AVAL (อาวัล) คืออะไร

Post Reply
brid.Suchalee
Posts: 56
Joined: 29 Mar 2013, 13:47

AVAL (อาวัล) คืออะไร

Post by brid.Suchalee »

อาวัล (Aval) เป็นคำมาจากภาษาฝรั่งเศส แปลว่า ทำให้มีค่าขึ้น มีการนำมาใช้ในกฏหมายว่าด้วยตั๋วเงินประเทศไทย หมายถึง การค้ำประกันความรับผิดชอบของลูกหนี้ในการใช้เงินตามตั๋ว หลักเกณฑ์การรับประกันหรือการอาวัลนั้น กฎหมายกำหนดว่า อาจมีการอาวัลในตั๋วเงิน โดยผู้ที่จะอาวัลอาจเป็นคู่สัญญาหรือบุคคลภายนอกก็ได้ นอกจากนี้ จะอาวัลทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้เช่นกัน ในทางปฏิบัติผู้รับอาวัลมักเป็นสถาบันการเงิน เช่น ธนาคาร บริษัทเงินทุน เป็นต้น ผู้รับอาวัลอาจมีบุคคลเดียว หรือมีหลายบุคคลก็ได้ และลูกหนี้ตามตั๋วคนเดียวอาจมีผู้รับอาวัลหลายคนก็ได้ สำหรับวิธีการอาวัลแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ การรับอาวัลโดยเจตนา และโดยผลของกฎหมาย กล่าวคือ การรับอาวัลโดยเจตนานั้น ผู้รับอาวัลอาจกระทำโดยเขียนถ้อยคำว่า “ใช้ได้เป็นอาวัล” หรือถ้อยคำทำนองเดียวกัน เช่น “รับประกัน” “ค้ำประกัน” “Good as Aval” “For Guarantee” เป็นต้น ลงในด้านหน้าหรือด้านหลังของตั๋วเงิน และลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันไว้ โดยระบุด้วยว่าอาวัลผู้ใด หากไม่ระบุถือว่าอาวัล ผู้สั่งจ่าย หรือการที่ผู้รับอาวัลเพียงแต่ลงลายมือชื่อของผู้รับอาวัลด้านหน้าตั๋วเงินโดยไม่ต้องเขียนข้อความใดๆ ถือเป็นการอาวัลผู้สั่งจ่าย แต่หากลายมือที่ปรากฏด้านหน้าตั๋วเงินเป็นลายมือของผู้สั่งจ่ายหรือผู้จ่าย จะไม่ถือเป็นการอาวัล เนื่องจากมีผลเป็นการรับประกันการใช้เงินของตนเอง นอกจากนี้ การสลักหลัง ตั๋วเงินชนิดให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ จะเป็นการอาวัลผู้สั่งจ่าย ซึ่งการอาวัลลักษณะนี้เป็นการอาวัลโดยผลของกฎหมาย (ใช้เฉพาะตั๋วแลกเงินกับเช็คเท่านั้น) เนื่องจากโดยปกติตั๋วเงินชนิดให้ใช้เงินแก่ผู้ถือสามารถโอนแก่กันได้โดยการส่งมอบไม่ต้องสลักหลังแต่อย่างใด

เมื่อเกิดการอาวัลแล้ว จะเกิดผล 2 ประการคือ ประการแรก ผู้รับอาวัลเข้ามาเป็นคู่สัญญาในตั๋วเงินอีกคนหนึ่งถ้าหากผู้รับอาวัลเป็นลูกหนี้ตามตั๋วเงินอยู่แล้วลูกหนี้คนนั้นก็จะมีความรับผิดเป็นผู้รับอาวัลอีกฐานะหนึ่ง ประการที่สอง ผู้รับอาวัลจะมีความรับผิดเช่นเดียวกับบุคคลที่ตนอาวัลเต็มจำนวน เว้นแต่ผู้รับอาวัลจะจำกัดความรับผิดของตนไว้โดยรับอาวัลเพียงบางส่วนเท่านั้น และถึงแม้ว่า ความรับผิดใช้เงินของบุคคลที่ผู้รับอาวัลได้ประกันนั้นจะใช้บังคับไม่ได้ เช่น ทำผิดแบบ บกพร่องเรื่องความสามารถ เป็นต้น ในส่วนที่มีการอาวัลก็ยังสมบูรณ์ หลังจากที่ผู้รับอาวัลได้ใช้เงินไปแล้ว สามารถใช้สิทธิไล่เบี้ยกับบุคคลซึ่งตนประกันได้ หรือใช้สิทธิไล่เบี้ยบุคคลอื่นที่เป็นผู้รับผิดแทนบุคคลซึ่งตนประกันไว้

