Page 1 of 1

รู้จัก เข้าใจ และทางป้องกัน...อัลไซเมอร์ก่อนวัย

Posted: 16 Feb 2015, 17:16
by brid.ladawan
รู้จัก เข้าใจ และทางป้องกัน...อัลไซเมอร์ก่อนวัย

สัปดาห์นี้ มีหนังเรื่องหนึ่งซึ่งได้นักแสดงมากความสามารถอย่างจูลี่แอนน์ มัวร์ แสดงนำ เป็นหนังซึ่งพูดถึงผู้ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ชนิดเกิดเร็ว ซึ่งทางการแพทย์เรียกว่า “เออร์ลี่ ออนเซ็ท อัลไซเมอร์” เรามาทำความรู้จักกับโรคสมองเสื่อมชนิดนี้กันหน่อยดีกว่า เพื่อการตระหนักรู้ รู้ทัน และรู้กันรู้แก้

รู้จัก เข้าใจ และทางป้องกัน...อัลไซเมอร์ก่อนวัย
ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง Still Alice
สาเหตุ

โรคอัลไซเมอร์เป็นโรคชนิดหนึ่งในกลุ่มอาการสมองเสื่อม แม้ปัจจุบันทางการแพทย์ยังไม่ทราบว่าโรคนี้เกิดจากสาเหตุใด แต่จากการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่เกี่ยวข้องซึ่งนำไปสู่การเกิดโรคอัลไซเมอร์ก่อนวัยอันควรอาจเกิดจากปัจจัยดังต่อไปนี้

1.พันธุกรรม
เป็นปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคอัลไซเมอร์ก่อนวัยอันควร คนเป็นโรคนี้จากพันธุกรรมเรียกว่า familial alzheimer นักวิจัยคาดว่าความผิดปกติในยีนที่กำหนดโครโมโซมอาจทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ขึ้นกับคนอายุยังน้อย ความผิดปกติทางโครโมโซมในตำแหน่งต่างๆ อาจส่งเสริมให้เกิดโปรตีนบางชนิดในสมอง ซึ่งมีผลทำให้เซลล์สมองตายแล้วรวมตัวกันทำให้สูญเสียความจำและเสียชีวิตในที่สุด

2.สมองถูกกระทบกระเทือน
พบบ่อยในคนที่เคยประสบอุบัติเหตุแล้วสมองได้รับการกระทบกระเทือน มีเลือดออกในสมองแล้วต้องผ่าตัด หรือได้รับแรงกระแทกจนเซลล์สมองได้รับการบาดเจ็บ กลุ่มนี้มีโอกาสที่จะเป็นอัลไซเมอร์ได้เร็วและได้มากกว่าคนทั่วไป ยิ่งถ้ามีเรื่องของพันธุกรรมเข้ามาร่วมด้วยจะยิ่งมีโอกาสเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้เร็วและบ่อยกว่าคนปกติถึง 10 เท่า

3.free radical การได้รับสารพิษต่างๆ จากมลภาวะ ตลอดจนการติดเชื้อ
สิ่งเหล่านี้ต่างส่งผลกระตุ้นปฏิกิริยา free radical ซึ่ง free radical นี้อาจไปทำลายเยื่อหุ้มเซลล์ประสาท นอกจากนี้ free radical ยังทำให้เกิดการอักเสบของเซลล์สมองได้

4.ความเครียด
ทางจิตเวช ความเครียด (stress) คืออะไรก็ตามที่เกิดความไม่สมดุลของร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และความเป็นอยู่ เมื่อการเสียสมดุลเหล่านี้ทำให้ร่างกายเกิดความไม่สบาย อารมณ์เปลี่ยน นั่นคือความเครียดแล้ว ความเครียดเป็นตัวการสำคัญของโรคอัลไซเมอร์ เนื่องจากเป็นตัวทำลายเซลล์สมองเพราะไปเปลี่ยนแปลงการทำงานของสมอง การทำงานของต่อมไร้ท่อ เช่น ต่อมพิทูอิทารีและต่อมหมวกไตให้ทำงานผิดปกติ ทำให้เกิดสารเคมีหรือสารสื่อประสาทผิดปกติ เกิดอะดรีนาลีนหลั่งมากเกินไป เมื่อกายใจไม่สมดุล ฮอร์โมนก็เปลี่ยน มีผลต่อร่างกายและจิตใจ

