Page 1 of 1

วัดกึ๋นรัฐบาลไล่บี้ลดราคาสินค้า ชาวบ้านบ่นแก้ปัญหาไม่ถูกใจ.

Posted: 20 Jan 2015, 14:48
by brid.ladawan
?วัดกึ๋นรัฐบาลไล่บี้ลดราคาสินค้า ชาวบ้านบ่นแก้ปัญหาไม่ถูกใจ...?
โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน น่าจะลดลงตามด้วย เพราะทั้งหมดเกี่ยวข้องกับน้ำมัน แต่สุดท้ายก็ผิดหวังเนื่องจากแนวทางการไล่บี้ให้ราคาสินค้าลดลงได้ช้ามาก


หลังจากราคาน้ำมันตลาดโลกปรับลดลงต่อเนื่อง จนราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศไทยลดลงเหลือ 25.49 บาทต่อลิตร หรือลดจากช่วงกลางปีก่อนถึง 4.5 บาทต่อลิตร ทำให้ชาวบ้านคาดหวังว่าราคาสินค้าทั่วไป โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน น่าจะลดลงตามด้วย เพราะทั้งหมดเกี่ยวข้องกับน้ำมัน แต่สุดท้ายก็ผิดหวังเนื่องจากแนวทางการไล่บี้ให้ราคาสินค้าลดลงได้ช้ามาก แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูแลก็ตาม

สินค้าที่ชาวบ้านต้องการให้ลดราคาลงตามน้ำมันมากที่สุด หนีไม่พ้นเรื่องของสินค้าวัตถุดิบในการประกอบอาหาร, อาหารปรุงสำเร็จ, ก๋วยเตี๋ยว และค่าบริการต่าง ๆ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน เพราะหากไม่ซื้อกินก็อยู่ไม่ได้ แถมสินค้าเหล่านี้บางรายการดันปรับขึ้นราคาอีก ขณะที่สินค้าหมวดอื่น ๆ ไม่กี่รายได้ที่ปรับลดลงมา ที่เห็นชัด ๆ เป็นบรรดาค่าโดยสารต่าง ๆ (ยกเว้นมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ทั้ง ๆ ที่ได้รับอานิสงส์มากสุด) และน้ำมันหล่อลื่นที่นำร่องลดราคา 5% ไปแล้วเมื่อวันที่ 16 ม.ค. 58 ส่วนสินค้าที่เหลือไม่มาตามนัด

ดีเซลลง 4.5 บาทต่อลิตร

ทั้งนี้หากพิจารณาต้นทุนราคาน้ำมันดีเซลที่ลดลง 4.5 บาทต่อลิตร พบว่าต้นทุนราคาสินค้าภาพรวมลดลงประมาณ 5% ซึ่งก็แล้วแต่ละสินค้า บางชนิดต้นทุนลดในระดับ 5-10% จะเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันหรือ ปิโตรเคมีโดยตรงและเป็นสินค้าหนัก แต่บางชนิดก็ลดลงไม่ถึง 1% ส่วนใหญ่ก็จะเป็นสินค้าที่มีน้ำหนักเบา ๆ เป็นต้น

แน่นอนสินค้าที่ได้รับอานิสงส์เต็ม ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อมคงหนีไม่พ้นกลุ่มน้ำมันหล่อลื่น, วัสดุก่อสร้าง, ปูนซีเมนต์, เหล็กเส้น, ปุ๋ยเคมี, เม็ดพลาสติกที่นำมาผลิตขวดเพ็ท เป็นต้น ส่วนกลุ่มที่ได้รับอานิสงส์รอง ๆ ลงมา เช่น ปลากระป๋อง, น้ำมันปาล์ม, ยาสีฟัน, สบู่, น้ำปลา, ถุงพลาสติก หรือแม้แต่สินค้าเกษตรอย่างผักและผลไม้ เป็นต้น อย่างไรก็ตามเมื่อเหตุการณ์ไม่เป็นไปตามที่ประชาชนคาดหวังทั้ง ๆ ที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ไล่บี้อยู่ทุกวัน ทำให้มีหลายฝ่ายสงสัยว่าเป็นเพราะอะไรหรือมีสาเหตุอะไรที่ราคาสินค้าส่วนใหญ่ไม่ยอมปรับลดราคาสักที