การอาวัลทำให้ผู้รับโอนตั๋วเงินมีความมั่นใจว่าจะได้รับชำระหนี้ตามตั๋วเงินนั้น และทำให้ตั๋วเงินมีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้นซึ่งจะเป็นส่วนช่วยให้ตั๋วเงินเป็นสื่อกลางในการทำธุรกรรมต่างๆ มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้นอันจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม

นางสาววรปรานี สิทธิสรวง

สำนักกฎหมาย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

อ้างอิง http://www.dailynews.co.th/Content/Arti ... 1%E0%B8%A5
brid.Suchalee
Posts: 56
Joined: 29 Mar 2013, 13:47

Re: AVAL (อาวัล) คืออะไร

Post by brid.Suchalee »

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง



อาวัล

มาตรา 938 ตั๋วแลกเงินจะมีผู้ค้ำประกันรับประกันการใช้เงินทั้งจำนวนหรือแต่บางส่วนก็ได้ ซึ่งท่านเรียกว่า "อาวัล"

อันอาวัลนั้นบุคคลภายนอกคนใดคนหนึ่งจะเป็นผู้รับ หรือแม้คู่สัญญาแห่งตั๋วเงินนั้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเป็นผู้รับก็ได้

อธิบาย แม้มาตรา 938 จะระบุว่าตั๋วแลกเงิน แต่มาตรานี้นำไปใช้กับตั๋วแลกเงินและเช็คด้วย (985

วรรคแรก และ 989 วรรคแรก) การอาวัลคือการค้ำประกันการใช้เงินตามตั๋วนั่นเอง ซึ่งบุคคล ภายนอก หรือคู่สัญญาในตั๋วเงินนั้นจะเป็นผู้อาวัลก็ได้ การอาวัลนั้นจะจำกัดจำนวนเงินที่อาวัลได้ เช่น ตั๋วแลกเงินราคา 50,000 บาท แต่ผู้อาวัลเขียนว่า “ข้าพเจ้าขอค้ำประกันการใช้เงิน 20,000 บาท” เช่นนี้เป็นการอาวัลบางส่วน

มาตรา 939 อันการรับอาวัลย่อมทำให้กันด้วยเขียนลงในตั๋วแลกเงินนั้นเอง หรือที่ใบประจำต่อ

ในการนี้พึงใช้ถ้อยคำสำนวนว่า "ใช้ได้เป็นอาวัล" หรือสำนวนอื่นใดทำนองเดียวกันนั้น

และลงลายมือชื่อผู้รับอาวัล

อนึ่ง เพียงแต่ลงลายมือชื่อของผู้รับอาวัลในด้านหน้าแห่งตั๋วเงินท่านก็จัดว่าเป็นคำรับ

อาวัลแล้ว เว้นแต่ในกรณีที่เป็นลายมือชื่อของผู้จ่ายหรือผู้สั่งจ่าย

ในคำรับอาวัลต้องระบุว่ารับประกันผู้ใด หากมิได้ระบุ ท่านให้ถือว่ารับประกันผู้สั่งจ่าย

อธิบาย วิธีการอาวัลทำได้ 2 วิธี คือ

1. ลงข้อความด้านหน้าหรือด้านหลังก็ได้ในตั๋วเงินหรือใบประจำต่อโดยใช้ข้อความ"ใช้ได้เป็นอาวัล" หรือสำนวนอื่นใดทำนองเดียวกันนั้น เช่น “รับประกัน” “ค้ำประกัน” “ขอประกัน” เป็นต้น และลงลายมือชื่อผู้รับอาวัล ในการอาวัลต้องระบุด้วยว่าอาวัลผู้ใด ถ้าไม่ระบุถือว่าอาวัลผู้สั่งจ่าย

2. ลงข้อความด้านหน้าอย่างเดียวโดยไม่ต้องเขียนข้อความใดๆ ถือว่าเป็นการอาวัลผู้สั่งจ่ายเว้นแต่ถ้าเป็นลายมือชื่อของผู้สั่งจ่ายกับผู้จ่ายจะไม่ถือเป็นการอาวัล แสดงว่าผู้จ่ายและผู้สั่งจ่าย เป็นผู้ต้องถูกห้ามอาวัล เพราะมิฉะนั้นจะกลายเป็นการอาวัลารใช้เงินของตนเอง ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์

