Page 1 of 1

ตลท.หนุนบมจ.ลุยอาเซียน ดันมาร์เกตแค็บโตเท่าตัว

Posted: 12 Feb 2015, 11:02
by brid.ladawan
ตลท.หนุนบมจ.ลุยอาเซียน ดันมาร์เกตแค็บโตเท่าตัว
เพื่อนเดินทางของธุรกิจในไทยคงหนีไม่พ้นแหล่งเงินระดมทุนที่มีประสิทธิภาพและต้นทุนต่ำอย่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)


นับถอยหลัง …การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซีในปลายปีนี้ แม้คนไทยหลายคนอาจยังไม่ตื่นตัวกันมากนัก แต่บรรดานักลงทุนผู้ประกอบกิจการขนาดใหญ่ รวมไปถึงบริษัทจดทะเบียน หรือ บจ.ไทย ต่างเตรียมจับจองพื้นที่เพื่อต่อยอดธุรกิจกันอย่างคึกคักด้วยเพราะสภาพภูมิประเทศแต่ละประเทศที่กว้างใหญ่ รวมไปถึงขนาดของเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจึงทำให้ภูมิประเทศนี้กำลังเนื้อหอมและเป็นที่จับจ้องของแหล่งทุนขนาดใหญ่

เพื่อนเดินทางของธุรกิจในไทยคงหนีไม่พ้นแหล่งเงินระดมทุนที่มีประสิทธิภาพและต้นทุนต่ำอย่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่ทำหน้าที่เป็นตลาดรองเพื่อแลกเปลี่ยนซื้อขายตราสารทุน เพื่อให้นักลงทุนสามารถระดมเงินทุนเพิ่มเติมจากสาธารณะได้อย่างสะดวกโดยตลาดหุ้นไทยปัจจุบันมีจุดแข็งคือการมีมูลค่าการซื้อขายสูงสุดในอาเซียน 3 ปีติดต่อกัน สะท้อนให้เห็นถึงภาพรวมของตลาดที่คึกคักจนดึงดูดความน่าสนใจของนักลงทุนต่างประเทศได้เหนือกว่าตลาดอื่นในภูมิภาคนี้

นอกจากนี้ ตลท.ยังมีบทบาทสำคัญ ในเรื่องของการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทไทยกับกลุ่มนานาประเทศ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ ตลท.ได้มีแผนการนำเสนอข้อมูลหรือออกเดินสายโรดโชว์ในต่างประเทศหลายครั้ง และจะพ่วงบริษัทจดทะเบียนในตลาดไปพบกับผู้ลงทุนหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลกับบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งในทุกครั้งถือเป็นการสร้างสัมพันธ์อันดี และสร้างพันธมิตรทางธุรกิจมาหลายต่อหลายราย

ปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนไทยมีสัดส่วนรายได้จากการดำเนินธุรกิจในอาเซียนและกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขงประมาณ 26% ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยภูมิประเทศที่เหมาะกับการขนส่ง รวมถึงวิถีชีวิต สังคม และวัฒนธรรมที่มีความคล้ายคลึงกันจึงกลายเป็นสนามลงทุนเพื่อต่อยอดให้กับธุรกิจได้เป็นอย่างดี

ขณะที่หัวเรือใหญ่ของ ตลท. อย่าง “เกศรา มัญชุศรี” ได้เดินหน้าเตรียมดึงธุรกิจทั้งในประเทศและแถบประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยให้เพิ่มมากขึ้นเพื่อเพิ่มผลิตภัณฑ์ตัวเลือกใหม่ ๆ ให้กับนักลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง หรือ จีเอ็มเอส เช่น จีนตอนใต้ สปป.ลาว เมียนมาร์ และกัมพูชา ซึ่งจะมีการจัดทำดัชนีการลงทุนกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขงที่รวบรวมบริษัทจดทะเบียนไทยที่ไปลงทุนในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขงมารวมไว้เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับนักลงทุนซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการกำหนดและแก้ไขกฎเกณฑ์ให้มีความเป็นสากลเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ทุกสิ่งทุกอย่างที่ตลท.ดำเนินการ ก็เพื่อผลักดันให้เป็นไปตามเป้าหมายระยะยาวที่ระบุไว้ว่าภายในปี 60 จะสามารถเพิ่มมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดหรือมาร์เกตแค็บ ให้ได้ถึง 30 ล้านล้านบาท หรือเติบโตเท่าตัวจากปัจจุบันอยู่ที่ 15 ล้านล้านบาท

