Page 1 of 1

พาณิชย์รับมือมะนาวแพง

Posted: 10 Feb 2015, 18:50
by brid.ladawan
พาณิชย์รับมือมะนาวแพง
กระทรวงพาณิชย์เตรียมออกมาตรการรับมือมะนาวหน้าแล้ง หวั่นอาหารยอดฮิตส้มตำขึ้นราคา


นางดวงกมล เจียมบุตร โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมแผนรับมือสถานการณ์มะนาวมีราคาสูงขึ้นเป็นการล่วงหน้าแล้ว หลังจากได้มีการติดตามปริมาณผลผลิต สถานการณ์ราคามาอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าสถิติย้อนหลัง 3 ปี (55-57) ช่วงที่มะนาวมีผลผลิตมากจะเป็นช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. ราคาขายส่งและขายปลีกจะลดต่ำลง และจะเริ่มปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงเดือนเม.ย. ที่เป็นช่วงนอกฤดูการผลิต ซึ่งจะทำให้ผลผลิตน้อยลงและราคามะนาวปรับตัวสูงขึ้น

“กระทรวงฯ ได้เตรียมตัวล่วงหน้า เพราะรู้ว่าเป็นปกติของทุกปี ที่มะนาวจะมีราคาสูงขึ้นในช่วงหน้าแล้ง และกระทบต่อการบริโภค เนื่องจากในปีนี้หลายพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนักแล้ว ดังนั้นกระทรวงจึงได้ทำแผนรับมือบรรเทาความเดือดร้อน โดยจะลดขั้นตอนทางการตลาดด้วยการสนับสนุนกิจกรรมการนำมะนาวจากสวน ให้เกษตรกร และกลุ่มเกษตรกร นำมะนาวมาจำหน่ายยังตลาดปลายทางให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง แต่ก็จะดูแลให้เกษตรกรจำหน่ายผลผลิตได้ในราคาที่เป็นธรรมด้วย”

ทั้งนี้ สถานการณ์ราคามะนาวในปี 58 เดือนม.ค. ราคาขายส่ง (เบอร์ 1-2) อยู่ที่ 2.26 บาทต่อลูก ราคาขายปลีก (เบอร์ 1-2 คละ) ราคาอยู่ที่ 3.62 บาทต่อลูก คาดว่าในเดือนมี.ค.-เม.ย. 58 ราคาจะปรับตัวสูงขึ้นดังเช่นสถิติที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย แต่ความต้องการใช้มีอย่างสม่ำเสมอ

นางดวงกมล กล่าวว่า มะนาวเป็นสินค้าเกษตรที่ปลูกมากในจังหวัดเพชรบุรี ประมาณ 50% สมุทรสาคร 15% ที่เหลือเป็นจังหวัดอื่นๆ ส่วนใหญ่ปลูกพันธุ์มะนาวแป้น มะนาวหนัง และมะนาวไข่ ผลผลิตส่วนใหญ่ได้ออกสู่ตลาดมากในช่วงฤดูฝนเดือนก.ค.-ส.ค. ประมาณ 50% ของผลผลิตทั้งหมด และผลผลิตจะเริ่มลดลงตั้งแต่เดือนต.ค.เป็นต้นไป เฉพาะฤดูแล้งเดือนมี.ค.-พ.ค. ผลผลิตจะออกสู่ตลาดน้อย ซึ่งที่ผ่านมา เกษตรกรได้มีการทำมะนาวนอกฤดูบ้าง แต่ยังไม่มาก เนื่องจากมีปัญหาเรื่องน้ำไม่เพียงพอ และการตัดแต่งต้นต้องหมั่นดูแลเอาใจใส่มากกว่าปกติ

