Page 1 of 1

ฤาจะเป็นตอนอวสานของกูเกิลกลาส - รอบรู้ไอที รอบโลกเทคโนโลยี

Posted: 12 Feb 2015, 11:35
by brid.ladawan
ฤาจะเป็นตอนอวสานของกูเกิลกลาส - รอบรู้ไอที รอบโลกเทคโนโลยี
กูเกิลได้พยายามอธิบายเรื่องนี้อยู่ครับ ว่านี่เป็นเพียงนโยบายยกระดับโครง การ (ไม่ได้ยกเลิกเลยซะทีเดียว) โดยจะปิดโครงการ Glass Explorer แต่ยกระดับไปดำเนินการต่อในส่วนวิจัย Google X แทน


ต้นปีใหม่นี้มีข่าวที่น่าสนใจเกี่ยวกับวงการเทคโนโลยีครับ นั่นคือกูเกิลได้ประกาศหยุดขายแว่นกูเกิลกลาส (Google Glass) แว่นไฮเทคที่ในตอนเปิดตัวเมื่อประมาณสามปีที่แล้ว ถือว่าเป็นแก็ดเจ็ตสวมใส่ติดตัวที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแก็ดเจ็ตหนึ่งของโลกเลยก็ว่าได้

เชื่อว่าคุณผู้อ่านประจำคอลัมน์วันพุธของผมคงมีคำถามขึ้นมาในใจว่า ทำไมกูเกิลจึงตัดสินใจล้มเลิกการผลิตแก็ดเจ็ตไฮเทคตัวนี้? ทั้ง ๆ ที่ผมมั่นใจเลยนะครับว่านวัตกรรมความทันสมัยของตัวแว่นกูเกิลกลาสนี้ไม่ได้แพ้แก็ดเจ็ตชื่อดัง ๆ ตัวอื่นของโลกเลย แถมยังมีบุคคลชื่อดังหลายคนหลากวงการทั้งไทยทั้งเทศ ช่วยใส่แว่นกูเกิลกลาสนี้ถ่ายรูปโฆษณาลงโซเชียลมีเดียให้ตั้งมากมาย

กูเกิลได้พยายามอธิบายเรื่องนี้อยู่ครับ ว่านี่เป็นเพียงนโยบายยกระดับโครง การ (ไม่ได้ยกเลิกเลยซะทีเดียว) โดยจะปิดโครงการ Glass Explorer แต่ยกระดับไปดำเนินการต่อในส่วนวิจัย Google X แทน ซึ่งโครงการ Glass Explorer จะเป็นโครงการที่ให้พวกนักพัฒนาหรือพวกผู้นำร่องที่ติดต่อไปเอาไปลองใช้ก่อน แต่ยังไม่เปิดให้ผู้ใช้ทั่วไปซื้อ ขณะที่การยกระดับมาเป็น Google X จะเป็นการเปลี่ยนโพซิชั่นนิ่งตัวเอง โดยไม่เน้นไปที่คนใช้ทั่วไปแล้ว แต่เปลี่ยนเป็นไปเน้นขายพวกผู้ประกอบการแทน (ซึ่งตอนนี้มีบางบริษัท ให้พนักงานใช้กลาสนี้อยู่เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการลูกค้า)

ซึ่งการยกระดับนี้ส่งผลให้กูเกิลกลาสต้องเปลี่ยนหัวหน้าทีมผู้รับผิดชอบไปด้วย โดยผู้ดูแลการพัฒนากูเกิลกลาสนับจากนี้ไปคือ โทนี ฟาเดลล์ (Tony Fadell) อดีตวิศวกรคอมพิวเตอร์จากแอปเปิล (หนึ่งในผู้คิดค้นไอพอด) และเป็นคนดูแล Nest Labs ที่กูเกิลเพิ่งซื้อกิจการมาเมื่อปีที่แล้วด้วยมูลค่ากว่าแสนล้านบาท (3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)