แก่ผู้ทรงแต่อย่างใด

มาตรา 940 ผู้รับอาวัลย่อมต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับบุคคลซึ่งตนประกัน

แม้ถึงว่าความรับผิดใช้เงินอันผู้รับอาวัลได้ประกันอยู่นั้น จะตกเป็นใช้ไม่ได้ด้วยเหตุใด ๆ นอกจากเพราะทำผิดแบบระเบียบ ท่านว่าข้อที่สัญญารับอาวัลนั้นก็ยังคงสมบูรณ์

เมื่อผู้รับอาวัลได้ใช้เงินไปตามตั๋วแลกเงินแล้ว ย่อมได้สิทธิในอันจะไล่เบี้ยเอาแก่บุคคล

ซึ่งตนได้ประกันไว้ กับทั้งบุคคลทั้งหลายผู้รับผิดแทนตัวผู้นั้น

อธิบาย การอาวัลต้องระบุว่าอาวัลผู้ใดถ้าไม่ระบุถือว่าอาวัลผู้สั่งจ่าย ๙๓๙ วรรคท้าย เว้นแต่ถ้าเป็นการลงลายมือชื่อในตั๋วผู้ถือกฎหมายถือว่าอาวัลผู้สั่งจ่าย 921 ที่ว่าต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับบุคคลซึ่งตนประกัน คือต้องรับผิดเท่ากับบุคคลซึ่งตนประกันเว้นแต่อาวัลบางส่วน ๙๓๘ วรรคแรกผู้รับอาวัลจะเกี่ยงให้เจ้าหนี้ไปไล่เบี้ยเอากับลูกหนี้ก่อนไม่ได้ต่างจากการค้ำประกันธรรมดา และผู้อาวัลจะยกข้อต่อสู้ของลูกหนี้ขึ้นต่อสู้ไม่ได้ต่างจากค้ำประกันธรรมดา

วรรคสอง ที่ว่า แม้ถึงว่าความรับผิดใช้เงินอันผู้รับอาวัลได้ประกันอยู่นั้น จะตกเป็นใช้ไม่ได้ด้วยเหตุใด ๆ นอกจากเพราะทำผิดแบบระเบียบ ท่านว่าข้อที่สัญญารับอาวัลนั้นก็ยังคงสมบูรณ์

เช่น บางกรณี ผู้ถูกรับอาวัล (ลูกหนี้) อาจหลุดพ้นจากความรับผิดเนื่องจากถูกกลฉ้อฉล ถูกข่มขู่ หรือเข้าทำสัญญากับผู้หย่อนความสามารถ แต่ผู้อาวัลไม่หลุดพ้นไปด้วยยังคงต้องรับผิดอยู่เสมอนอกเสียจากเป็นเพราะทำผิดแบบระเบียบ เช่น

๑. ตั๋วเงินขาดรายการสำคัญแม้เพียงรายการเดียวย่อมไม่สมบูรณ์เป็นตั๋วเงิน

๒. การสลักหลังที่ผิดระเบียบวิธี

๓. การรับรองที่ผิดแบบ

๔. ผู้ทรงละเลยการทำคำคัดค้าน

****การที่ผู้ทรงยอมผ่อนเวลาให้ลูกหนี้ไม่ใช่การทำผิดแบบระเบียบผู้อาวัลไม่หลุดพ้น

วรรคท้าย เป็นสิทธิของผู้อาวัลที่ได้ใช้เงินไปแล้วจะไปไล่เบี้ยเอากับใครได้บ้าง

๑. แก่บุคคลซึ่งตนประกันไว้

๒. บุคคลทั้งหลายผู้รับผิดแทนตัวผู้นั้น (ผู้ซึ่งเป็นลูกหนี้ของผู้ถูกอาวัล)

ปัญหาว่าหากมีผู้อาวัลหลายคนอาวัลบุคคลคนเดียวกันจะไล่เบี้ยกันเองได้หรือไม่ เห็นว่า ผู้อาวัลทั้งหลายต่างไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกันไม่น่ามีสิทธิไล่เบี้ยกันเองได้

เขียนโดย natjar2001law ที่ 19:28:00

ที่มา http://natjar2001law.blogspot.com/2011/ ... st_21.html
Post Reply

Return to “หัวข้อทั่วไป”