ONE's View‏ : วิกฤตหนี้สาธารณะของกรีซ vs ผลกระทบต่อยูโรโซน

Post Reply
brid.ladawan
Posts: 7045
Joined: 29 Mar 2013, 13:36

ONE's View‏ : วิกฤตหนี้สาธารณะของกรีซ vs ผลกระทบต่อยูโรโซน

Post by brid.ladawan »

ONE's View‏ : วิกฤตหนี้สาธารณะของกรีซ vs ผลกระทบต่อยูโรโซน
โดย ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ
Dr.win@one-asset.com

สวัสดีครับ เหตุการณ์ในยูโรโซนเริ่มปะทุขึ้นมาอีกครั้งหลังจากที่ผลการเลือกตั้งของกรีซที่ผ่านมาปรากฏว่าพรรคฝ่ายซ้าย หรือพรรค Syriza ได้รับชัยชนะการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนล่าสุดซึ่งชูนโยบายแข็งกร้าวในการจะยกเลิกมาตรการการรัดเข็มขัด และการกลับมาจ้างงานของพนักงานภาครัฐที่เคยทำงานกลับเข้าทำงาน การปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ต่างๆ จนทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ปฏิเสธที่จะรับพันธบัตรรัฐบาลกรีซ

ปัจจุบันมีการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในประเภท Junk Bond ให้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการกู้ยืมเพื่อกดดันให้รัฐบาลกรีซทำตามเงื่อนไขตามที่ระบุไว้ในแผนการให้ความช่วยเหลือทางการเงินของทาง ECB ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลกรีซเองก็ยังคงไม่สามารถหาข้อสรุปที่ลงตัวกับประเด็นดังกล่าวได้ และยังมีความเสี่ยงในการขอรับเงินช่วยเหลืองวดสุดท้ายจำนวน 7 พันล้านยูโรซึ่งจะสิ้นสุดโครงการรับเงินช่วยเหลือในวันที่ 28 ก.พ. 58 ส่งผลให้นักลงทุนต่างเริ่มกลับมากังวลต่อสถานการณ์ของวิกฤตกรีซอีกครั้ง รวมถึงผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจในกลุ่มยูโรโซน

ซึ่งในปัจจุบันสิ่งที่นักลงทุนให้ความสนใจและส่งผลต่อความกังวลของนักลงทุน ได้แก่ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นถัดไปหากกรีซไม่สามารถหาทางออกต่อปัญหาดังกล่าวได้และต้องแยกประเทศออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มยูโรโซนในท้ายที่สุด ทำให้ตลาดหุ้นยุโรปในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวค่อนข้างผันผวนและปรับลดลงกว่า -2.0% จากแรงเทขายเพื่อทำกำไรและลดความเสี่ยงจากการลงทุน หลังตลาดหุ้นยุโรปปรับเพิ่มขึ้นกว่า 10.0% ตั้งแต่ต้นปี 2558

อย่างไรก็ดี ผมมองว่าแม้ทางธนาคารกลางยุโรปจะกดดันรัฐบาลกรีซเพื่อให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ตามที่กล่าวข้างต้น แต่ก็คาดว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบในวงที่จำกัดและส่งผลกดดันต่อ Sentiment ตลาดในระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากทางกรีซเองก็ยังคงมีภาระค่าใช้จ่ายในการบริหารประเทศรวมทั้งมีภาระหนี้สินอีกค่อนข้างมาก ซึ่งกดดันให้กรีซยังคงจำเป็นที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจาก Troika ซึ่งเป็นความร่วมมือของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) สหภาพยุโรป (EU) และธนาคารกลางยุโรป (ECB)

