Page 1 of 1

แก้ปัญหาบริการแท็กซี่กวนใจ ข้อแนะนำเบื้องต้นก่อนใช้รถ

Posted: 03 Feb 2015, 14:36
by brid.ladawan
แก้ปัญหาบริการแท็กซี่กวนใจ ข้อแนะนำเบื้องต้นก่อนใช้รถ
สารพัดปัญหาการบริการแท็กซี่ไทยที่หมักหมมมานาน กำลังกลายเป็นปมร้อนในโลกโซเชียลมีเดีย


สารพัดปัญหาการบริการแท็กซี่ไทยที่หมักหมมมานาน กำลังกลายเป็นปมร้อนในโลกโซเชียลมีเดีย และปัญหาคาใจในชีวิตจริงของคนไทย ที่กำลังรอให้ภาครัฐและโชเฟอร์แท็กซี่ที่ยังประพฤติตัวไม่ดีเร่งแก้ไขปรับปรุงบริการให้ดีขึ้นโดยเร็ว!

ปัญหาเหล่านี้....นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งในหน้าหนังสือพิมพ์ รวมถึงผ่านการร้องเรียนสายด่วน 1584 ซึ่งในปีล่าสุดมีเรื่องร้องเรียนทะลุ 33,000 ครั้ง เพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว จากเมื่อ 2 ปี ที่สำคัญยังครองแชมป์ปัญหาร้องเรียนสูงในบรรดารถสาธารณะอีกด้วย

“ทีมข่าวเศรษฐกิจ เดลินิวส์” จึงขอรวบรวมข้อแนะนำการใช้รถแท็กซี่เบื้องต้นมาให้ติดตามกัน เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาจากการใช้แท็กซี่ให้น้อยลงด้วยตัวเอง

ปมค่าโดยสารแพงผิดปกติ

เริ่มจากปัญหาที่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนจำนวนมาก คือ ค่าโดยสารมิเตอร์แพงผิดปกติ เรื่องนี้ข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบกระบุว่า ปัญหามิเตอร์ผิดปกติ ส่วนหนึ่งเป็นรถแท็กซี่เก่าที่ไม่ผ่านการตรวจสภาพรถ และไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นค่าโดยสารใหม่ ไปลักลอบนำมิเตอร์เดิมไปปรับจูนให้เท่ากับค่าโดยสารใหม่ แม้วิธีนี้มีผลกระทบต่อรายจ่ายผู้โดยสารไม่มาก แต่ก็ทำให้ผู้โดยสารได้รับบริการที่ไม่มีมาตรฐานดีพอกับค่าแท็กซี่ที่เพิ่มขึ้น

อีกส่วนเป็นแท็กซี่ที่มีการนำมิเตอร์ใม่ได้มาตรฐานออกมาให้บริการ โดยในกรณีแบ่งเป็นกรณีคนขับไม่จงใจ ซึ่งเกิดจากอุปกรณ์หรือแผงวงจรภายในมิเตอร์ชำรุด หรือระบบไฟฟ้า หรืออุปกรณ์ของเครื่องยนต์ตัวเฟืองไมล์หรือปลั๊กไมล์เสื่อมสภาพ หากพบก็ขอให้เจ้าของรถแท็กซี่ไปเร่งแก้ไขจูนใหม่โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และไม่ถือว่ามีความผิด

แต่หากผู้ขับรถแท็กซี่...จงใจปรับแต่งมิเตอร์เพื่อฉวยโอกาสขึ้นราคา หรือผู้ขับแท็กซี่รู้แล้วว่าเครื่องมิเตอร์มีปัญหาแต่ไม่ยอมไปซ่อมแซมมีโทษความผิดตาม พ.ร.บ.รถยนต์ ปรับไม่เกินครั้งละ 2,000 บาท และหากทำผิดซ้ำซาก 2 ครั้งใน 1 เดือน มีสิทธิถูกพักหรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถสาธารณะได้ทันที
นอกจากนี้ยังมีรายงานล่าสุดว่า แท็กซี่บางรายได้ลักลอบใช้มิเตอร์ 2 ตัวสลับกัน ตัวหนึ่งผ่านการรับรองกฎหมายถูกต้อง อีกตัวเป็นมิเตอร์ปลอมที่โกงค่าโดยสาร ซึ่งถอดสลับเปลี่ยนได้โดยใช้เวลาไม่ถึง 1 นาที กลุ่มแท็กซี่เหล่านี้นิยมใช้มิเตอร์ปลอมช่วงกลางคืน โดยเฉพาะบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต หรือสถานีรังสิตเพื่อรับผู้โดยสารขาจร รวมถึงจอดรอตามผับตามบาร์เพื่อรับผู้โดยสารที่มึนเมา

