Page 1 of 1

เปิดโรดแม็พแก้ขยะอุตสาหกรรม ยึด'ญี่ปุ่นโมเดล' กำจัดทั้งระบบ

Posted: 03 Feb 2015, 08:57
by brid.ladawan
เปิดโรดแม็พแก้ขยะอุตสาหกรรม ยึด'ญี่ปุ่นโมเดล' กำจัดทั้งระบบ
"ไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา มีการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นในระยะยาว ขยะจากอุตสาหกรรมจะมากเพิ่มขึ้น


"ไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา มีการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นในระยะยาว ขยะจากอุตสาหกรรมจะมากเพิ่มขึ้น หากไม่ทำแผนระยะยาว เชื่อว่า ในอนาคตจะมีปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน”

สถานการณ์ข้างต้น เป็นสิ่งที่ “จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช” รมว.อุตสาหกรรม เล็งเห็นถึงปัญหาสำคัญในการกำจัดขยะอุตสาหกรรม ที่นับวันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะทุกวันนี้ปริมาณขยะ หรือกากของเสียอุตสาหกรรมของไทยแต่ละปีมีสูงถึง 30 ล้านตัน ซึ่งมีกระบวนการกำจัดทั้งการเผา การฝัง และรีไซเคิล ในจำนวนนี้มีขยะอุตสาหกรรมมีพิษ ปริมาณ 3 ล้านตัน แต่จากข้อมูลล่าสุดในปี 57 มีการดึงเข้าระบบได้เพียง 1 ล้านตัน ในส่วนนี้มีการกำจัดที่ถูกต้องตามขั้นตอนเพียงแค่ครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งยังกำจัดไม่ถูกต้อง

ด้วยเหตุผลที่ว่า... การกำจัดขยะมีพิษมีค่าใช้จ่ายตันละ 10,000 กว่าบาท สูงกว่ากำจัดขยะอุตฯทั่วไปที่ 3,000–4,000 บาท จึงทำให้เอกชนบางรายแอบนำขยะมีพิษไปกำจัดในขยะอุตฯทั่วไป

ที่สำคัญ! โรงกำจัดขยะอุตสาหกรรม ในขณะนี้มีเพียงไม่กี่แห่ง เนื่องจากยังไม่คุ้มค่าในการลงทุน เพราะต้องใช้งบลงทุนเป็นจำนวนมาก แต่ขยะที่เข้าสู่ระบบกลับมีปริมาณไม่มาก และการตั้งโรงงานกำจัดขยะอุตฯ อย่างเป็นระบบ ส่วนใหญ่ถูกต่อต้านจากคนในพื้นที่ที่เกรงว่าจะได้รับมลพิษจากการกำจัดขยะ

ญี่ปุ่นต้นแบบกำจัดขยะสมบูรณ์

กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้เร่งหาแนวทางในการหาวิธีกำจัดขยะอุตสาหกรรมอย่างถูกวิธี เพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดย “จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช” รมว.อุตสาหกรรม ได้พาคณะที่เกี่ยวข้องทั้งกรมโรงงานอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาห กรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ศึกษาการกำจัดขยะอุตฯ จากประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกอย่าง “ญี่ปุ่น” ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่มีกระบวนการกำจัดขยะอุตสาหกรรมที่มีปริมาณมากอย่างถูกวิธี และมีประสิทธิภาพ โดยไม่มีปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

การกำจัดขยะของประเทศญี่ปุ่น จะแบ่งความรับผิดชอบแต่ละเมือง ห้ามนำขยะข้ามเขตกัน เช่น ที่ เมืองคามิสุ จะมีการใช้ถุงแยกขยะแต่ละประเภท และกำหนดสถานที่ทิ้งของขยะแต่ละประเภทอย่างชัดเจนว่า ขยะประเภทไหน ทิ้งตรงจุดไหน เพื่อกำจัดอย่างถูกต้อง ตั้งแต่ขยะรีไซเคิล ขยะมีพิษ ขยะอันตราย ขยะเผาได้ ขยะเผาไม่ได้ ขยะขนาดใหญ่

