‘ครัวโลกแห่งนวัตกรรม’

Post Reply
brid.ladawan
Posts: 7045
Joined: 29 Mar 2013, 13:36

‘ครัวโลกแห่งนวัตกรรม’

Post by brid.ladawan »

‘ครัวโลกแห่งนวัตกรรม’

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ยังคงเดินหน้านโยบายอย่างต่อเนื่อง โดยเปิดโอกาสให้บุคลากรจากทุกหน่วยงานจำนวน 8 หมื่นคนทั่วประเทศ ได้ระดมความคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อส่งเข้าประกวดในงาน “CPF CEO Awards 2014”

หลังจากหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่ ๆ อย่างจริงจังเมื่อ 3-4 ปี ที่ผ่านมา เพื่อนำมาใช้ต่อยอดในการดำเนินธุรกิจโดยมีเป้าหมายยกระดับให้เป็น “องค์กรแห่งนวัตกรรม” เพื่อก้าวสู่ “ครัวของโลก”

มาในวันนี้ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ยังคงเดินหน้านโยบายอย่างต่อเนื่อง โดยเปิดโอกาสให้บุคลากรจากทุกหน่วยงานจำนวน 8 หมื่นคนทั่วประเทศ ได้ระดมความคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อส่งเข้าประกวดในงาน “CPF CEO Awards 2014” ภายในแนวคิด “หนึ่งความคิดสร้างสรรค์ สามารถสร้างคุณค่าได้อย่างหลากหลาย”

นายวิโรจน์ คัมภีระ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทมีนโยบายส่งเสริมให้พนักงานมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ เนื่องจากมองว่า การขยายธุรกิจโดยเน้นการขยายการลงทุนไปยังประเทศต่าง ๆ ไม่อาจช่วยให้องค์กรเติบโตแบบยั่งยืนได้ จำเป็นต้องคิดนวัตกรรมหรือเทคโน โลยีใหม่ ๆ ที่เป็นของตัวเอง จึงจะสามารถแข่งขัน และก้าวไปสู่สากลได้ ช่วยให้เติบโตได้แบบยั่งยืน จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการนวัตกรรมขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนให้องค์กรไปสู่จุดนั้นให้ได้

“ที่ผ่านมาซีพีเอฟ ได้ศึกษาองค์กรต่าง ๆในระดับโลก เพื่อนำเอามุมมองมาพัฒนา พร้อมทั้งนำแนวทาง TRIZ ซึ่งเป็นทฤษฎีการแก้ปัญหาเชิงประดิษฐ์คิดค้นของรัสเซียมาใช้ เหมือนเช่นองค์กรระดับโลก เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมา และช่วยแก้ปัญหาและอุปสรรคในการทำงานให้ลดลง โดยมีเป้าหมายพัฒนานักวิจัยและนวัตกรที่มีความสามารถเฉพาะด้าน พร้อมให้บุคลากรที่มีความสามารถในแต่ละแผนกเข้าอบรมหลักสูตร TRIZ เพื่อนำมาปรับใช้ในการทำงาน”

นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันซีพีเอฟมีการเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานใน 15 ประเทศ ทั่วโลก และทำการค้าขายมากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก ในปีนี้บริษัทตั้งงบด้านการวิจัยและพัฒนาไว้ 2% จากยอดขายรวมจำนวน 4.5 แสนล้านบาท โดยวางเป้าหมายเพิ่มจำนวนนักวิจัยและนวัตกรให้ได้ไม่น้อยกว่า 1,000 คน ภายใน 3 ปี ข้างหน้า จากปัจจุบันที่มีอยู่ 400 คน หรือให้มีสัดส่วน 100 นวัตกร ต่อ จำนวนบุคลากร 1 หมื่นคน จากปัจจุบันอยู่ที่ 40 นวัตกร ต่อ บุคลากร 1 หมื่นคน เพื่อขับเคลื่อนองค์กรสู่ “ครัวโลกแห่งนวัตกรรม”

สำหรับการประกวดครั้งนี้ มีผู้สนใจส่งผลงานเข้าประกวดมากกว่า 3,323 ชิ้น จาก 18 สายธุรกิจ ครอบคลุมตลอดซัพพลายเชน ตั้งแต่กลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์ (Feed) ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ (Farm) อาหาร (Food) และ ค้าปลีก (Retail) โดยมีผลงานได้รับรางวัลจำนวน 28 ผลงาน