วิธีสังเกตมิเตอร์ปลอม

คำถามที่ตามมา เมื่อขึ้นรถแท็กซี่ไปแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่ารถคันใดใช้มิเตอร์ปลอม เริ่มจาก...กลุ่มรถแท็กซี่ไม่ผ่านการตรวจสภาพรถ หากยังคิดค่าโดยสารเท่ากับรถแท็กซี่ใหม่ แต่มีสภาพรถเก่าเบาะขาด แอร์ไม่เย็น กลิ่นเหม็น และไม่มีสติกเกอร์สีฟ้าเขียนเลขทะเบียนรถ พร้อมข้อความ “ผ่านการตรวจยกระดับและปรับจูนมิเตอร์” ติดอยู่ภายในรถ ให้เข้าข่ายว่าใช้มิเตอร์ผิดปกติ ต่อมาให้สังเกตตัวเครื่องมิเตอร์ หากผ่านการรับรองจากกรมการขนส่งทางบกถูกต้อง ต้องมีเส้นลวดที่ถูกปิดผนึกหรือซีลด้วยตะกั่ว 2 จุด

อีกวิธีที่ได้ผลดี ให้สังเกตการทำงานหน้าปัดมิเตอร์ โดยปกติหน้าจอแบ่งตัวเลขเป็น 3 ชุด ได้แก่ เลขบอกเวลารถติด เลขบอกระยะทาง และเลขบอกค่าโดยสาร ซึ่งหากเป็นมิเตอร์ที่ถูกต้องขณะรถกำลังวิ่ง ด้านหลังตัวเลขบอกระยะทางจะมีจุดเล็ก ๆ กะพริบตลอดเวลา และตัวเลขระยะทางจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่เมื่อใดที่รถหยุดวิ่งจุดกะพริบจะหายไปและตัวเลขระยะทางจะหยุดนิ่ง

หลังจากนั้น จุดกะพริบจะเปลี่ยนไปกะพริบหลังเลขบอกเวลารถติดแทน โดยเวลาที่ขึ้นคำนวณตามนาทีที่รถติด หรือเคลื่อนไหวไม่เกิน 6 กม.ต่อชั่วโมง เช่น หากรถติด 1 นาที ค่ามิเตอร์จะขึ้นครั้งละ 2 บาท แต่ถ้าแท็กซี่คันไหนจอดแล้วจุดด้านขวายังกะพริบอยู่ หรือถ้ารถกำลังวิ่งแต่จุดหลังเลขบอกเวลาก็กะพริบนั้น แสดงว่าคุณกำลังงานเข้า เจอรถโกงมิเตอร์อยู่

อีกหนึ่งวิธีไฮเทค... สำหรับคนที่มีสมาร์ทโฟน แนะนำให้โหลดแอพพลิเคชั่น Thailand Taxi Meter เพื่อใช้เป็นมิเตอร์พกพา ให้กดมิเตอร์พร้อมกับแท็กซี่เพื่อคำนวณค่าโดยสารผ่านสัญญาณจีพีเอส หากค่าโดยสารต่างกันมากให้สันนิษฐานได้ว่า อาจกำลังขึ้นรถที่ไม่ได้มาตรฐาน

ข้อแนะนำสถานการณ์ไม่พึงประสงค์

ต่อมา...หากโบกแท็กซี่ หรือขึ้นไปใช้บริการแล้วเจอสถานการณ์เหล่านี้ หรือปัญหาบริการที่ไม่พึงประสงค์ เราควรทำอย่างไรมีข้อแนะนำดังนี้

แท็กซี่ไม่มีเงินทอน – แนะนำก่อนโบกแท็กซี่ให้สำรวจเงินตัวเองก่อน หากมีแบงก์ใหญ่ 500 หรือ 1,000 บาท แนะนำให้หาแลก หรือไม่ก่อนใช้บริการก็สอบถามแท็กซี่ว่ามีเงินถอนพอหรือไม่ แต่หากจำเป็นจริง ๆ ระหว่างทางหรือก่อนถึงที่หมายให้จอดขอซื้อของเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อแตกเป็นแบงก์ย่อย

การปฏิเสธผู้โดยสาร - เรื่องนี้เป็นปัญหาคลาสสิกที่ต้องเจอแทบทุกคน สิ่งที่ทำได้ขอให้อดทน จดจำรายละเอียดรถให้มากที่สุดก่อน ก่อนโทรฯ ร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่รัฐบาล แต่หากแท็กซี่ไม่ต้องการรับจ้างขอให้แสดงป้าย “งดรับจ้าง” หรือป้าย “ส่งกะ” ให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้นโดนโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
กดมิเตอร์ใหม่ผิดกฎหมายหรือไม่ – กรณีนี้หลายคนอาจเคยหัวเสียเวลานั่งแท็กซี่แวะไปส่งเพื่อน หรือแวะรับของเล็กน้อยแต่...ถูกแท็กซี่กดมิเตอร์อัพค่าโดยสารใหม่ ตรงนี้หากแวะส่งคนหรือรับของระหว่างทาง แท็กซี่ห้ามกดมิเตอร์ใหม่ไม่เช่นนั้นถูกปรับ 1,000 บาท แต่หากแวะเข้าซอยและย้อนออกมา ตามกฎหมายให้สิทธิแท็กซี่กดมิเตอร์ใหม่ได้ แต่อย่างไรแล้วตามนิสัยคนไทยที่นิยมอะลุ้มอล่วย หากไม่ต้องการถูกกดมิเตอร์ใหม่ ก่อนใช้บริการให้ตกลงกับโชเฟอร์ให้เรียบร้อยก่อนเพื่อความสบายใจทั้ง 2 ฝ่าย

