Page 1 of 1

Fab Cafe ทำเลสร้างสรรค์ 3D ของทุกคน

Posted: 20 Jan 2015, 14:35
by brid.ladawan
?Fab Cafe ทำเลสร้างสรรค์ 3D ของทุกคน?
ร้านเปิดในรูปของคาเฟ่ หรือร้านกาแฟ ที่ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย เข้าไปใช้บริการได้ ตั้งแต่สั่งเครื่องดื่ม กาแฟมาดื่มสังสรรค์ กับเพื่อน บุคคลทั่วไปจะพาคนในครอบครัว


ฝันยาก ๆ ของผู้ใหญ่ ที่อยากเห็นคนรุ่นใหม่ เด็กไทย มีความคิดสร้างสรรค์ กล้าริเริ่มธุรกิจสตาร์ต อัพ (Start Up) ทำกิจการใหม่จากไอเดียที่แตกต่าง คิดชิ้นงานแปลก เด่น สะดุดตา โดนใจตลาดวงกว้าง หรือทำแอพพลิเคชั่นที่ใช้เงินลงทุนไม่สูงนั้น ถ้าไม่มีพี่เลี้ยง แหล่งข้อมูลที่ซ้อมมือห้องปฏิบัติการให้ได้ลองผิดลองถูก ก็ไม่รู้วันไหนจะไปถึง

แม้สถาบันการศึกษามีห้องแล็บ และเครื่องมือก็ไม่ได้พร้อมสมบูรณ์ใช้ได้ก็เฉพาะนักศึกษา ซึ่งถ้าลงทะเบียนไม่ครบ มาแค่ 1-2 คนก็ไม่เปิด

เมื่อวันที่ 8 ม.ค. ที่ผ่านมา ได้เกิดธุรกิจใหม่ที่เป็นเสมือนห้องปฏิบัติการสถานที่ลองฝึกหัด เพื่อแปรความคิดเป็นชิ้นงานสร้างสรรค์ ที่ให้คนอายุตั้งแต่ 3 ขวบ ขึ้นไปเข้าไปเล่นหรือสร้างสิ่งประดิษฐ์ตามฝันในนามของแฟบ คาเฟ่ (Fab Cafe) อยู่ในซอยพหลโยธิน 5 หรืออารีย์ 1 เขตพญาไท ตรงข้ามโรงเรียนสวนบัว

แฟบ คาเฟ่ ก่อตั้งโดย อาจารย์ทางด้านสถาปัตยกรรม 3 คน ได้แก่ กัลยา โกวิทวิสิทธิ์ สมรรถพล ตาณพันธุ์ และชุตยาเวศ สินธุพันธุ์ ที่อยากหารูปแบบธุรกิจที่ให้นักศึกษา ให้คนที่คิดจะผลิตงานสร้างสรรค์ มีแหล่งรองรับที่ทำออกมาได้เป็นชิ้นเป็นอันแบบ 3 มิติ ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์แบบ 3 มิติ ที่ราคาต่ำลง ใช้วัสดุได้มากแบบ และพบว่า ในโลกนี้มีบริการของ แฟบ คาเฟ่ อยู่แล้วที่ประเทศญี่ปุ่น ย่านชิบูยะ กรุงโตเกียว โดยบริษัท Loftwork Inc และมีสาขาอีก 3 แห่ง คือไต้หวัน 1 แห่ง สเปน 2 แห่ง ส่วนในประเทศไทย เป็นสาขาที่ 5

กัลยา อธิบายว่า ร้านเปิดในรูปของคาเฟ่ หรือร้านกาแฟ ที่ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย เข้าไปใช้บริการได้ ตั้งแต่สั่งเครื่องดื่ม กาแฟมาดื่มสังสรรค์ กับเพื่อนบุคคลทั่วไปจะพาคนในครอบครัว โดยเฉพาะเด็กไปหัดสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ตามความคิด จินตนาการได้ทุกรูปแบบ แล้วสั่งพรินต์ได้บนวัสดุทุกชนิดหลายขนาด เช่น การสลักข้อความลงบนขนม มาการอง หรือผลไม้ รวมถึงช็อกโกแลต