ซึ่งผลงานที่โดดเด่นได้รับรางวัลประเภทนวัตกรรม คือ Healthy Meaty Chick โดย น.ส.จริญญา พรหมรินทร์ ผู้บริหารด้านวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ โรงงานอาหารแปรรูปสระบุรี กล่าวว่า ผลงานนี้เกิดจากแนวคิดที่ต้องการพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าในญี่ปุ่น ที่ชอบรับประทานไก่ในส่วนเนื้อน่องที่มีเนื้อชุ่มฉ่ำ ต่างจากผู้บริโภคในยุโรปที่ชอบรับประทานเนื้อในส่วนหน้าอก จึงต้องการพัฒนาเนื้อตรงส่วนหน้าอกให้มีลักษณะเนื้อชุ่มฉ่ำเหมือนเนื้อตะโพก ด้วยการวางโปรแกรม สูตรการผลิตและเลือกใช้วัตถุดิบที่เหมาะสมคือเกลือและแป้ง จนได้เนื้อที่นุ่ม พร้อมทั้งออกแบบบรรจุภัณฑ์และการขึ้นรูปด้วยฟิล์ม เพื่อโชว์ตัวผลิตภัณฑ์ให้โดดเด่น และใช้หลักการถนอมอาหารแบบวิทยาศาสตร์ขยายเวลาให้ผลิตภัณฑ์มีอายุถึง 45 วัน โดยไม่ใช้สารกันเสีย ปัจจุบันสินค้ามีวางขายเฉพาะในญี่ปุ่น มีปริมาณการขายถึง 1,560 ตัน/ปี คิดเป็นผลกำไรสุทธิ 51 ล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง พร้อมเตรียมขยายตลาดไปยังอาเซียนและฮ่องกง และคิดรสชาติอื่น ๆ เพิ่มด้วย

ขณะที่ น.ส.นิรัชวรรณ เชาวนศิลป์ เจ้าหน้าที่วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ธุรกิจโรงงานแปรรูปไข่ กล่าวว่า ได้พัฒนาเต้าหู้ไข่ผสมผัก ซึ่งแนวคิดเกิดจากต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้เต้าหู้ไข่ ซึ่งปัจจุบันเด็ก ๆ ชอบรับประทานในแกงจืด ขณะเดียวกันเด็กจะไม่ชอบรับประทานผักเพราะมีรสชาติขม จึงคิดที่จะนำผักมาผสมในเต้าหู้ไข่เพื่อให้มีคุณค่าทางอาหารเพิ่มขึ้น โดยนำผัก 3 ชนิด คือ ฟักทอง บรอกโคลี และแครอท มาผสม ทำให้ได้ 3 รสชาติ พร้อมทั้งผสมโอเมก้า 3 ที่สกัดจากปลาทูน่า ทำให้มีประโยชน์มากขึ้น ขณะที่รสชาติไม่ขมเด็กรับประทานได้ดี ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและขายได้ในราคาสูงกว่าเต้าหู้ไข่แบบเดิม

ส่วนอีกผลงานคือ On The Go High Protein Snacks โดย น.ส.สิริลักษณ์ ว่อง เจ้าหน้าที่วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ โรงงานอาหารแปรรูปสระบุรี กล่าวว่า แนวคิดของผลงานเกิดจากปัจจุบันคนไทยชอบรับประทานสแน็คหรือขนมขบเคี้ยวมากแต่ของในท้องตลาดยังขาดผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ จึงคิดนำเนื้อไก่มาแปรรูปทำเป็นสแน็คให้สามารถรับประทานได้ง่าย มีคุณค่าทางอาหารและพกพาได้สะดวก ซึ่งยังไม่มีขายในเอเชียโดยปัจจุบันสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์นี้วางขายแล้วมี 3 รสชาติ มียอดขายรวม 995 ตันใน 1 ปี สร้างกำไรให้บริษัทจำนวน 14.5 ล้านบาท

และผลงานสุดท้าย คือ “เครื่องนับชิ้นและบรรจุสินค้าอัตโนมัติ” พัฒนาโดยทีมวิศวกร ของโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ สระบุรี โดยใช้ในการนับชิ้นและบรรจุสินค้าลงบรรจุภัณฑ์ สามารถช่วยประหยัดต้นทุนการจ้างงานและลดปัญหานับสินค้าผิดพลาด โดยช่วยลดการใช้แรงงานคนจาก 20 คน/วัน เหลือ 4 คน/วัน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต จาก 40 กิโลกรัม/คน/ชั่วโมง เป็น 125 กิโลกรัม/คน/ชั่วโมง เพิ่มประสิทธิภาพได้มากขึ้นถึง 200%

สุดท้ายผู้บริหารจากซีพีเอฟ บอกว่า สิ่งเหล่านี้ถือเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้นหากเทียบกับองค์กรอื่น ๆ ในระดับโลก แต่ซีพีเอฟได้ตั้งเป้าหมายว่าต้องมีผลงานที่สามารถจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรได้มากกว่า 100 ผลงาน ให้ได้ในอีก 5 ปีข้างหน้า.

จิราวัฒน์ จารุพันธ์
JirawatJ@dailynews.co.th

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 17 ก.พ 2558
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”