5.โรคเบาหวาน
ผู้ป่วยเบาหวานมีโอกาสเสี่ยงสูงในการเป็นโรคอัลไซเมอร์เพิ่มสูงขึ้นถึง 65 เปอร์เซ็นต์ จากการทดลองพบว่ากลุ่มผู้ป่วยเบาหวานมีการตอบสนองในเรื่องของความจำและความเร็วน้อยกว่า ผลการศึกษาพบว่าโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคอัลไซเมอร์ มีความเกี่ยวพันกัน นอกจากนี้นักวิจัยยังพบว่าในร่างกายผู้ป่วยอัลไซเมอร์นั้นไม่สามารถนำอินซูลินที่ผลิตได้มาใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม ซึ่งคล้ายคลึงกับ “การต้านอินซูลิน” ในผู้ป่วยเบาหวาน และเมื่อปริมาณอินซูลลินในร่างกายสูงขึ้นก็เท่ากับว่าเป็นการส่งเสริมกระบวนการออกซิเดชั่นในร่างกาย รวมไปถึงการอักเสบและเพิ่มความเครียดให้สูงขึ้น

6.โรคความดันโลหิตสูง
นักวิทยาศาสตร์พบว่าคนที่มีความดันโลหิตสูง และมีปัจจัยร่วมที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดในสมองหรือสโตร้ก (Stroke) เช่น เบาหวาน คอเลสเตอรอลสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ ก็มีโอกาสที่หลอดเลือดสมองจะเกิดความเสียหายได้ ทำให้สมองได้รับออกซิเจนน้อยลง ความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจทำลายวงจรความเชื่อมโยงของระบบประสาท ทำให้คำสั่งและการโต้ตอบในการสั่งงานด้านความจำ และทักษะการเคลื่อนไหว หรือความเชื่อมโยงด้านการพูดเสียไป ทำให้เกิดอาการหลงลืม และพัฒนาสู่โรคอัลไซเมอร์ในที่สุด

7.คอเลสเตอรอล
การวิจัยขั้นพื้นฐานในห้องปฏิบัติการชี้ให้เห็นว่าระดับคอเลสเตอรอลสูงในเลือดเชื่อมโยงกับพัฒนาการของโรคอัลไซเมอร์

8.เมื่อชีวิตเปลี่ยน
“ลำพังความจำเสื่อม คนแก่หลงๆลืมๆคนรอบข้างยอมรับได้ เพราะดูเป็นเรื่องธรรมดาแต่อย่างที่บอกก็คือ คนที่ป่วยเป็นโรคนี้จะมีปัญหาทางพฤติกรรมและอารมณ์ อย่างอยู่ดีๆก็ระแวงว่าเธอมาขโมยเงินฉันไป คิดว่า จะมาขโมยของ จะมาทำร้าย หูแว่ว ได้ยินเสียงคนอื่นมาพูด หรือเห็นภาพหลอน คิดว่าคนที่ตายไปแล้วกำลังจะมาหา หรือก้าวร้าวอาละวาดตีคนดูแลโดยไม่มีสาเหตุ คนส่วนใหญ่อาจไม่เข้าใจว่าเขาเป็นอัลไซเมอร์แล้ว จึงเกิดความเข้าใจผิดๆ”

“บางคนยังอยู่ในวัยทำงาน ก็เริ่มทำงานไม่ได้ บางคนลูกยังไม่โต บางคนลูกยังอยู่ในเวลาที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว ไม่มีเวลาที่จะดูแลรับผิดชอบตัวผู้ป่วย ต่างกับคนที่เป็นตอนอายุเยอะลูกหลานมักจะตั้งหลักตั้งฐานได้แล้ว ก็มีโอกาสที่จะดูแลได้ดีกว่า ตรงนี้ภาวะเศรษฐกิจและการดูแลเป็นปัญหาเยอะมาก”

ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมา อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ความเจ็บป่วยในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ก่อนวัยอันควรรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆได้ง่าย เนื่องจากไม่มีผู้ดูแลอย่างดี บางรายอาจถูกกักบริเวณเอาไว้ บางรายใส่ผ้าอ้อมสำหรับผู้ใหญ่ไว้แล้วไม่ได้เปลี่ยน ทำให้เกิดการติดเชื้อ บางรายปัสาวะไม่ออก หรือปัสสาวะผิดปกติ จนในที่สุดเมื่อเสียความทรงจำทุกอย่าง ผู้ป่วยก็ได้แต่นอนเฉยๆ ไม่สามารถรับรู้อะไรได้อีกต่อไป

รู้จัก เข้าใจ และทางป้องกัน...อัลไซเมอร์ก่อนวัย
ภาพจาก alzheimerscaredaily.com
สัญญาณเตือน

อาการของคนที่เป็นโรคอัลไซเมอร์มีความแตกต่างกันออกไป แล้วแต่ปริมาณการเสื่อมของสมอง และการปรับตัวของผู้ป่วย โรคอัลไซเมอร์จะมีลักษณะอาการเด่นๆ ดังนี้

1.ความผิดปกติด้านความทรงจำ
คนไข้มักจะบ่นว่าจำอะไรไม่ได้ หลงๆ ลืมๆ ซึ่งถือเป็นอาการเด่นและพบบ่อยที่สุด โดยเฉพาะการเรียนรู้ข้อมูลใหม่ๆ หรือความจำในอดีตบางอย่าง เช่น ลืมชื่อญาติสนิท ลืมสถานที่หรือทางเข้าบ้าน

2.ความผิดปกติเกี่ยวกับการใช้ภาษา
ในระยะแรกจะไม่สามารถหาคำพูดที่เหมาะสมได้ ระยะต่อมาอาจเรียกชื่อสิ่งของผิด ต่อมาสมาธิจะเสียไป ทำให้ไม่สามารถสนทนาหรือสร้างประโยคเองได้ ต่อมาอาจพูดประโยคได้สั้นลง ระยะหลังอาจพูดซ้ำๆ หรือไม่พูดเลย

3.ความผิดปกติเกี่ยวกับการรู้ทิศทาง เวลา
โดยผู้ป่วยอาจหลงทาง ไม่รู้วัน เวลา สถานที่ บุคคล การนอนผิดปกติ เช่น กลางคืนไม่นอน หรือนอนกลางวันมากเกินไป

4.ความผิดปกติของความเฉลียวฉลาด
ผู้ป่วยในระยะนี้ จะไม่มีความสามารถในเรื่องความมีเหตุมีผล การคำนวณ การแปลสุภาษิต การแยกแยะความเหมือนความต่างของสิ่งของ สูญเสียทักษะต่างๆที่เคยมี เช่น ความสามารถทำงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน การใช้โทรศัพท์ การแต่งตัว การอ่าน การเขียน

5.การเปลี่ยนแปลงทางจิตเวช
ทำให้มีการเปลี่นแปลงด้านบุคลิกภาพ มีอาการของโรคจิต อาการนี้พบในคนไข้อัลไซเมอร์เกือบทุกราย 90-100 เปอร์เซ็นต์ อาจเจออาการตอนเริ่มต้น ตอนกลาง ตอนท้าย เจอได้ตลอดระยะเวลาของการเป็นอัลไซเมอร์ เป็นแล้วหายไป ก็อาจกลับมาเป็นใหม่ ลักษณะบุคลิกภาพที่พบบ่อยมากที่สุด คือ ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง ไม่มีเหตุผล ซึมเศร้า เฉื่อยชา กังวล หงุดหงิด โมโหง่าย หวาดระแวง นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมที่ผิดปกติไป เช่น เดินเพ่นพ่าน ทำอะไรซ้ำซาก ไม่ยอมอยู่กับที่ แสดงออกทางสังคมไม่เหมาะสม มีพฤติกรรมทางเพศผิดปกติ เห็นภาพหลอน หูแว่ว