นอกเหนือจากการพึ่งพิงธนาคารกลางยุโรปเพียงลำพัง เพราะเนื่องจากหากกรีซไม่ได้รับการช่วยเหลือทางการเงินทั้งภาครัฐและภาคธนาคารพาณิชย์แล้วนั้น เงินสดของภาครัฐของกรีซอาจจะหมดลงได้ภายในเดือน มี.ค. 58 และยังคงมีหนี้สินที่ต้องชำระคืนให้แก่ IMF กว่า 9.8 พันล้านยูโร รวมทั้งการครบกำหนดของพันธบัตรรัฐบาลที่ ECB ถือครองรวมกันกว่า 6.7 พันล้านยูโรในเดือน ก.ค. และ ส.ค. 58 ตามลำดับ ซึ่งหากกรีซไม่สามารถระดมทุนเพิ่มเติมได้นั้น อาจทำให้กรีซต้องผิดนัดชำระหนี้และอาจต้องถูกบีบให้ออกจากการเป็นสมาชิกในกลุ่มยูโรโซน ซึ่งจะกระทบต่อการเงินและการคลังของกรีซค่อนข้างมาก ทำให้มองว่าอำนาจการต่อรองของกรีซในช่วงเวลานี้ยังคงมีไม่มากนัก

ประกอบกับในด้านของรัฐบาลกรีซเอง คาดว่าทางการกรีซก็ไม่ได้มีความต้องการออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มยูโรโซนอย่างแท้จริง เพราะนอกจากกรีซยังจำเป็นที่ต้องพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากทาง Troika แล้วนั้น การค้าระหว่างประเทศของกรีซทั้งภายในกลุ่มยูโรโซนเองและภายนอกกลุ่มก็ต้องได้รับผลกระทบตามไปด้วย เนื่องจากกรีซจำเป็นต้องกลับมาใช้สกุลหน่วยกรีกตาม และหากมีการผิดนัดชำระหนี้หรือเศรษฐกิจไม่ได้รับความน่าเชื่อถือแล้วนั้นจะกดดันให้ค่าเงินหน่วยกรีกด้อยค่าและไม่ได้ยอมรับตามไปด้วย ซึ่งจะทำให้ธุรกรรมทางการเงินและการค้าระหว่างประเทศเป็นไปในทางที่ยากมากขึ้นสอดคล้องกัน ซึ่งจะผลักดันให้มีปัญหาด้านอื่นๆ ตามมาเพิ่มเติมในภายหลัง

ทั้งนี้ ผมมองว่าการเจรจาระหว่างรัฐบาลกรีซกับธนาคารกลางยุโรป รวมถึง Troika ยังคงดำเนินต่อไปในช่วงนี้และมีกระแสข่าวต่างๆ เป็นระยะๆ แต่ก็คาดว่าน่าจะมีผลต่อตลาดน้อยลงเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมาและไม่น่ามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในยูโรโซนมากนักและเป็นปัจจัยเพียงระยะสั้น เนื่องจากมองว่าท่าทีของทั้งสองฝ่ายน่าจะมีการเจรจาและประนีประนอมกันมากขึ้นในการหาข้อสรุปร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะแนวทางการชำระหนี้และมาตรการรัดเข็มขัด ก่อนที่จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในระยะกลางถึงยาว เนื่องจากหากเกิดสถานการณ์เลวร้าย คือกรีซไม่สามารถชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ได้ หรือกรีซต้องออกจากยูโรโซนแล้วนั้นก็ไม่น่าที่จะส่งผลดีต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทั้งสิ้น

ดังนั้น การถอยกันคนละก้าวของทั้งสองฝ่ายจึงจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในช่วงเวลานี้ โดยนักลงทุนยังต้องติดตามเหตุการณ์สำคัญๆ ในช่วงนี้อย่างใกล้ชิด ได้แก่ การประชุมคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปและรัฐมนตรีของประเทศในกลุ่มที่ใช้เงินยูโรกับทางรัฐบาลกรีซในวันที่ 11-12 ก.พ. 58 เพื่อหาทางออกให้ทั้งสองฝ่าย และวันที่ 28 ก.พ. 58 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดของพันธบัตรรัฐบาลที่ต้องชำระต่อ ECB กว่า 3.5 พันล้านยูโร ว่าทางรัฐบาลกรีซจะมีข้อสรุปอย่างไร เพราะเนื่องจากจะเป็นการส่งสัญญาณต่อท่าทีของผู้นำกรีซและกลุ่มยูโรโซนอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งหากมีความคืบหน้าหรือมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญแล้วผมจะมาเล่าให้ผู้อ่านได้ฟังกันครับ


ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 13 ก.พ 2558
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”