เจอแท็กซี่ขับอ้อมเส้นทาง – เมื่อขึ้นรถแท็กซี่แล้ว ขอให้แจ้งเส้นทางที่ต้องการไปกับคนขับก่อน แต่เกิดแจ้งแล้วแต่ยังจงใจขับไปทางอื่น โดยไม่มีเหตุผลโดยสมควร ให้บอกคนขับจอดลงและร้องเรียนปัญหานี้ได้กับภาครัฐ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท แต่หากถูกโชเฟอร์ไล่ลง หรือทิ้งผู้โดยสารระหว่างทาง มีโทษรุนแรงเพิ่มขึ้นเป็นทั้งจำทั้งปรับ

ไม่กดมิเตอร์ หรือเรียกเก็บค่าโดยสารอื่นทำได้หรือไม่ - ตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 ระบุว่า แท็กซี่มิเตอร์ทุกคันในราชอาณาจักรไทย จะต้องกดมาตรค่าโดยสาร หรือมิเตอร์ทุกครั้งก่อนให้บริการ จะอ้างคิดเหมาจ่ายไม่ได้ ส่วนค่าใช้จ่ายนอกเหนือจากค่ามิเตอร์ ปัจจุบันให้เรียกเก็บได้เฉพาะค่าธรรมเนียมบริการแท็กซี่สนามบิน 50 บาท และการเรียกผ่านศูนย์วิทยุสื่อสาร 20 บาทเท่านั้น คนขับไม่สามารถเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เพิ่มได้อีก หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท แต่ในกรณีที่เรียกเก็บค่าโดยสารเกินมิเตอร์จะมีโทษปรับรุนแรงสูงสุดถึง 5,000 บาท

กลับบ้านดึก คนเดียวทำอย่างไร? - เรื่องนี้...กรมการขนส่งทางบกแนะนำว่า ให้หาวิธีสื่อสาร เช่น ส่งข้อความแจ้งทะเบียนรถแท็กซี่ หรือหมายเลขคนขับไปให้เพื่อนหรือครอบครัว แต่หลายคนเคยเลือกใช้โทรศัพท์คุยกับเพื่อน แฟน เพื่อให้รับรู้ว่าสถานะ และเส้นทางขณะเดินทางตลอดเวลา หรือหากเจอคนขับมีพฤติกรรมไม่สุภาพ ขับประมาท หวาดเสียว ก่อความรำคาญ หรือใช้รถที่ผิดกฎหมายมาให้บริการ มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท ที่สำคัญในความผิดทุกกรณีหากผู้ขับแท็กซี่กระทำผิดซ้ำซากในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน จะมีโทษถึงการพัก และเพิกถอนใบอนุญาตขับรถแท็กซี่ตลอดชีวิต

วิธีร้องเรียนปัญหาแท็กซี่

อันดับแรก...หากพบปัญหาไม่น่าพึงใจ อย่าเพิ่งด่วนโกรธโมโห ไปทะเลาะกับโชเฟอร์ แต่ขอให้จดจำรายละเอียดของรถแท็กซี่ให้มากที่สุด ประกอบด้วย เลขทะเบียนรถ สีรถ บัตรและรหัสประจำตัว ชื่อคนขับ ซึ่งติดอยู่หน้าคนขับด้านซ้าย หรือหลังเบาะด้านหลัง รวมถึงวัน เวลา สถานที่เกิดเหตุ แต่หากยังไม่ทันได้ขึ้นรถขอให้จดจำเฉพาะทะเบียนรถ จากนั้นให้ร้องเรียนไปช่องทางต่าง ๆ ที่ภาครัฐจัดเตรียมไว้มี 4 ช่องทาง คือ สายด่วน 1584 สายด่วนกรมการขนส่งทางบก, สายด่วน 1197 กองบังคับการตำรวจจราจร , ผู้ใช้สมาร์ทโฟนสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น TAXI REPORTER เพื่อส่งเรื่องออนไลน์ได้ทันที หรือร้องเรียนผ่านเว็บไซต์กรมการขนส่งทางบก http://ins.dlt.go.th/cmpweb/

แม้ปัญหาแท็กซี่มีมากมาย... แต่ทุกฝ่ายไม่ควรมีอคติกับบริการแท็กซี่ เพราะเชื่อว่าภาพรวมการให้บริการแท็กซี่ส่วนใหญ่ ยังมีคนดีทำมาหากินโดยสุจริตอยู่จำนวนมาก แต่มีคนส่วนน้อยเท่านั้นที่กำลังทำลายภาพลักษณ์บริการรถแท็กซี่ให้เสียหายอยู่

ดังนั้น! ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องร่วมมือกันทั้งประชาชน ภาครัฐ รวมถึงคนขับแท็กซี่ด้วยกันเอง เพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้แท็กซี่ไทยเป็นบริการที่เป็นที่พึ่งของคนไทยอย่างแท้จริง...

ทีมเศรษฐกิจ

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558