6.ความผิดปกติทางระบบการเคลื่อนไหว และระบบประสาทส่วนอื่นๆ
จะเกิดในระยะหลังของโรค ความผิดปกติเหล่านี้ ได้แก่ อาการเคลื่อนไหวช้า เรียกว่า กลุ่มอาการคล้ายโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s syndrome) ซึ่งทำให้มีอาการชัก และอาการกระตุก บางคนมีอาการเกร็ง แข็ง บางคนก็เดินช้า

อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยอัลไซเมอร์นั้นหากได้รับการรักษา สามารถมีชีวิตอยู่ได้เฉลี่ย 9-12 ปี หลังจากที่วินิจฉัยว่าเป็น หรือบางคนดูแลอย่างดีอาจอยู่ได้นานถึง 15 ปี

รู้จัก เข้าใจ และทางป้องกัน...อัลไซเมอร์ก่อนวัย
ภาพจาก static.theglobeandmail.ca
ดูแลด้วยความเข้าใจ
การดูแลอาการที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมและการดำเนินชีวิตประจำวัน
1.ให้ผู้ป่วยได้ออกกำลังกายตามสมควร
2.พาเข้าสังคมตามสมควร ให้ได้มีเพื่อน ได้ทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น
3.ปล่อยให้ช่วยเหลือตัวเองบ้าง
4.พาไปเที่ยวเตร่สนุกสนานตามสมควร เพื่อให้ได้เรียนรู้สิ่งแปลกใหม่ ช่วยลดความเครียดได้

การช่วยเรื่องความจำที่บกพร่อง

1.ใช้ปฏิทินช่วยความจำของผู้ป่วยในเรื่องวัน เวลา การนัด การมีกิจกรรมที่จำเป็น ปิดและเปิดม่านรับแสงให้รู้ว่าตอนไหนกลางวันตอนไหนกลางคืน

2.อาจใช้ป้ายชื่อ เขียนชื่อของที่จำเป็นที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น แก้วน้ำ แปรงสีฟัน เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยลืมของของตัวเอง
3.ช่วยเตือนในสิ่งที่ไม่จำเป็น เช่น การวางของให้เป็นที่ จะได้ไม่ลืมง่าย

การติดต่อสื่อสารกับผู้ป่วย
1.เวลาสื่อสารกับผู้ป่วย ให้สบตามองหน้าอย่างใกล้ชิดพอสมควร
2.เวลาพูดให้พูดช้าๆ ชัดๆ ใช้ประโยคง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ไม่ยาวเกินไป
3.พยายามเรียกชื่อผู้ป่วย เพื่อให้เกิดความรู้สึกใกล้ชิด และเป็นการเตือนความจำของผู้ป่วยด้วย
4.พยายามพูดคุยเรื่องในอดีต โดยลำดับขั้นตอนที่ผู้ป่วยคุ้นเคยมาสู่ปัจจุบัน

รู้จัก เข้าใจ และทางป้องกัน...อัลไซเมอร์ก่อนวัย
ภาพจาก mmc.co.th
เตรียมพร้อมป้องกันได้
อาหารการกิน

• ใบแปะก๊วย: สารสกัดจากใบแปะก๊วยมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลางหลายอย่าง เช่น มีสารแอนตี้ออกซิแดนท์ ช่วยให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองได้ดี แปะก๊วยอาจมีประโยชน์ในการป้องกันและรักษาโรคอัลไซเมอร์ได้ ส่วนอาหารเสริมจากใบแปะก๊วยที่รับประทานๆ กัน อาจเกิดผลข้างเคียงทำให้เส้นเลือดขยายตัวหรือทำให้เส้นเลือดฝอยแตกได้ ถ้าจะรับประทานต้องไม่เกิน 60 มิลลิกรัมต่อวัน

• วิตามินอี: แม้จะไม่ช่วยในการป้องกันโดยตรง แต่วิตามินอีก็ช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดสมอง ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับโรคอัลไซเมอร์ นอกจากนี้ยังช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล และป้องกันไม่ให้คอเลสเตอรอลชนิดเลวเข้าไปในหลอดเลือดจนไปขัดขวางการไหลเวียนของเลือด วิตามินอีมีมากใน ถั่วเปลือกแข็งต่างๆ เช่น อัลมอนด์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ผักใบเขียว และธัญพืชต่างๆ

