แก่นมะกรูด..พื้นที่เที่ยวใหม่ ดันเพิ่มรายได้แทนบุกรุกป่า

Post Reply
brid.ladawan
Posts: 7045
Joined: 29 Mar 2013, 13:36

แก่นมะกรูด..พื้นที่เที่ยวใหม่ ดันเพิ่มรายได้แทนบุกรุกป่า

Post by brid.ladawan »

แก่นมะกรูด..พื้นที่เที่ยวใหม่ ดันเพิ่มรายได้แทนบุกรุกป่า

“สตรอเบอรี่” ยังกลายเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ในการหยุดยั้งการบุกรุก…พื้นที่ป่าห้วยขาแข้งมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะผลจากการปลูกสตรอเบอรี่สามารถสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านแก่นมะกรูดได้

ใครจะเชื่อ!! ว่าเดี๋ยวนี้ที่ตำบลแก่นมะกรูด อำเภอบ้านไร่จังหวัดอุทัยธานี สามารถปลูกผลไม้เมืองหนาวยอดฮิตอย่าง’สตรอเบอรี่“ กันได้แล้วที่สำคัญที่แห่งนี้…ยังกลายเป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยวอีกต่างหากเพราะตั้งแต่เดือน ธ.ค. 57 ที่ผ่านมาบรรดานักท่องเที่ยวจำนวนมากต่างเข้ามาท่องเที่ยวเพื่อลงแปลงเก็บสตรอเบอรี่กันสด ๆ อย่างดาษดื่นแบบชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ด้วยสภาพพื้นที่ที่มีความสูง 600-800 เมตรจากระดับน้ำทะเลอุณหภูมิเฉลี่ย 24 องศาเซลเซียส และหากเป็นฤดูหนาวอุณหภูมิยังลดต่ำลงไปอยู่ที่ 5-8 องศาเซลเซียส จึงเหมาะสมที่จะปลูกผลไม้และไม้เมืองหนาวได้ทั้งสตรอเบอรี่ ทั้งอโวคาโด หรือดอกไม้เมืองหนาว

ไม่เพียงเท่านี้…การปลูกสตรอเบอรี่ยังกลายเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน 704 ครัวเรือน และสามารถนำมาปลดหนี้ปลดสินที่มีอยู่กว่า 80 ล้านบาทให้กับชาวบ้านเหล่านี้ได้แม้ไม่สามารถล้างหนี้ได้ทั้งหมดก็ตามแต่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านแก่นมะกรูดพบกับหนทางทำรายได้ที่ดีกว่าการปลูกข้าวโพด เพราะการปลูกข้าวโพดในแต่ละครั้งจะมีเงินเหลือเพียง 5,000 บาทต่อการปลูกข้าวโพด 15 ไร่ แต่เมื่อหันมาปลูกสตรอเบอรี่กลับกลายเป็นว่าในพื้นที่แต่ละไร่นั้นกลับทำรายได้ให้มากกว่า 1 แสนบาทกันทีเดียว

ที่สำคัญ!! “สตรอเบอรี่” ยังกลายเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ในการหยุดยั้งการบุกรุก…พื้นที่ป่าห้วยขาแข้งมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะผลจากการปลูกสตรอเบอรี่สามารถสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านแก่นมะกรูดได้อย่างงามทดแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่าง ข้าวโพด ได้เป็นอย่างดีแม้การปลูกสตรอเบอรี่จะเป็นเพียงการปลูกระยะสั้น ๆ ไม่กี่เดือนก็ตาม…

“เผด็จ นุ้ยปรี” นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุทัยธานี บอกว่า ตัวเองนึกไม่ถึงเลยจริง ๆ ว่า การทดลองปลูกสตรอเบอรี่ที่แก่นมะกรูดจะได้ผลดีเกินคาด จนสามารถทำให้ชาวบ้านที่นี่เริ่มลืมตาอ้าปากได้บ้างเพราะก่อนหน้านี้ชาวบ้านแก่นมะกรูดซึ่งส่วนใหญ่เป็นกะเหรี่ยงโปประกอบอาชีพปลูกข้าวโพดที่ต้องอาศัยนายทุนเกือบทุกอย่าง ตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง แถมยังต้องการมีรายได้เพิ่มขึ้นจึงขยายพื้นที่เพาะปลูกโดยใช้รถไถบุกรุกป่าเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และเจ้ารถไถนี่เอง! ที่เป็นเรื่องที่ชาวบ้านต้องมีเหมือนกันทุกครัวเรือนถ้าไม่มีก็ไม่โก้ และการไถหน้าดินบุกรุกป่านี่เองทำให้ชาวบ้านต้องใช้ปุ๋ยเพิ่มขึ้นขณะที่การขาดแคลนน้ำยังคงเป็นปัญหาหลักฝายที่มีอยู่ก็ใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่รวมไปถึงการดูแลปรับปรุงดินที่ไม่ดีและการปลูกพืชที่ไม่เหมาะสมทำให้ชาวบ้านไม่มีรายได้เพิ่มขึ้นแต่มีรายจ่ายจากเจ้ารถไถจึงทำให้ชาวบ้านยิ่งมีหนี้เพิ่ม