สำหรับแหล่งซื้อขายมะนาวแหล่งใหญ่อยู่ที่ตลาดกลางท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตมะนาวที่ใหญ่ที่สุด การซื้อขายจะเป็นการขายส่งเป็นส่วนใหญ่ โดยเป็นผลผลิตทั้งในจังหวัดเพชรบุรีและบางส่วนมาจากอำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร มะนาวจากตลาดท่ายางจะกระจายต่อไปยังตลาดภาคใต้ ภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ โดยผลผลิตจากจังหวัดสมุทรสาครนอกจากบางส่วนที่เข้าไปขายในตลาดท่ายางแล้ว สวนใหญ่จะมีคู่ค้าประจำทั้งที่ปากคลองตลาดและตลาดไท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในภัยแล้งของทุกๆปีจะทำให้มะนาวมีผลผลิตออกมาน้อยและทำให้มีราคาแพง หรือราคาเฉลี่ยที่ 5-10 บาทต่อลูก ซึ่งผลที่ตามมาก็ทำให้ร้านค้ามีการปรับขึ้นราคาสินค้าที่มีส่วนประกอบมะนาวตามมาภายหลัง ส่วนใหญ่จะเป็นส้มตำ ที่เป็นอาหารยอดนิยมของคนไทย อาจปรับขึ้นราคา 5-10 ต่อจาน หรือชามะนาวปรับขึ้น 5 บาทต่อแก้ว เพราะหากจะใช้น้ำมะนาวเทียมก็จะทำให้รสชาดของอาหารไม่อร่อย ขณะที่ร้านค้าหลายรายอาจใช้วิธียกเลิกขายสินค้าดังกล่าวเป็นการชั่วคราวโดยเฉพาะชามะนาว เพราะไม่ต้องการใช้น้ำมะนาวเทียมและไม่อยากปรับขึ้นราคาสินค้า จนกว่ามะนาวจะกลับมามีราคาปกติ

นางดวงกมล กล่าวว่า ทางด้านสถานการณ์ราคาสินค้าปศุสัตว์ที่สำคัญ เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ และไข่ไก่ ที่หลายฝ่ายคาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน ตามความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นนั้น กระทรวงฯ ประเมินว่า ปริมาณการใช้เนื้อหมู และไก่ จะเพิ่มขึ้นเพื่อใช้ในการเซ่นไหว้ของพี่น้องชาวจีนก็จริง แต่เนื่องจากปีนี้ ปริมาณผลผลิตมีจำนวนเพิ่มขึ้น ราคาหน้าฟาร์ม ราคาขายปลีกในตลาด น่าจะยังทรงตัว และราคาจะไม่สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับไม่ส่งผลกระทบต่อการบริโภคของประชาชน

“กระทรวงฯ ได้มีการติดตามและตรวจสอบภาวะราคาอย่างใกล้ชิด ทั้งราคาขายส่งและราคาขายปลีกในตลาด เพื่อป้องปรามมิให้มีการฉวยโอกาสกำหนดราคาจำหน่ายที่ไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะในช่วงที่เกี่ยวข้องกับเทศกาล ซึ่งขณะนี้กรมการค้าภายในได้มีการจัดส่งสายตรวจออกตรวจตลาด และราคาสินค้าเป็นประจำทุกวันๆ ละ 9 สาย ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ทำให้สามารถทราบความเคลื่อนไหวของราคาสินค้า และจะทำแผนรับมือได้อย่างทันท่วงที”

ส่วนสถานการณ์ไข่ไก่ ปริมาณการใช้ในช่วงเทศกาลตรุษจีน จะเพิ่มขึ้นน้อยกว่าเนื้อหมูและเนื้อไก่ คาดว่าจะไม่มีผลกระทบด้านราคาเกิดขึ้น และในกรณีที่มีปัญหาผลผลิตล้นตลาด กระทรวงฯ ได้เตรียมแผนเพิ่มช่องทางการจำหน่ายเพื่อช่วยเหลือผู้เลี้ยงไก่ไข่ โดยนำไข่ไก่มาจำหน่ายผ่านจุดจำหน่ายที่กระทรวงฯ จัดหาให้ทั่วประเทศ และจะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเพิ่มการบริโภคไข่ไก่ เพราะเป็นอาหารโปรตีนที่มีประโยชน์ ราคาถูก


ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 8 ก.พ 2558