Page 1 of 1

?พรบ.มั่นคงไซเบอร์ฯเปิดทางรัฐเข้าถึงข้อมูลได้ทุกเรื่อง?

Posted: 21 Jan 2015, 10:55
by brid.ladawan
?พรบ.มั่นคงไซเบอร์ฯเปิดทางรัฐเข้าถึงข้อมูลได้ทุกเรื่อง?
เปิดร่างพ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ฯ ให้ตั้ง "กปช." มีอำนาจ "เข้าถึงข้อมูล" ได้ทุกเรื่อง เพื่อความมั่นคงของรัฐได้ แถมมีอำนาจเรียกหน่วยงานรัฐ-บุคคล มาให้การ พร้อมสั่ง "หน่วยงานรัฐ-เอกชน" ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ที่ครม.เห็นชอบในหลักการในวันนี้ (20 ม.ค.) นั้น มีทั้งหมด 43 มาตรา โดยนิยามคำว่า "ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์" หมายความว่ามาตรการและการดำเนินการที่กำหนดขึ้น เพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศให้สามารถปกป้องป้องกัน หรือรับมือกับสถานการณ์ด้านภัยคุกคามทางไซเบอร์ ที่ส่งผลกระทบหรืออาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการให้บริการ หรือการประยุกต์ใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์อินเทอร์เน็ต โครงข่ายโทรคมนาคม หรือการให้บริการโดยปกติของดาวเทียมอันกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ซึ่งรวมถึงความมั่นคงทางการทหาร ความสงบเรียบร้อยภายในประเทศและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

โดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการตามพ.ร.บ.นี้ ซึ่งได้ระบุเหตุผลในการออกร่างพ.ร.บ.นี้ว่า ปัจจุบันภัยคุกคามทางไซเบอร์มีเพิ่มมากและรุนแรง อาจส่งผลกระทบสร้างความเสียหายต่อประเทศได้ ดังนั้นจึงควรตั้งคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กปช.) มีรมว.ดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธาน มีกรรมการโดยตำแหน่ง 4 คนและคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 7 คน ให้เลขาธิการกปช.เป็นกรรมการและเลขานุการโดยตำแหน่ง กปช.มีหน้าที่หลักในการจัดทำแผนปฏิบัติการแนวทางการตอบสนองและรับมือภัยคุกคามไซเบอร์และเป็นศูนย์การดำเนินการ เมื่อมีเหตุการณ์ความมั่นคงอย่างทันท่วงทีโดยให้ตั้งสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ

ทั้งนี้ในหมวด 5 เกี่ยวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ ในมาตรา 35 ระบุว่า เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจากเลขาธิการ มีอำนาจหน้าที่ 1.มีหนังสือสอบถามหรือเรียกให้หน่วยงานรัฐบุคคลใดๆ มาให้ถ้อยคำ ส่งคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือส่งบัญชี เอกสารหลักฐาน เพื่อตรวจสอบหรือให้ข้อมูล 2.มีหนังสือให้หน่วยงานราชการหรือเอกชนดำเนินการ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงานของกปช.

และ 3.เข้าถึงข้อมูลการติดต่อสื่อสารทั้งทางไปรษณีย์ โทรเลขโทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์เครื่องมือหรืออุปกรณ์การสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศ และในมาตรา 36 ระบุว่าห้ามพนักงานเจ้าหน้าที่เปิดเผย หรือ ส่งมอบข้อมูลที่ได้มาตามมาตรา 35 ให้แก่บุคคลใด ผู้ใดฝ่าฝืนระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท

นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวจะใช้ก็ต่อเมื่อมีการโจมตีทางไซเบอร์ที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ เช่น กระทบต่อระบบไฟฟ้า หรือระบบอินเตอร์เน็ตขนาดใหญ่ เจ้าหน้าที่ที่รับมอบหมายถึงจะมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.นี้ได้และจะมีกฎหมายบังคับการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวหากกระทำผิดก็จะถูกดำเนินคดีอาญาต่อไป.

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 20 มกราคม 2558