด คือ แยกปากเกร็ด เมืองทอง หลักสี่ วงเวียนหลักสี่ รวมถึงมีนบุรีที่ต้องใช้พื้นที่กว่า 280 ไร่ เพื่อสร้างศูนย์ซ่อม อย่างไรก็ตามขณะนี้รัฐบาลมีแผนทบทวนการก่อสร้างโครงการ ซึ่งอาจปรับให้เป็นการสร้างรถไฟฟ้าขนาดใหญ่แทนระบบรางเดี่ยว ให้เกิดความคุ้มค่ากว่าในระยะยาว แต่อาจทำให้แนวการเวนคืนต้องปรับใหม่ และมีพื้นที่ที่ถูกเวนคืนเพิ่มกว่าเดิม

แอร์พอร์ตลิงก์ ดอนเมือง-มักกะสัน

สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทเอกชนออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จแล้ว โดยมีค่าก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 28,253 ล้านบาท ระยะทางรวม 21.8 กม. แต่แบ่งเป็นทางวิ่งยกระดับ 18.3 กม. ทางวิ่งใต้ดิน 3.5 กม. รวม 5 สถานี แต่มีพื้นที่ที่ถูกกระทบจากการเวนคืนน้อยเพียง 25 แปลง เพราะส่วนใหญ่สร้างขนานทางรถไฟเดิม แบ่งเป็นที่ดินของรัฐ 4 แปลง เช่น พื้นที่ของกรมทางหลวง และบ้านราชวิถี และเอกชน 21 แปลง เช่น พื้นที่โรงเรียนสัตย์สงวน เพื่อทำทางวิ่งช่วงก่อนสถานีรถไฟสามเสน โดยทั้งโครงการคาดก่อสร้างเสร็จปี 62

สายสีแดง บางซื่อ-รังสิต-ธรรมศาสตร์

รถไฟฟ้าสายนี้ มีระยะทาง 36.3 กม. อยู่ในเขตรถไฟสายใต้ จึงไม่มีปัญหาในการเวนคืนและการจัดกรรมสิทธิ์์ที่ดินซึ่งเป็นปัญหาที่มีผลกระทบต่อประชาชน แต่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนที่รุกล้ำเข้าไปตั้งรกรากในพื้นรถไฟจะต้องย้ายออก โดยปัจจุบันโครงการกำลังก่อสร้างช่วงบางซื่อ-รังสิต 10 สถานี และมีแผนต่อขยายไปถึงธรรมศาสตร์อีก 5 สถานี ตามแนวถนนเลียบคลองเปรมประชากร คือ สถานีรังสิต สถานีคลองหนึ่ง สถานี ม.กรุงเทพ สถานีเชียงราก และสถานีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งคาดเสร็จปี 61 ส่วนการขยายเส้นทางบางซื่อ–หัวลำโพง ซึ่งเพิ่มอีก 6 สถานี แต่ไม่มีผลกระทบการเวนคืนเช่นกัน โดยเริ่มจากสถานีรถไฟชุมทางบางซื่อ สถานีสามเสน สถานีราชวิถี สถานียมราช สถานียศเส และสถานีรถไฟหัวลำโพง โดยขั้นตอนตอนนี้กำลังรออนุมัติจาก ครม. อยู่

สายสีม่วง บางใหญ่-เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ-วงแหวนกาญจนาภิเษก

ช่วงบางใหญ่-เตาปูน มีระยะทาง 23 กม. 16 สถานี แทบไม่มีปัญหาอะไร สร้างเสร็จแล้วเกือบ 100% และมีแผนเปิดใช้ได้ 12 ส.ค. 59 โดยขณะนี้เหลือติดขัดข้อกฎหมายอีกเล็กน้อยในการจัดกรรมสิทธิ์์อีก 69 แปลง เพื่อสร้างศูนย์บำรุงในเขตบางใหญ่ 9 แปลง และเวนคืนเพื่อก่อสร้างสถานีขึ้นลงอีก 19 แปลง เช่น สถานีเตาปูน สถานีบางพลู แต่ล่าสุดได้ ออก ร่าง พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ ก็จะทยอยเคลียร์ปัญหาได้ ส่วนเส้นทาง เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ-วงแหวนกาญจนาฯ ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างศึกษาออกแบบ แต่ยังไม่ได้กำหนดแนวเส้นทาง และการเวนคืนชัดนัก

สายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง–บางแค,ช่วงบางซื่อ–ท่าพระ

เป็นโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง มีระยะทาง 27 กม. รวม 21 สถานี ซึ่งเปิดใช้ได้ปี 62 โดยปัจจุบันมีการจัดกรรมสิทธิ์์และเวนคืนที่ดินไปแล้ว แต่ยังติดปัญหาย่านสถานีแยกไฟฉายเขตบางกอกน้อย หลังเกิดปัญหาพื้นที่ทับซ้อนกับโครงการก่อสร้างทางลอดถนนจรัญสนิทวงศ์กับถนนพรานนก ของ กทม. จึงต้องปรับแนวเขต 32 ตำแหน่ง ทำให้มีอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนประกอบด้วย ที่ดิน 61 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 87 หลัง เพื่อสร้างสถานที่จอดรถสำหรับผู้โดยสารและกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง เริ่มตั้งแต่พื้นที่ตลาดบางขุนศรี จนถึงสถานีขนส่งสายใต้เก่า แยกไฟฉาย ทั้งสองข้างทางถนนจรัญสนิทวงศ์ ส่วนแผน บางแค–พุทธมณฑล สาย 4 กำลังศึกษาออกแบบอยู่ โดยมีแนวเวนคืนที่ดินเพิ่มอีก 4 สถานี สถานีพุทธมณฑลสาย 2 สถานีทวีวัฒนา สถานีพุทธมณฑลสาย 3 และสถานีพุทธมณฑลสาย 4 คาดก่อสร้างเสร็จปี 64

จะเห็นได้ว่าปัญหาการเวนคืน และจัดกรรมสิทธิ์์ที่ดิน ยังคงเป็นอีกปัญหาใหญ่ที่ต้องติดตามต่อเนื่อง เพราะในพื้นที่เดียวกันมีทั้งชาวบ้านที่ได้รับประโยชน์ และเสียประโยชน์อยู่ จึงเป็นหน้าที่ของภาครัฐว่าจะดำเนินการอย่างไรเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน และทำให้โครงการก้าวไปสู่ความสำเร็จ “ฝันที่เป็นจริงของไทย”.

ทีมข่าวเศรษฐกิจ


ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 19 มกราคม 2558
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”