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ อบจ.อุทัยธานี อบต.บ้านไร่ต้องร่วมมือกับโครงการปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ นำ ’ศาสตร์ของพระราชา“ คือการเข้าใจ เข้าถึงและพัฒนา เข้ามาปรับใช้เพื่อแก้ปัญหาของชาวบ้านไม่ให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่าที่เป็นป่ามรดกโลกและทำให้ชาวบ้านมีกิน โดยขั้นตอนการทำงานนั้นได้สำรวจพื้นที่ทำกินของชาวบ้านอย่างชัดเจนไม่ให้มีการบุกรุกป่าเพิ่มขึ้น มีการบริหารจัดการน้ำโดยซ่อมแซมฝายและจัดทำบ่อพลวงเพื่อใช้ทำการเกษตรการปลูกป่าเศรษฐกิจโดยมีการนำผลไม้หลายประเภทเข้ามาปลูกทั้งทุเรียน เงาะ มังคุด เป็นต้นซึ่งพืชเหล่านี้อาจต้องใช้เวลาอีก 4-5 ปี รวมไปถึงการปลูกกล้วยที่ทำรายได้เป็นอย่างดีแถมเป็นร่มเงา

ส่วนเวลานี้…ที่ยังรอพืชผลใหญ่ออกดอกออกช่อหรือได้ผลผลิตก็ใช้วิธีปลูกสตรอเบอรี่ไปก่อนเพื่อทำรายได้ในช่วงระยะสั้น ๆ เพียงแค่ไม่กี่เดือนก็ทำรายได้ให้เป็นกอบเป็นกำ ที่สำคัญยังมีการจัดสรรพื้นที่ให้เป็น “ตลาดกะเหรี่ยง” โดยกะเหรี่ยงทุกคนในพื้นที่บ้านแก่นมะกรูดสามารถนำผลผลิตทางการเกษตรมาขายได้และแทบไม่น่าเชื่อว่าตลาดเล็ก ๆ แห่งนี้จะคึกคักเพราะได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวมาเลือกซื้อผลิตภัณฑ์และทำรายได้ให้กับกะเหรี่ยงเหล่านี้เดือนหนึ่งถึง 2 หมื่นบาททีเดียว ซึ่งชาวบ้านเองก็เริ่มเห็นแล้วว่ามีรายได้ดีกว่าแต่ก่อนมากและถ้าทำไปเช่นนี้เรื่อย ๆ ก็จะตกทอดเป็นมรดกของลูกหลานทำกินกันต่อไปไม่ต้องไปบุกรุกป่าอีก

นายกฯ อบจ.อุทัยธานีบอกว่า ปัจจุบันนี้มีเกษตรกรใน 4 หมู่บ้านของ ต.แก่นมะกรูด จำนวน 36 รายที่ได้เข้ามาร่วมกับโครงการเพื่อปลูกสตรอเบอรี่บนพื้นที่ 24 ไร่ 1 งาน และมีแปลงทดลองปลูกของโครงการอีกประมาณ 4 ไร่ โดยเวลานี้อยู่ระหว่างเก็บผลผลิตเป็นครั้งที่ 2 ของการปลูกฤดูตั้งแต่ช่วง ส.ค.-ก.ย. 57 ซึ่งมีทั้งพันธุ์พระราชทาน 80 และพันธุ์ 329 (เยล) แม้ว่าผลสตรอเบอรี่ที่ออกมาจะไม่ใหญ่โตเหมือนที่สะเมิงเชียงใหม่แต่รสชาติหวานอร่อย

อย่างไรก็ดี แม้ว่าการปลูกสตรอเบอรี่จะได้ผลดีเกินคาดแต่นายก อบจ. “เผด็จ” บอกว่า ยังเป็นโครงการใหม่และจะทำให้เกิดความยั่งยืนให้ได้โดยทำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวต่อโดยพัฒนาและตระเตรียมพื้นที่เพื่อปลูกต้นไม้เมืองหนาว รวมถึงพยายามนำเรื่องราวของความเป็นป่าห้วยขาแข้งป่ามรดกโลกรวมถึง “บิ๊กเซเว่น” ทั้ง 7 ชนิดคือ วัวแดง สมเสร็จ กระทิง ช้าง เสือโคร่ง เสือดำ เสือดาว มาจัดทำเป็นแหล่งความรู้เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาท่องเที่ยวมากขึ้นด้วย

“สีฟ้า กรึงไกร” ชาวบ้าน ต.แก่นมะกรูด ที่หันมาเอาดีทางการปลูกสตรอเบอรี่ขายบอกว่าแม้ที่ผ่านมาตัวเองจะเคยปลูกไร่สตรอเบอรี่มาก่อนแต่ด้วยความที่ไม่รู้ในทุกด้าน ทั้งการปลูก การดูแล ทำให้ไม่ประสบผลสำเร็จทำให้ต้องเปลี่ยนอาชีพไปขายของ แต่เมื่อหันกลับมาปลูกสตรอเบอรี่อีกครั้งด้วยความตั้งใจจริงโดยนำที่ดินประมาณ 1ไร่ มาร่วมกับโครงการพบว่าชีวิตเปลี่ยนไป เริ่มทำมาหากินกับเงินที่ได้จากการขายสตรอเบอรี่ซึ่งเวลานี้ขายได้แล้วประมาณ 6-7 หมื่นบาทเชื่อว่าเมื่อหมดฤดูกาลน่าจะมีรายได้เป็นแสนบาททีเดียวถือว่าพอใจมาก

โครงการพื้นที่ต้นแบบบูรณาการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ ต.แก่นมะกรูด แห่งนี้ ถือเป็นพื้นที่ต้นแบบดำเนินงานตามแผนพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ประยุกต์ฯ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดย ม .19 ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนฯ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าหากชาวบ้านมีช่องทางที่หารายได้เลี้ยงตัวเองได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนชาวบ้านก็พร้อมที่จะเลิกวิถีชิวิตที่เคยทำเพื่อหันมาหาชีวิตใหม่โดยไม่ต้องบุกรุกป่าและเป็นหนี้เป็นสินอีกต่อไป…

มาริสา ช่อกระถิน


ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2558
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”