จานด่วนเมินลดราคา

ไม่ว่าสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป อาหารจานด่วน ก๋วยเตี๋ยว ข้าวราดแกงข้างถนน และอาหารในร้านยันไปถึงภัตตาคาร ส่วนใหญ่ยังราคาเดิม ทั้ง ๆ ที่ราคาสินค้าเกษตรและเนื้อสัตว์ ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญที่นำมาปรุงอาหารที่ส่วนใหญ่ปรับลดราคาลงหรือไม่ก็มีราคาทรงตัว เช่น เนื้อหมูชำแหละเนื้อแดง 114-120 บาท/กก. จากเดือน ม.ค. ของปี 57 อยู่ที่ 137 บาท/กก. ผักคะน้าอยู่ที่ 12-15 บาท/กก. จากเดือน ม.ค. ปี 57 เฉลี่ยที่ 17-18 บาท/กก., ผักบุ้งจีน 12-15 บาท/กก. จากเดือน ม.ค. ปี 57 อยู่ที่ 22-23 บาท/กก. หรือ ไข่ไก่เบอร์ 3 อยู่ที่ 2.9-3 บาทต่อฟอง จากเดือน ม.ค. ปี 57 อยู่ที่ 3.5-3.6 บาทต่อฟอง เป็นต้น

สารพัดเหตุผลพ่อค้า

สำหรับคำตอบที่ได้รับฟังจากบรรดาพ่อค้า พบว่าสาเหตุที่ราคาสินค้ายังไม่ปรับลดลงมาทันที แบ่งออกเป็น 7 กลุ่มใหญ่ ๆ โดย กลุ่มที่ 1 อ้างเรื่องของสต๊อกสินค้า ที่ผู้ประกอบการอ้างว่าในปีที่ผ่านมา ยอดขายสินค้าลดลงมากจากภาวะเศรษฐกิจ ทำให้มีสินค้าค้างสต๊อกเต็มหากลดราคาตอนนี้รับรองเจ๊ง ที่สำคัญต้นทุนจากค่าขนส่งของสินค้าในภาพรวมยังน้อยกว่าต้นทุนของค่าจ้างขั้นต่ำของแรงงานอีก

ส่วน กลุ่มที่ 2 อ้างเรื่องรัฐบาล เพราะที่ผ่านมารัฐบาลเกือบทุกสมัยมีนโยบายขอความร่วมมือเชิงบังคับให้ตรึงราคาสินค้าตั้งแต่ 3 เดือน หรือ 6 เดือนบ้าง เพื่อดูแลค่าครองชีพของประชาชนและรักษาฐานคะแนนเสียง ส่งผลให้สินค้าหลายชนิดไม่ได้ปรับขึ้นราคามานาน ดังนั้นเมื่อต้นทุนน้ำมันลดลงช่วงนี้ได้ก็ช่วยบรรเทาผู้ประกอบการได้

ด้าน กลุ่มที่ 3 อ้างผลกระทบจากนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดวันละ 300 บาท ได้สร้างภาระต้นทุนอย่างมาก แม้บางกลุ่มสินค้าทดลองปรับขึ้นราคาสินค้าให้สอดคล้องตามต้นทุน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเพราะผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า และส่วนใหญ่ใช้เทคโนโลยีทดแทนแรงงานได้ สุดท้ายก็ต้องปรับราคาลงมาในระดับเดิมเพื่อประคองกิจการจนกว่าเศรษฐกิจกลับมาดี

อ้างค่าครองชีพสูงปรี๊ด

กลุ่มที่ 4 แกล้งทำเป็นเนียนหรืออ้างว่ามีภาระค่าครองชีพสูง จึงไม่สามารถปรับลดราคาสินค้าและบริการได้ โดยเฉพาะกลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ขณะที่อาชีพบริการบางอย่างยังแอบขึ้นราคาอีก เช่น ร้านตัดผม และร้านเสริมสวยในบางพื้นที่ที่ปรับขึ้นตั้งแต่ 10-20 บาทขึ้นไปเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 58

กลุ่มที่ 5 อ้างเหตุผลของราคาน้ำมัน ที่เอกชนกังวลคือ ตอนนี้เป็นปัญหาเรื่องความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจระหว่างรัสเซียกับสหรัฐอเมริกา หรือกลุ่มโอเปกกับสหรัฐ ทำให้เกิดการกดราคาน้ำมันให้ลดลงผิดปกติ หากประเทศเหล่านี้จับมือกันเมื่อใด ราคาน้ำมันอาจปรับขึ้นจากระดับ 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล มาอยู่ในระดับ 90-100 ดอลลาร์ฯ แบบกะทันหันก็ได้ ซึ่งหากปรับลดราคาสินค้าแล้วเมื่อน้ำมันตลาดโลกขึ้นอย่างรวดเร็วผู้ประกอบการไม่สามารถปรับขึ้นราคาสินค้าได้ทันที เพราะกว่าจะขออนุญาตปรับขึ้นราคากับกรมการค้าภายในต้องใช้เวลานานกว่าจะพิจารณาอนุมัติ

