Page 1 of 1

ONE's View‏ : จัดพอร์ตการลงทุนอย่างไรให้เหมาะสมในช่วงครึ่งแร

Posted: 21 Feb 2015, 13:56
by brid.ladawan
ONE's View‏ : จัดพอร์ตการลงทุนอย่างไรให้เหมาะสมในช่วงครึ่งแรกของปี 58

โดย ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ
Dr. win@one-asset.com

สวัสดีครับ ช่วงนี้ตัวเลขเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ เริ่มทยอยประกาศกันออกมาเรียบร้อยแล้วนะครับ โดยรวมปีที่ผ่านมาตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งตามที่คาดในช่วงก่อนหน้า ขณะที่ประเทศอื่นๆ เช่น ยูโรโซน ญี่ปุ่น จีน รวมถึงไทย ยังคงเติบโตอย่างเปราะบางและยังต้องอาศัยนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐเพื่อผลักดันเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้

สำหรับในปีนี้ ผมมองว่าเศรษฐกิจโลกน่าจะเติบโตได้ดีกว่าปีที่ผ่านมาเล็กน้อย โดยน่าจะขยายตัวได้ประมาณ 3.3-3.5% เมื่อเทียบกับปี 2014 ซึ่งประเทศที่น่าจะมีการเติบโตของเศรษฐกิจได้ดีสุด ได้แก่ สหรัฐอเมริกาที่น่าจะขยายตัวได้ค่อนข้างดีจากการบริโภคและการลงทุนในประเทศที่เริ่มกลับเข้าสู่ระดับปกติ โดยเฉพาะตลาดจ้างงาน จนทำให้ต่างคนคาดกันว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจชะลอมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงิน โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอนาคตได้ ขณะที่ประเทศอื่นๆ อย่างเช่น ยูโรโซน จีน และญี่ปุ่น รวมถึงไทย ยังคงต้องพึ่งพิงมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องเพื่อผลักดันเศรษฐกิจ

โดยประเทศที่น่าสนใจในปีนี้รองลงมาจากสหรัฐอเมริกา ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และอาเซียน รวมถึงไทย โดยเศรษฐกิจจีน แม้ว่าในช่วงปีที่ผ่านมาจีดีพีจะเติบโตได้ 7.4% ชะลอลงจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัว 7.7% แต่ด้วยนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจนผ่านนโยบายการเงินและการคลัง รวมทั้งการปฏิรูปเศรษฐกิจของจีนที่ชัดเจน โดยเฉพาะการอัดฉีดเงินสดและการปรับลดอัตราการกันเงินสดสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งการเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั้งในและระหว่างประเทศ ทำให้มองว่าปีนี้จีนน่าจะรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจได้เฉลี่ยที่ 7% ซึ่งใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา

ขณะที่ญี่ปุ่น หลังจากที่ตัวเลขเศรษฐกิจปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะผ่านพ้นภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession) แต่ก็ขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ และแรงผลักดันของนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่องหลังจากที่มีการอัดฉีด QE ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา นอกเหนือจากการสานต่อนโยบายดอกที่ 3 ภายใต้นโยบายอาเบะโนมิกส์ ขณะที่การส่งออกของญี่ปุ่นน่าจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้หลังจากที่ค่าเงินเยนมีทิศทางอ่อนค่าลงจากการผ่อนคลาย QE ของธนาคารกลางญี่ปุ่น และค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นจากเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่ฟื้นตัว ทำให้มองว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปีนี้น่าจะขยายตัวได้ดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ด้านเศรษฐกิจยูโรโซน แม้ว่าตัวเลขจีดีพีในปี 2557 จะเติบโตได้ดีกว่าที่คาด นำโดยเศรษฐกิจเยอรมนี และสเปน แต่ก็ยังมีประเทศหลักอย่างเช่น ฝรั่งเศส และอิตาลียังคงเปราะบาง รวมทั้งสัญญาณของการปล่อยสินเชื่อต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจของธนาคารพาณิชยแก่ภาคเอกชนที่ยังขยายตัวไม่มากนักและต่ำกว่าเป้าหมายของการอัดฉีดสภาพคล่องผ่าน QE ของธนาคารกลางยุโรป อีกทั้งยังคงมีความขัดแย้งเชิงภูมิศาสตร์ระหว่างประเทศยูเครนและรัสเซียที่ยังไม่คลี่คลายในบางพื้นที่ และปัญหาหนี้ของกรีซ ซึ่งนักลงทุนต้องติดตามความคืบหน้าของสถานการณ์ดังกล่าว แต่คาดว่าน่าจะอยู่ในภาวะที่บริหารจัดการได้และผลกระทบอยู่ในขอบเขตที่จำกัด โดยเศรษฐกิจยูโรโซนปีนี้น่าจะอยู่ในระหว่างการฟื้นตัวและต้องพึ่งพิงเม็ดเงินอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลางยุโรปต่อไป โดยคาดว่าปีนี้ทางธนาคารกลางยุโรปก็น่าจะมีแนวโน้มในการอัดฉีดปริมาณเงินเพิ่มเติมหลังจากที่มีการตัดสินใจเพิ่มการอัดฉีดสภาพคล่องไปแล้วในเดือน ม.ค. 58

ขณะที่เศรษฐกิจอาเซียนในปีนี้ คาดว่าหลายประเทศในกลุ่มอาเซียนน่าจะฟื้นตัวได้ดีขึ้นจากมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นหลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง ขณะที่ไทยเองก็น่าจะเข้าสู่ภาวะการฟื้นตัวได้ โดยปัจจัยที่ผลักดันให้เติบโตได้มาจากการบริโภคและการลงทุนในประเทศที่ทยอยกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ จากแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐผ่านการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและการผลักดันโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการส่งออกปีนี้น่าจะขยายตัวได้ดีกว่าปีที่ผ่านมาเช่นกัน

และจากมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจโลกในปีนี้ที่น่าจะขยายตัวได้เล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่ออัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพิ่มเติมของธนาคารกลางหลัก ทำให้ผมมองว่าการลงทุนในหุ้นยังคงเป็นที่น่าสนใจในปีนี้ โดยผมแนะนำว่าในครึ่งแรกของปี นักลงทุนอาจลงทุนในหุ้นไทยในสัดส่วน 45% ของพอร์ตการลงทุน และกระจายการลงทุนในต่างประเทศอีก 25% แบ่งเป็นสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน และอาเซียน ตามลำดับ

ในส่วนของสินค้าโภคภัณฑ์อย่างทองคำ แนะนำให้ลงทุนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยมากกว่าสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มให้กับพอร์ตการลงทุน เนื่องจากมองว่าปัจจัยพื้นฐานและอัตราเงินเฟ้อที่ยังไม่เร่งสูงขึ้นในช่วงเวลานี้ทำให้ราคาทองคำยังไม่น่าจะปรับตัวได้อย่างหวือหวา ดังนั้นจึงแนะนำให้ลงทุนในทองคำประมาณ 3% และน้ำมัน 7% เนื่องจากมองว่าราคาน้ำมันน่าจะยังมี Upside gain และ Downside Risk ที่จำกัดมากขึ้นจากปริมาณอุปทานน้ำมันที่ลดลง

ขณะที่ลงทุนในตราสารหนี้ 20% ของพอร์ตการลงทุนเพื่อลดความผันผวนจากการลงทุนของพอร์ต โดยเน้นการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นมากกว่าระยะยาวเนื่องจากเป็นการลดทอนความเสี่ยงของความผันผวนของราคาตราสารหนี้หากอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่ได้ปรับลดลงตามที่ตลาดคาดการณ์

ตัวเอียง///ทั้งนี้ การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน////


ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2558