แม้ว่าคำแถลงการณ์ของกูเกิลอาจจะฟังดูดีว่าโครงการยังไม่ถูกยกเลิก แค่เปลี่ยนโอนยกระดับเฉย ๆ แต่ก็ต้องถามต่อนะครับว่านี่เป็นการยกระดับโครงการเพื่อพัฒนาให้มันดีขึ้นจริง ๆ หรือเป็นการถ่ายโอนเพื่อเตรียมโดดเดี่ยวโครงการกันแน่ ซึ่งสำนักข่าวต่างประเทศหลายสำนักก็พากันวิเคราะห์ว่าน่าจะเป็นอย่างหลังเสียมากกว่าด้วยสิครับ

ในฐานะนักวิจัยคนหนึ่ง ผมเชื่อว่ากูเกิลกลาสเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ยอดเยี่ยมและมีประโยชน์มาก เห็นได้จากงานวิจัยมากมายที่นำกูเกิลกลาสมาใช้ประโยชน์ในหลาย ๆ สถานการณ์ตั้งแต่ในห้องผ่าตัดไปจนถึงในโรงงานซ่อมบำรุงรถยนต์ชื่อดัง แต่ถ้าในฐานะของปุถุชนคนเดินถนนคนหนึ่ง ผมเองคงรู้สึกไม่สะดวกใจนักหากคนที่เดินผ่านผมไปมาในแต่ละวันต่างก็สวมกูเกิลกลาสกัน เพราะผมจะแน่ใจได้อย่างไรล่ะครับว่ากลไกกล้องที่เป็นส่วนหนึ่งของแว่นไฮเทคที่พวกเขาเหล่านั้นสวมอยู่ไม่ได้ถูกดัดแปลงให้ทำการบันทึกภาพและเสียงของผมโดยที่ผมไม่ได้อนุญาต

หากคุณผู้อ่านติดตามข่าวคราวเกี่ยวกับแว่นไฮเทคตัวนี้อย่างใกล้ชิดก็คงจะทราบนะครับว่าผมไม่ใช่คนเดียวที่เป็นกังวลเรื่องการ จะถูกล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวด้วยเจ้าแว่นไฮเทคนี้ ในต่างประเทศ กูเกิลกลาสถึงขนาดถูกติดป้ายห้ามใช้ในร้านอาหาร ที่ทำงาน และ สถานที่ส่วนบุคคลหลายแห่ง ในบางรัฐหรือบางประ เทศก็ประกาศเลยว่าการใช้กูเกิลกลาสในที่สาธารณะนั้นขัดต่อกฎหมาย เรียกว่า พวกเขาเหล่านั้นมองเจ้าแว่นไฮเทคนี้ไม่ได้แตกต่างไปจากกล้องสอดแนมที่เหล่าสายลับในหนังนักสืบใช้เพื่อจารกรรมข้อมูลล้วงความลับระดับประเทศกันเลยล่ะครับ

นอกจากนี้การใช้กูเกิลกลาสระหว่างขับรถยนต์ก็ถูกสั่งห้ามในบางรัฐเช่นกัน เนื่องจากข้อมูลที่แสดงซ้อนขึ้นมาบนแว่นนั้น มีผลเบี่ยงเบนความสนใจของผู้ขับรถจากท้องถนนตรงหน้าไปเสี่ยงต่อการนำไปสู่อุบัติเหตุบนท้องถนน

กูเกิลกลาสนี้เป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าสนใจและคงเป็นบทเรียนให้กับบริษัทเทคโนโลยีน้อยใหญ่ต่าง ๆ ในอนาคตได้นะครับ ว่านวัตกรรมที่ดีและชื่อเสียงความน่าเชื่อถือของบริษัทไม่ใช่สิ่งที่จะตัดสินความสำเร็จของผลงานในตลาดผู้ใช้จริงได้เสมอไป โดยเฉพาะผลงานที่ล้ำหน้าล้ำยุคมาก มากถึงขนาดที่ว่ามันควรจะมีใช้อยู่จริงในอนาคตข้างหน้าที่ไกลห่างออกไป ไม่ใช่วันนี้ในปัจจุบันที่กฎหมาย ขนบวัฒน ธรรม หรือ แม้แต่การยอมรับของผู้คนยังไม่สามารถปรับตัวตามได้ทัน.

ผศ.ดร.ชุติสันต์ เกิดวิบูลย์เวช

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

chutisant.ker@nida.ac.th


ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 11 ก.พ 2558