ซื้อนาฬิกาเรือนใหม่ให้เป็นของขวัญ ก็สลักชื่อหรือข้อความเฉพาะตัวได้

นอกเหนือจากการสั่งพรินต์ข้อความตามจินตนาการ สำหรับคนต้องการสร้างสิ่งประดิษฐ์ใหม่ หรือพัฒนาผลงานให้แตกต่างและมีชิ้นเดียวในโลก ซึ่งต้องอาศัยศาสตร์หลายแขนง เช่น ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม หรือระบบไฟฟ้า ก็จะมีวิศวกร หรือผู้รู้แต่ละสาขาคอยเป็นที่ปรึกษา

การออกแบบชิ้นงาน หากทำในอุตสาหกรรมต้องขึ้นรูปมูลค่าเป็นล้าน สามารถทำที่แฟบ คาเฟ่ ด้วยค่าใช้จ่ายแสนถูก

นักศึกษาคิดอยากทำกล้องถ่ายภาพดิจิตอล หรือเครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ แบบของตัวเอง บางกว่าที่ขายในท้องตลาด สีที่แตกต่างก็ออกแบบและใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ พิมพ์ลงบนพลาสติกหรือวัสดุที่ต้องการ ส่วนแผงวงจร เลนส์ จะทำอย่างไร ก็จะมีผู้รู้คอยให้คำแนะนำ หรือถ้ายากมาก ๆ ขอให้ที่ปรึกษาจาก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มาช่วย

“เด็กนักศึกษา หรือคนจบใหม่ ที่อยากทำผลิตภัณฑ์ของตนเองออกขาย เช่น กระเป๋า ก็ออกแบบหรือลองทำออกมาได้ หากต้องการจำนวนมากเป็นหมื่นชิ้น ก็ส่งแบบเข้าโรงงานผลิต ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาไม่ต้องออกแบบบนกระดาษหรือคอมพิวเตอร์ แล้วไม่สามารถทำตัวอย่างคล้ายของจริงออกมาได้ ถ้าจะออกแบบเชิงนวัตกรรม ก็จะประสานงานกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) มาดูอีกแรง”

ความที่มีเครือข่าย สาขา ในต่างประเทศ การทำผลงานสิ่งประดิษฐ์ คิดค้น บางชิ้นยังขอสนับสนุนข้อมูล คำแนะนำเพิ่มเติมได้ รวมทั้งยังขอให้ช่วยเป็นแหล่งเผยแพร่ข้อมูลผลิตภัณฑ์ในตลาดต่างประเทศได้อีกด้วย

กัลยา บอกว่า คาเฟ่แห่งนี้เหมาะกับครอบครัวที่พาเด็กเล็กมาปลูกฝังการคิดสร้างสรรค์ การพัฒนาไปสู่ความสนใจในการประดิษฐ์ คนรุ่นใหม่หรือนักศึกษาที่อยากทำธุรกิจแนวสร้างสรรค์ของตนเองก็มาใช้ห้องแล็บทำงาน รวมถึงบริษัทเอกชน ที่ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ก็มาคิดออกแบบและทดลองทำได้เหมือนกัน

ข้อมูลเพิ่มเติมดูได้ที่ เฟซบุ๊ก FabCafe Bangkok

ร้านหยุดวันจันทร์ วันเดียว เด็กที่โตแล้วไปฝึกเล่นได้ตามความพอใจ เพราะ คิดค่าบริการพรินต์รายชิ้นงาน นาทีละ 30 บาท แต่งานส่วนใหญ่ใช้เวลาไม่ถึงนาที ทั้งมั่นใจได้กับความปลอดภัย เครื่องจักรทุกชิ้นไม่มีมีด อุปกรณ์ทุกชนิดเมื่อเปิดฝา ระบบจะหยุดทันที

แฟบ คาเฟ่ มีแผนอนาคต ด้วยว่าจะเปิด ฟู้ดแฟบ พรินเตอร์ ที่สามารถออกแบบวัสดุอาหารแล้วพรินต์ออกมาได้ เช่น อยากออกแบบเส้นพาสต้าใหม่ ก็พรินต์ลงบนแป้งที่จะออกมาเป็นเส้นอย่างที่ต้องการ

ลองไปนั่งดื่มกาแฟสังเกตการณ์สักถ้วย พลางคิดสร้างสรรค์ผลงานติดออกมาสักชิ้นก็ได้

ผู้ใหญ่ที่อยากหาที่ลงให้เด็กปล่อยของตามความคิดสร้างสรรค์ ควรพาเขามา

ฝันจะได้เป็นจริง.

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 20 มกราคม 2558