รัฐร่วมลงทุนสร้าง 1 ใน 3

ทั้งนี้ในเมืองคามิสุซึ่งมีพื้นที่ไม่ใหญ่มาก ได้รวมขยะชุมชน และขยะอุตสาหกรรมกำจัดในสถานที่เดียวกัน ใช้เงินทุนประมาณ 960 ล้านบาท สามารถเผาขยะได้ 200 ตันต่อวัน โดยรัฐบาลกลางลงทุนให้ไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3 หรือประมาณ 440 ล้านบาท ที่เหลือเป็นภาคเอกชน ลงทุนประมาณ 520 ล้านบาท ซึ่งเตาเผาขยะดังกล่าวใช้เทคโนโลยีขั้นสูงใช้มาเกือบ 14 ปี ยังไม่มีปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม และยังสามารถนำขยะที่เผาไปผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าได้ 3,300 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมงได้อีกด้วย

ส่วน เมืองโจะนิจิมะโอตะ มีการสร้าง “โตเกียว ซูเปอร์ อีโค ทาวน์” เป็นพื้นที่กำจัดขยะอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งพื้นที่ฝังกลบ และเตาเผากากอุตฯ ขนาดใหญ่ สามารถกำจัดขยะอุตสาหกรรมได้ถึงวันละ 550 ล้านตันต่อวัน เฉพาะค่าเครื่องจักรใช้งบประมาณลงทุน 6,000 ล้านบาท ซึ่งมีรูปแบบกำจัดขยะอุตสาหกรรมทั่วไป และกากอุตสาหกรรมมีพิษอย่างชัดเชน เช่น กากมีพิษต้องเผาทั้งกล่อง ส่วนกากอุตสาหกรรมทั่วไป จะรีไซเคิล และกำจัดกากให้เป็นรูปแบบแท่งเล็ก ๆ ก่อนการเผา เพื่อป้องกันปัญหามลพิษ ซึ่งราคาค่ากำจัดอยู่ใกล้เคียงกับไทย คือ ขยะมีพิษประมาณ 10,000 บาทต่อตัน ขยะอุตฯ ทั่วไป ประมาณ 3,000–4,000 บาทต่อตัน มีการควบคุมมลพิษอย่างเข้มงวด ยังสามารถนำขยะที่เผาแล้วมาผลิตไฟฟ้าได้ถึง 15,000 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง และตั้งเป้าหมายผลิตให้ได้ 23,000 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง

จี้สร้างโรงกำจัดทุกจังหวัด

หลังจากศึกษาการกำจัดขยะของประเทศญี่ปุ่นแล้ว “จักรมณฑ์” มองว่า ไทยควรทำโรงงานกำจัดขยะอุตสาหกรรมและชุมชนไว้ด้วยกัน โดยใช้การกำจัดขยะจากเตาเผาขนาดใหญ่ขนาด 200 ตันต่อวันขึ้นไป และพื้นที่ฝังกลบในทุกจังหวัดใหญ่ ๆ ส่วนพื้นที่ที่มี เขตอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก เช่น จังหวัดในภาคตะวันออก ควรมีโรงงานกำจัดขยะอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ ซึ่งจากการหารือร่วมกับรมว.สิ่งแวดล้อม ของประเทศญี่ปุ่น มีข้อมูลที่น่าสนใจคือ รัฐบาลกลางจะให้เงินสนับสนุนในการสร้างพื้นที่กำจัดขยะ 1 ใน 3 ของงบประมาณลงทุน และมีกฎหมายที่ชัดเจน ห้ามนำขยะข้ามเมือง แต่ละเมืองต้องรับผิดชอบในการกำจัดขยะตัวเอง ยกเว้นได้รับอนุญาตจากเมืองข้าง ๆ ทำให้การกำจัดขยะของญี่ปุ่นเป็นไปตามระบบ ไม่ใช่ว่า ขยะของเมืองนี้ แล้วจะแอบไปทิ้งอีกเมืองหนึ่ง จะมีบทลงโทษทันที