กลุ่มที่ 6 อ้างเหตุผลให้รัฐบาลไปไล่บี้หมวดสินค้าและบริการของรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของปรับลดราคาให้หมดก่อนจึงไล่บี้เอกชน เพราะหากสินค้าและบริการของรัฐบาลไม่ลดลงก็ไม่ยุติธรรมกับภาคเอกชน

กลุ่มสุดท้ายเป็นเหตุผลของร้านอาหารจานด่วน และร้านอาหารตามแหล่งต่าง ๆ อ้างว่าร้านส่วนใหญ่ใช้แก๊สหุงต้มซึ่งได้ผล กระทบจากรัฐบาลปรับโครงสร้างราคา ทำให้แก๊สปรับตัวสูงขึ้นจนเป็นต้นทุน รวมถึงได้รับผลกระทบจากค่าแรงวันละ 300 บาท และเรื่องของการซื้อวัตถุดิบ โดยทางร้านอ้างว่าในอดีตขายข้าวแกงได้วันละหลายจาน เมื่อซื้อวัตถุดิบมาปรุงอาหารก็จะซื้อครั้งละมาก ๆ ก็จะช่วยลดราคาได้ แต่ปัจจุบันขายได้น้อยจาน เมื่อซื้อวัตถุดิบมาปรุงอาหารในปริมาณน้อย ๆ ก็จะต้องซื้อแพงกว่าตอนที่ซื้อเยอะ

พาณิชย์หมดท่าไล่บี้

อย่างไรก็ตามเหตุผลต่าง ๆ ที่อ้างมาก็ยอมรับว่าบางข้อก็น่าเห็นใจผู้ประกอบการจริง ๆ เพราะสินค้าหลายอย่างไม่ได้ปรับราคามานับ 10 ปี ขณะที่บางเหตุผลก็ดูแล้วฟังไม่ขึ้น เพียงแค่พ่อค้าอยากจะฉกฉวยกำไรให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดังนั้นจากนี้ไปก็คงต้องรอดูความเอาจริงเอาจังกับรัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ว่าจะมีน้ำยาแค่ไหนที่จะเข้าไล่บี้ผู้ค้าที่ชอบฟันกำไรเกินงาม ทั้งนี้เท่าที่ติดตามมาตรการของภาครัฐที่เข้ามาดูแลเรื่องนี้พบว่าแม้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จะคอยไล่บี้และเดินหน้าขอความร่วมมือหรือขู่ให้ผู้ประกอบการปรับลดราคาสินค้าลง แต่สุดท้ายก็ถูกผู้ประกอบการบ่ายเบี่ยง และสารพัดเหตุผล ทั้ง ๆ ที่หลาย ๆ สินค้าที่น่าจะปรับลดราคาได้แล้ว

พึ่งโครงการธงฟ้าช่วย

ส่วนมาตรการที่กระทรวงพาณิชย์นำมาหากินในการเข้าไปดูแลราคาสินค้าอาหารต่าง ๆ ก็มีตั้งแต่เรื่องของการกำหนดราคาแนะนำหมู ไก่ ไข่ไก่ แก๊สหุงต้ม และขอความร่วมมือห้างสรรพสินค้าและห้างค้าปลีกค้าส่งให้ลดค่าเช่าหรือค่าส่วนแบ่งรายได้ลง เพื่อดูแลไม่ให้อาหารจานด่วนปรับขึ้นราคาหรือให้ปรับลดราคาตามสินค้าอื่น ๆ

นอกจากนี้ก็ยังมีงานธงฟ้าและโครงการหนูณิชย์...พาชิม ร้านอาหารปรุงสำเร็จ เพื่อคืนความสุขทุกจานให้ประชาชน รวมถึงการส่งเสริมจัดตลาดนัดชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อหวังที่จะกดดันให้ราคาสินค้าปรับลดลงตามมาด้วย แต่ปัญหาคือชาวบ้านได้รับประโยชน์ปีละครั้งสองครั้งเอง สุดท้ายก็ไปซื้อของแพงจากพ่อค้าทั่วไปอีก

แม้สินค้าจะปรับลดลงมาบ้างแต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่ถูกใจกับการแก้ปัญหาของรัฐบาล เพราะสินค้าชีวิตประจำวันไม่ได้ลดลงตามราคาน้ำมัน ทั้ง ๆ ที่ น้ำมันดีเซลลดลงมาแล้ว 4.5 บาทต่อลิตร ดังนั้นรัฐบาลน่าจะมีมาตรการที่เข้มข้นให้พ่อค้าแม่ค้าเกรงใจกันบ้าง...ไม่ใช่เห็นรัฐบาลเป็นแค่เสือกระดาษ.

มนัส แวววันจิตร


ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 20 มกราคม 2558