ดังนั้น! เพื่อรองรับความต้องการระดมเงินทุนเพื่อขยายธุรกิจซึ่งจะมีเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดต่อจากนี้ ทาง ตลท. เองจึงได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือก.ล.ต. จัดทำกฎเกณฑ์การขอออกใบอนุญาตให้บริษัทร่วมทุนของคนไทยที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศสามารถนำบริษัทร่วมทุนเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยเพื่อระดมทุนขยายธุรกิจเพิ่มเติมได้ทั้งในรูปของการจดทะเบียนโดยตรงและการจดทะเบียนเป็นตลาดที่สอง ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบธุรกิจด้านโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค, พลังงาน, พัฒนาอสังหาริมทรัพย์, นิคมอุตสาหกรรม และการบริการด้านโลจิสติกส์

คาดกันว่าหลักเกณฑ์ทั้งหมดที่ว่านี้ … จะได้ข้อสรุปภายในเร็ว ๆ นี้หรืออย่างช้าไม่เกินไตรมาสแรกของปี 58 นี้เพื่อให้ทุกอย่างเกิดความชัดเจนเพื่อให้นักลงทุนสามารถตัดสินใจได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามระหว่างนี้ก็มีบริษัทขนาดใหญ่หลายรายต่างเดินหน้านำร่องไปก่อน ไม่ว่าจะเป็น “ช.การช่าง” ที่หลังจากอิ่มตัวกับงานรับเหมาก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเมกะโปรเจคท์ของภาครัฐไปแล้วจึงได้เริ่มก้าวขาเข้าสู่ธุรกิจพลังงานทดแทนเต็มรูปแบบภายใต้บริษัทย่อย ซีเคพาวเวอร์ จำกัด โดยทุ่มงบกว่า 115,000 ล้านบาท ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ

ที่ดำเนินการโดย บริษัทไซยะบุรีพาวเวอร์ ด้วยกำลังการผลิตสูงสุด 1,285 เมกะวัตต์ ขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียนในพื้นที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือ สปป.ลาว และมีสัดส่วนการถือหุ้นสูงสุดถึง 30% พร้อมเตรียมจัดแผนนำ ไซยะบุรี พาวเวอร์ เข้าจดทะเบียนใน ตลท. เร็ว ๆ นี้

ขณะที่ด้านเจ้าสัวใหญ่ “วิกรม กรมดิษฐ์” ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้เตรียมนำ บริษัท อมตะ วีเอ็น จำกัด (มหาชน) ที่ประกอบธุรกิจลงทุนและประกอบกิจการนิคมอุตสาหกรรมรวมถึงกิจการที่เกี่ยวเนื่องในเวียดนามบนพื้นที่กว่า 8,031 ไร่ เข้าจดทะเบียนใน ตลท. ภายในปีนี้เช่นเดียวกัน

ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาแบบนำเสนอข้อมูล (ไฟลิ่ง) ต่อ ก.ล.ต. และเป็นอีกแรงหนุนสำคัญที่ผลักดันให้มาร์เกตแค็บปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ส่วนบริษัทอื่นอยู่ระหว่างดูทีท่าก่อนจะร่วมวงเพื่อสร้างความแข็งแกร่งต่อไป

ธุรกิจจะดำเนินการต่อไปไม่ได้ ถ้าขาดเงินทุน ซึ่งการเตรียมพร้อมเพื่อเสริมศักยภาพการแข่งขันกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านในอนาคตจำเป็นต้องอาศัยหน่วยงานสนับสนุนที่มีประสิทธิภาพ โดย “ตลท.” ถือเป็นหนึ่งหน่วยงานที่สวมบทบาท “เพื่อนร่วมทาง” ไม่ปล่อยให้บริษัทจดทะเบียนไทยต้องต่อสู้เพียงลำพังแต่ทั้งหมดคงต้องรอดูว่า ตลท.จะบรรลุเป้าหมายได้มากน้อยเพียงใด?.

รวิกานต์ รักเจริญ

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 12 ก.พ 2558