ส่วนการกำจัดขยะอุตฯ ของไทย ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงอุตฯ โดยตรง ตนได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมทำแผนสั้น กลาง ยาว อย่างยั่งยืน เพื่อนำเสนอที่ประชุม ครม. รับทราบ และจัดทำเป็นแผนที่ชัดเจน เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญในการกำจัดทั้งขยะชุมชน และขยะอุตฯ

ซึ่งปัญหาตอนนี้ในการกำจัดขยะอุตฯ ของไทย ไม่ได้อยู่ที่ตัวกฎหมาย เพราะกำหนดบทลงโทษที่ชัดเจนแล้ว แต่อยู่ที่การดำเนินการให้เข้มงวด ที่ผ่านมาหลังจากกำชับกรมฯ โรงงาน ก็มีการดึงขยะอุตฯ ได้มากขึ้น โดยเฉพาะขยะพิษ และปัญหาใหญ่ที่ต้องดำเนินการ คือ ทำให้คนในพื้นที่ยอมรับ ไม่ให้เกิดการต่อต้าน

เสนอ ครม.แก้ขยะยั่งยืน

ด้าน “พสุ โลหารชุน” อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ระบุว่า ตอนนี้กรมฯกำลังทำแผนกำจัดขยะอุตฯ อย่างยั่งยืน ตามนโยบายของรมว.อุตสาหกรรม ซึ่งเตรียมนำเสนอให้ ครม. ในเดือนก.พ.นี้ แบ่งเป็นแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว 5-10 ปี โดยระยะสั้น เป็นแผนต่อเนื่องจากปี 57 จะผลักดันให้โรงงานอุตสาหกรรมนำกากอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบการกำจัดเพิ่มขึ้น โดยจะตรวจสอบโรงงานเป้าหมายเพิ่มเป็น 10,000 แห่ง เพื่อนำตัวอย่างการกำจัดขยะ เปรียบเทียบกับโรงงานทั่วประเทศที่มีกว่า 80,000 แห่ง และตั้งเป้าหมายดึงขยะอุตฯมีพิษให้ได้ 1.5 ล้านตัน จากปี 57 ได้ 1 ล้านตัน โดยจะเข้มงวดการต่อใบอนุญาตประกอบการกิจการ (รง.4) ต้องแสดงข้อมูลในการนำกากอุตสาหกรรมไปกำจัดในรอบปีที่ผ่านมา

ส่วนการดำเนินงานระยะกลาง จะไปสำรวจพื้นที่เหมืองแร่เก่าที่หยุดการผลิตไปแล้ว นำมาปรับปรุงให้เป็นบ่อกำจัดขยะอุตสาหกรรม โดยมีพื้นที่เป้าหมายเป็นเหมืองแร่เก่าในภาคเหนือ เนื่องจากมีเหมืองที่เป็นหลุมขนาดใหญ่อยู่มาก และอยู่ห่างไกลชุมชน รวมทั้งจะร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่นในการถ่ายทอดเทคโนโลยีเตาเผาขยะให้กับไทย โดยองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (เนโดะ) ของญี่ปุ่น ได้มอบเตาเผาขยะอุตสาหกรรม และขยะชุมชนให้ไทย มูลค่าหลายพันล้านบาท มีกำลังการเผาขยะ 500 ตันต่อวัน ถือได้ว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในไทย จากปัจจุบันไทยมีโรงงานเผาขยะอุตสาหกรรมของบริษัทอัคคีปราการที่มีกำลังเผาเพียง 50 ตันต่อวัน

ด้านแผนระยะยาว เตรียมผลักดันให้ก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมกำจัดขยะอุตสาหกรรม และการรีไซเคิลแบบครบวงจรในภูมิภาคเพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม และชุมชนในอนาคต

ทั้งหลายทั้งปวง... หากทำได้จริง จะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยในระยะยาวอย่างแน่นอน แต่เรื่องขยะ แม้หลายคนมองเป็นเรื่องไร้ค่า... แต่ความจริงกลับเต็มไปด้วยผลประโยชน์!! ต้องติดตามกันต่อไป ทุกอย่างจะเดินหน้าหรือสะดุด.

จิตวดี เพ็งมาก

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558