กม.ไซเบอร์เพื่อเศรษฐกิจ หรือดิจิตอลเพื่อ "ล้วงตับ"

Post Reply
brid.ladawan
Posts: 7045
Joined: 29 Mar 2013, 13:36

กม.ไซเบอร์เพื่อเศรษฐกิจ หรือดิจิตอลเพื่อ "ล้วงตับ"

Post by brid.ladawan »

กม.ไซเบอร์เพื่อเศรษฐกิจ หรือดิจิตอลเพื่อ "ล้วงตับ"

ความมุ่งหมายของรัฐบาลในการผลักดัน "เศรษฐกิจดิจิตอล" เพื่อเป็นพลังด้านบวกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระยะข้างหน้า

แม้สอดคล้องกับกระแสหลักของโลกปัจจุบัน แต่ชุดกฎหมายกว่าสิบฉบับที่จะออกมารองรับก็กำลังผู้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า "ส่งเสริม" หรือ "บอนไซ" เศรษฐกิจดิจิตอลกันแน่

โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ให้อำนาจคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ หรือ กปช. เข้าถึงข้อมูลการสื่อสารหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอย่างกว้างขวาง

ด้วยข้ออ้างครอบจักรวาล "เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อความมั่นคงของชาติ" กปช.สามารถเจาะล้วงข้อมูลส่วนบุคคลได้ทุกรูปแบบ ตั้งแต่ไปรษณีย์ โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ เครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการสื่อสาร โดยไม่ต้องขออำนาจศาล

ทำให้มีคำถามว่าการให้อำนาจกว้างและลึกเช่นนี้ เท่ากับเปิดช่องให้เกิดการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างมหาศาลหรือไม่

"ปรเมศวร์ มินศิริ" เจ้าของเว็บไซต์กระปุกดอทคอม และอดีตนายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ให้ความเห็นว่า กฎหมายฉบับดังกล่าวให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐสูงเกินไป ในการเข้าไปตรวจสอบ แก้ไข จัดการข้อมูลทั้งของหน่วยงานรัฐ เอกชน ไปจนถึงประชาชนทั่วไป โดยไม่จำเป็นต้องขอหมายหรือคำสั่งศาล

เพราะหากต้องการดูแลเรื่องความมั่นคงจริง ในกฎหมายควรเน้นการเอาผิดในส่วนของบทลงโทษ แต่ส่วนนี้หายไป และมาให้อำนาจครอบจักรวาลแก่เจ้าหน้าที่รัฐแทน

กฎหมายฉบับจะส่งผลอย่างมากต่อการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลหากรัฐบาลมีอำนาจล้วงข้อมูลของภาคเอกชนได้ ผู้ประกอบการจากต่างประเทศที่จะพิจารณาเข้ามาตั้งสำนักงานในไทย อาจเลือกไปประเทศอื่นแทน หรือบริษัทไทยเองที่ต้องการรักษาความลับทางธุรกิจ ก็อาจเลือกย้ายฐานการทำงานไปยังต่างประเทศ สิ่งเหล่านี้หากเกิดขึ้นจริงก็จะสร้างความเสียหายอย่างยิ่ง

"ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ หากไม่แก้ไข จากผลลัพธ์ที่ดูก็พบว่าไม่มีข้อดีเลย เชื่อว่าท้ายสุดหากมีรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นเมื่อไร จะต้องมีคนไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องที่สร้างการกระทบสิทธิส่วนบุคคลนี้แน่ แต่ศาลก็คงตัดสินว่าตอนออก พ.ร.บ.นี้ ไม่มีรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นอย่างไรเสียคนไทยก็ต้องทนใช้ พ.ร.บ.ไซเบอร์นี้ต่อไป"

ขณะที่ "ยิ่งชีพ อัชชานนท์" ผู้จัดการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ILaw บอกว่า ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ฯ อยู่ในชุดกฎหมายความมั่นคงดิจิตอล 10+3 ฉบับ คือมี 13 ฉบับที่เกี่ยวข้องกัน มีหลายมาตราที่ถือว่าโอเค แต่บางมาตราก็เข้าข่ายน่ากลัว และละเมิดสิทธิ

มาตราที่คิดว่าดีขึ้นกว่าเก่าคือ เรื่องการโพสต์ข้อมูลอันเป็นเท็จ แล้วมันถูกตีความมาใช้กับความผิดฐานหมิ่นประมาท เอามาใช้ในการฟ้องร้องสื่อมวลชนที่รายงานข่าวเพื่อตรวจสอบการคอร์รัปชั่นในหลายคดี แต่ฉบับที่แก้ไขใหม่จะมีความชัดเจนว่าจะใช้เฉพาะการโพสต์ข้อมูลอันเป็นเท็จ เพื่อหลอกลวงเอาทรัพย์สิน ในลักษณะฉ้อโกง

