Page 1 of 1

เงินสะพัดโครงข่ายบอร์ดแบรนด์ฯ1.7แสนล้าน

Posted: 03 Feb 2015, 14:46
by brid.ladawan
เงินสะพัดโครงข่ายบอร์ดแบรนด์ฯ1.7แสนล้าน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยรัฐ-เอกชนลงทุนโครงข่ายบอร์ดแบรนด์อินเตอร์เน็ตรองรับ 4 จี เงินลงทุนกว่า 173,000 ล้านบาท คาดผู้ใช้งานเพิ่มหนุนราคาอุปกรณ์เคลื่อนที่ลดลง


รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยแจ้งว่า ในช่วงปี 58 – 59 จะมียอดเงินลงทุนในโครงข่ายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตแบบมีสายทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชนกว่า 111,200 ล้านบาท และคาดว่าจะมีเงินลงทุนในโครงข่าย 3 จี และ 4 จี จากรัฐวิสาหกิจและผู้ประกอบการโทรคมนาคมและการสื่อสารรายใหญ่จากภาคเอกชนอีกประมาณ 62,000 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนในโครงข่าย4จี น่าจะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีในโครงข่าย 3 จี ที่มีอยู่เดิม รวมยอดเงินสะพัดจากการขยายโครงข่ายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตทั้งหมดกว่า 173,200 ล้านบาท

“จำนวนผู้ใช้งานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตโดยภาพรวมทั้งแบบมีสายและไร้สายจะเพิ่มขึ้นเป็น 34.6 – 36.0 ล้านคน ขยายตัวกว่า 19.3 – 24.1 % จากปี 57 และมีอัตราการเข้าถึงเพิ่มขึ้น 53.6 – 55.8 % คาดว่าจำนวนผู้ใช้งานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตแบบมีสายตามครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นเป็น 6.6 – 7.1 ล้านครัวเรือน ขยายตัวกว่า 20.0 – 29.1 % จากปี 57 หรือมีอัตราการเข้าถึงเพิ่มขึ้นเป็น 29.9 – 32.1 % ขณะที่จำนวนผู้ใช้บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตแบบไร้สายยังขยายตัวได้ดีในกรอบ 17.4 – 23.1 % แตะระดับ 33.0 – 34.6 ล้านคน คิดเป็นอัตราการเข้าถึงกว่า 51.2 – 53.6 % โดยน่าจะได้รับแรงผลักดันหลักจากราคาอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่อยู่ในระดับต่ำ และจากการเปิดให้บริการ 4 จี ซึ่งมีการประมูลภายในไตรมาส 3 ปีนี้ “

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงการใช้บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตแบบมีสายตามครัวเรือนในประเทศไทยกลับพบว่า ในปี 57 มีจำนวนครัวเรือนที่ใช้บริการอยู่เพียง 5.5 ล้านครัวเรือน เติบโตร้อยละ 12.2 จากปี 56 หรือมีอัตราการเข้าถึงเพียง 25% จากจำนวนครัวเรือนทั้งหมดทั่วประเทศ ซึ่งนับว่าเป็นสัดส่วนที่ไม่สูงมากนัก เพราะถึงแม้ว่าบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตแบบมีสายจะมีข้อดีอยู่หลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแบบไม่จำกัดปริมาณและมีความเสถียรในการรับส่งข้อมูล แต่เนื่องจากอัตราค่าให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตแบบมีสายในไทยยังอยู่ในระดับสูง โดยมีอัตราค่าบริการโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 655 บาทต่อเดือน ทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแบบไม่จำกัดปริมาณเลือกที่จะใช้อินเทอร์เน็ตไร้สายจากโครงข่าย 3จีหรือ 4จี ที่มีการจำกัดปริมาณการใช้งานแทน

นอกจากนี้ ในปัจจุบัน โครงข่ายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตแบบมีสายยังไม่สามารถครอบคลุมประชากรทุกพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกลตามต่างจังหวัด ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) พบว่า ปัจจุบัน องค์กรภาครัฐและภาคเอกชนได้มีการลงทุนวางโครงข่ายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตแบบมีสายด้วยใยแก้วนำแสงแล้วเป็นระยะทางรวม 200,000 กิโลเมตร โดยครอบคลุมระดับหมู่บ้านประมาณร้อยละ 50 ของหมู่บ้านทั้งหมดทั่วประเทศ ดังนั้น ด้วยอัตราการค่าให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตแบบมีสายที่อยู่ในระดับสูง และข้อจำกัดในด้านการขยายโครงข่ายที่ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ จึงทำให้การใช้บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตแบบใช้สายยังกระจุกตัวอยู่ตามครัวเรือนในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และตามหัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด โดยเฉพาะในครัวเรือนที่มีรายได้ระดับปานกลางถึงระดับสูงและมีความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงตลอดเวลา

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 31 มกราคม 2558