• น้ำมันปลา omega 3 และ DHA: ในน้ำมันปลามีส่วนสำคัญในการพัฒนาสมองโดยเฉพาะด้านความจำและการเรียนรู้ ทั้ง omega 3 และ DHA มีมากในปลาทะเลน้ำลึก เช่น ปลาทูน่า ปลาแซลมอน ปลาโอลาย แต่สำหรับในบ้านเราปลาทะเลที่พบว่ามี omega 3 สูง ได้แก่ ปลาทู ปลากะพง และปลาตาเดียว

• โคลีน: เป็นสารอาหารที่ผลิตได้เองในร่างกาย และเป็นส่วนประกอบของเลซิติน เป็นส่วนหนึ่งของสารอะซีทิโคลีนซึ่งเป็นสารสื่อข่าวในสมอง จากการศึกษาพบว่าคนที่เป็นโรคอัลไซเมอร์มีสารอะซีทิโคลีนในสมองลดน้อยลง แล้วยังพบว่าการเสริมอาหารชนิดนี้อาจช่วยให้คนที่เป็นโรคความจำเสื่อมขั้นต้นมีอาการดีขึ้น โคลีนพบมากในนมแม่ ผักตระกูลกะหล่ำ และข้าวสาลี

รู้จัก เข้าใจ และทางป้องกัน...อัลไซเมอร์ก่อนวัย
ภาพจาก media1.s-nbcnews.com
ฟิตสุขภาพสมอง

• ออกกำลังกาย: การออกกำลังกายเป็นประจำช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้ เพราะจะทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจน เกิดผลดีต่อระบบจิตประสาทซึ่งส่งผลโดยตรงต่อโรคอัลไซเมอร์ นอกจากนี้แล้วการได้ออกกำลังกายยังทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น ทำให้มีปริมาณเลือดไปเลี้ยงสมองเพิ่มมากขึ้น จากการศึกษาพบว่า คนที่ออกกำลังกายครั้งละครึ่งชั่วโมง อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ช่วยลดความเสี่ยงจากอาการหลงลืมเพราะสมองเสื่อมได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์

• ออกกำลังสมอง: การฝึกให้เซลล์สมองได้ทำงานเหมือนเป็นการให้อาหารสมองและให้สมองได้ออกกำลังกายไปพร้อมๆกัน กิจกรรมที่สามารถนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ เช่น การเล่นเกมฝึกสมองต่างๆ อย่าง เกมซูโดคุ เกมปริศนาตัวเลข หรือปริศนาอักษรในรูปแบบต่างๆ พบว่าช่วยป้องกันอัลไซเมอร์ได้•กระตือรือร้น : คนที่ดำเนินชีวิตหรือชอบทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยความกระตือรือร้น เช่น ติดตามรับฟังข่าวสาร เข้าสังคมทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่อยู่เสมอ ชอบทำกิจกรรมกลุ่ม หรือแม้กระทั่งมีกิจกรรมในชีวิตประจำวันมากกว่า มีโอกาสป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์น้อยกว่าคนที่ใช้ชีวิตในทางกลับกันนี้ 47 เปอร์เซ็นต์ การศึกษาหนึ่งพบว่า ผู้หญิงที่มีกิจกรรมในชีวิตประจำวันมากกว่าจะมีความเสื่อมของทางจิตประสาทน้อยกว่าผู้หญิงที่ไม่ค่อยมีกิจกรรม

• ยิ้มย่องผ่องใส: การรู้จักผ่อนคลายอารมณ์ พยายามทำจิตใจให้ผ่องใสอยู่เสมอ ทำให้ร่างกายและจิตใจเกิดความสมดุล ช่วยให้การทำงานของสมอง ต่อมไร้ท่อ และระบบอื่นๆของร่างกายทำงานอย่างสอดคล้องราบรื่น การผ่อนคลายอารมณ์นี้อาจทำได้ด้วยการหัดมองทุกอย่างในแง่บวก หรืออาจใช้การทำสมาธิเข้าช่วยด้วยก็ได้


ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 16 ก.พ 2558