ส่วนที่น่ากลัว "ยิ่งชีพ" ระบุว่าคือประเด็น "ภาพโป๊เด็ก" ยังมีแง่มุมที่ต้องให้คำนิยามอย่างชัดเจนหรือมีความรัดกุมกว่านี้ เพราะมีการบัญญัติว่าผู้ใดจัดทำเผยแพร่หรือครอบครองจัดหาภาพลามกอนาจารของบุคคลอายุไม่เกิน 18 ปี เป็นความผิดจำคุกสูงสุดไม่เกิน 6 ปี จะมีปัญหาที่ว่าหากจัดทำเพื่อการเผยแพร่ จึงจะมีความผิด ถ้าครอบครองก็ต้องเป็นการครอบครองเพื่อการค้า แต่ถ้าครอบครองเฉยๆ ไม่เป็นไร ตรงนี้จะมีปัญหาเรื่องของเจตนา หากมีการพบภาพภาพโป๊เด็กในมือถือ แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาเอาไว้ทำอะไร เจ้าตัวก็ต้องบอกว่าเอาไว้ดูเอง อีกมุมหนึ่งก็เปิดช่องให้มีการยัดข้อหาได้ด้วย

มาถึงประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก กับการให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการเข้ามาล่วงล้ำในพื้นที่สิทธิเสรีภาพของประชาชน "ยิ่งชีพ" ชี้เป้าไปยังมาตรา 34 และ 35 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ฯ ที่สามารถสั่งให้เอกชนทำหรือไม่ทำอะไรก็ได้ และยังให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการเข้าถึงข้อมูลประชาชนอย่างง่ายดาย

"มาตรา 34 บอกว่า เจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์จะมีอำนาจในการสั่งให้เอกชนทำอะไรก็ได้ หรือไม่ทำอะไรก็ได้ ซึ่งคาดว่ามาตรานี้มีที่มาจากปัจจุบันที่เฟซบุ๊กหรือกูเกิลมีนโยบายไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐในการเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้งานซึ่งรัฐมีสิทธิขอข้อมูลจากเฟซบุ๊กว่าผู้ใช้แต่ละแอ๊กเคานต์ชื่ออะไรอยู่ที่ไหน ใช้งานที่ไหน ส่วนมาตรา 35 ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ ในการดักข้อมูลประชาชน และแฮกระบบด้วย" ยิ่งชีพสรุป

ด้าน "อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล" นักวิจัยโครงการวิจัยความเป็นส่วนตัวออนไลน์ เครือข่ายพลเมืองเน็ต ก็บอกว่าร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ฯ มีปัญหา เพราะให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการดักฟังข้อมูล เป็นการอนุญาตให้รัฐเข้าถึงข้อมูลได้โดยง่าย โดยไม่มีกลไกการตรวจสอบ

เปรียบเทียบกับการตรวจสอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ถือว่าโอเคมากกว่า เพราะอย่างน้อยก็มีกลไกศาล คือ ก่อนจะไปครวจค้น ต้องจัดทำแผน และต้องอธิบายว่าทำไมถึงมีความจำเป็นต้องดักฟังให้ศาลพิจารณา แต่มาตรา 35 ของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ สามารถตัดสินใจทำได้เองเลย โดยไม่มีกลไกมาควบคุมตรวจสอบ

"ผมคิดว่าประเด็นสำคัญคือ มันอาจไม่ใช่เรื่องสอดส่องอย่างเดียว เพราะมีการพูดถึงว่าคณะกรรมการสามารถเรียกดูข้อมูลได้ แปลว่ารัฐสามารถเรียกดูข้อมูลขององค์กรต่างๆ รวมถึงเอกชนได้ง่ายขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐเข้าถึงไม่ได้"

นักวิจัยหนุ่มยังตั้งข้อสังเกตว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวอาจเป็นความพยายามในการทำให้ประกาศของ คสช. กลายเป็นพระราชบัญญัติ ซึ่งทำให้หน่วยงาน "ความมั่นคง" ดำรงอยู่ในนามของ "ดิจิตอล"

"ส่วนหนึ่งที่ห่วงในเรื่องการแปลงรูป คสช. เข้าไปในโครงสร้างกฎหมายเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิตอล เป็นการเอาเชื้อของคณะรัฐประหารใส่เข้าไปในกระทรวงใหม่ และต่อให้เรามีรัฐบาลพลเรือน หน่วยงานความมั่นคงก็จะอยู่เต็มไปหมดด้วยชื่อดิจิตอล" อาทิตย์ทิ้งท้าย

ที่มา : นสพ.มติชน
23 ม.ค. 2558
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”