Page 1 of 1

เปิดประสบการณ์ ‘3 สุดยอด SMEs’ รวยเงินล้านด้วย “ออนไลน์!”

Posted: 21 Feb 2015, 14:03
by brid.ladawan
เปิดประสบการณ์ ‘3 สุดยอด SMEs’ รวยเงินล้านด้วย “ออนไลน์!”

ปฏิเสธไม่ได้ว่า โลกยุคนี้การใช้อินเตอร์เน็ตในการทำธุรกิจมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยตัวอย่างแห่งความสำเร็จที่จะกล่าวถึงในครั้งนี้ คือ “3 สุดยอด SMEs” ที่ถือเป็นโมเดลของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ นำสื่อออนไลน์มาใช้ แล้วได้ผลสูงสุด ช่วยให้ธุรกิจของแต่ละท่านมียอดขายทะลุหลักร้อยล้านต่อปี

เปิดประสบการณ์ ‘3 สุดยอด SMEs’ รวยเงินล้านด้วย “ออนไลน์!”
“เจคิว ปูม้านึ่ง Delivery” ขายอาหารทะเลออนไลน์ ยอดขาย 10 ล้านบาทต่อเดือน

จากที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงอาหารทะเล ทั้งงานประจำและธุรกิจของครอบครัว ทำให้ “สุรีรัตน์ ศรีพรหมคำ หรือคุณโอ๋” เกิดไอเดียนำปูม้าสดๆ มานึ่งพร้อมส่งขายในกรุงเทพฯ จากความคิดที่ว่าปูม้านึ่งสดในเมืองหลวงค่อนข้างหากินยาก รวมถึง ราคาค่อนข้างสูง

ทว่า จะทำอย่างไรให้ธุรกิจลักษณะนี้เป็นที่รู้จัก เธอจึงเลือกใช้ช่องทางประชาสัมพันธ์ผ่านทางสื่อออนไลน์ โดยใช้ "เฟซบุ๊ก" เป็นหน้าร้าน

คุณโอ๋ เสริมว่า เริ่มใช้ช่องทางสังคมออนไลน์ในการขายอาหารทะเลเมื่อปี พ.ศ. 2555 ซึ่งในเวลานั้นยังไม่มีใครคิดทำธุรกิจลักษณะนี้เลย จนกลายเป็นเจ้าแรกที่บุกเบิกอาหารทะเลผ่านเฟซบุ๊ก (Facebook) ก่อนจะขยายไปสู่สังคมออนไลน์ยอดฮิตอื่นๆ อย่าง “อินสตาแกรม” และ “ไลน์” ในเวลาต่อมา

“ก่อนหน้านี้เราพยายามค้นหากลยุทธ์ทางการตลาดที่เหมาะสมกับแบรนด์ โดยใช้วิธีดั้งเดิมอย่างการแจกใบปลิวเพื่อสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนักและมีต้นทุนการผลิตที่สูง เลยลองหันทำตลาดผ่านเฟซบุ๊ก ด้วยการทำอาหารเมนูต่างๆ แล้วถ่ายรูปแล้วโพสต์บนเฟซบุ๊ก จากนั้นเกิดกระแสลูกค้าช่วยแชร์ต่ออย่างรวดเร็วมาก มีลูกค้าเริ่มสั่งอาหารเข้ามาเรื่อยๆ ยอดไลก์ก็เพิ่มแบบก้าวกระโดด ทำให้ได้ลูกค้าเข้ามาไม่ขาดสาย” ผู้บุกเบิกอาหารทะเลออนไลน์เล่าการทำตลาดเบื้องต้น

เปิดประสบการณ์ ‘3 สุดยอด SMEs’ รวยเงินล้านด้วย “ออนไลน์!”
สุรีรัตน์ ศรีพรหมคำ เจ้าของธุรกิจ “เจคิว ปูม้านึ่ง Delivery”
เธอระบุว่า สิ่งสำคัญของการทำธุรกิจออนไลน์ของ “เจคิว ปูม้านึ่ง Delivery” มีอยู่ 3 ข้อ ได้แก่ 1. การเพิ่มการรู้จักแบรนด์ 2. การเพิ่มยอดขายให้ได้สูงสุด และ 3. การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า ในด้านการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักและขยายฐานลูกค้า

นอกจากนั้น อีกกลยุทธ์ที่ใช้แล้วได้ผลอย่างดียิ่ง คือ การทำกิจกรรมโปรโมชันกับลูกค้าในแฟนเพจ ช่วยทั้งสร้างสัมพันธ์และดึงดูดลูกค้า รวมถึงยังเป็นการขอบคุณลูกค้าที่ให้การสนับสนุนไปในตัวด้วย เช่น กิจกรรมแจกตุ๊กตาเฟอร์บี้ให้แก่ลูกค้าที่กดไลก์และแชร์ หรือแจกแพกเกจไปเที่ยวประเทศเกาหลี ซึ่งล้วนแต่ประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลาย

ปัจจุบัน เจคิว ปูม้านึ่งฯ มียอดขายจากการค้าขายบนโลกออนไลน์ เมนูปูม้านึ่งประมาณ 200-300 กิโลกรัมต่อวัน สร้างยอดขายประมาณ 10 ล้านบาทต่อเดือน ฟังแล้วเป็นตัวเลขที่สูงมาก เชิญชวนให้มาทำตลาดผ่านออนไลน์ ทว่า เจ้าของธุรกิจไม่ลืมที่จะเตือนผู้สนใจจะทำตลาดผ่านช่องทางนี้ ต้องระวังเรื่องการรักษาชื่อเสียง เพราะในโลกออนไลน์สามารถจะทำให้ธุรกิจแจ้งเกิดหรือดับได้ในเวลารวดเร็ว

เปิดประสบการณ์ ‘3 สุดยอด SMEs’ รวยเงินล้านด้วย “ออนไลน์!”
ก๋วยเตี๋ยว “เจ๊กเม้ง” สร้างชื่อกระฉ่อนด้วยแชะ! และแชร์

“เจ๊กเม้ง” ร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อเล็กๆ ใน จ.เพชรบุรี ได้รีแบรนด์จากร้านเก่าแก่ขายแค่ในท้องถิ่น มาสู่เจ้าดังประจำจังหวัด และสู่ระดับประเทศในปัจจุบัน ช่วยขยายตลาดเปิดกว้างรองรับลูกค้านักท่องเที่ยวทั่วประเทศ โดยสร้างชื่อผ่านการบอกต่อในโลกอินเตอร์เน็ต

ผู้ที่เข้ามาพลิกโฉมร้านก๋วยเตี๋ยว “เจ๊กเม้ง” คือ ธีรศานต์ สหัสสพาศน์ ซึ่งปัจจุบัน นอกจากธุรกิจของตัวเองแล้ว ยังรับหน้าที่เป็นที่คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาด้วย

เวลานั้น เขามีอายุเพียง 25 ปีเท่านั้น โดยจุดเริ่มต้น ร้าน “เจ๊กเม้ง” เปิดมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2499 โดยเจ้าของที่แท้จริง คือ“นายลิ่มเชียง แซ่ไหล” ซึ่งกำลังจะเลิกกิจการเพราะขาดคนดูแล แต่ครอบครัวของเขา เสียดายสูตรก๋วยเตี๋ยวที่อร่อยเป็นที่ยอมรับ กับชื่อเสียงร้านที่สะสมมานาน จึงอาสาเข้ามาสานต่อกิจการ โดยมอบหมายให้เขาเป็นผู้พัฒนาร้านทั้งหมด

หลังเข้ามาดูแลร้าน จุดอ่อนแรกที่มองเห็นและต้องการเปลี่ยนทันที คือ เดิมลูกค้ามีเฉพาะขาประจำในพื้นที่รอบๆ ร้าน ซึ่งติดใจรสชาติ ยอดขายต่อวันเฉลี่ย 3-4 พันบาท ไม่สามารถจะเพิ่มได้มากกว่านี้ เพราะจำนวนลูกค้ามีจำกัด ดังนั้น มุ่งปรับตำแหน่งจากร้านดังในท้องถิ่น ให้กลายเป็นร้านดังประจำจังหวัด เพื่อขยายหาลูกค้ากลุ่มใหม่ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่จะมาพักผ่อนชะอำ หรือหัวหิน

เปิดประสบการณ์ ‘3 สุดยอด SMEs’ รวยเงินล้านด้วย “ออนไลน์!”
ธีรศานต์ สหัสสพาศน์ ผู้ก่อตั้งก๋วยเตี๋ยวเจ๊กเม็ง และ SOdA -PrintinG.com ปัจจุบัน รับหน้าที่คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
สิ่งสำคัญได้นำโซเชียลเน็ตเวิร์กมาเป็นสื่อในการโฆษณาร้าน โดยเครื่องมือที่ใช้เป็นเว็บของฟรีที่หาได้ในอินเตอร์เน็ตทั่วไป เช่น facebook และ youtube เป็นต้น โดยเทคนิคง่ายๆ จะถ่ายรูปอาหารเมนูต่างๆ แล้วโพสต์ขึ้นตามเว็บไซต์ต่างๆ ซึ่งทุกภาพจะแอบสอดแทรกโลโก้ร้านไว้ให้มากที่สุด ทั้งที่ภาชนะ หรือสิ่งของตกแต่งร้าน เพื่อให้ผู้พบเห็นคุ้นตา และเสาะหามาที่ร้านได้ รวมถึง ทุกภาพจะถ่ายในมุมภาพเดิม สร้างการจดจำแก่ผู้พบเห็น และสร้างเอกลักษณ์ประจำตัว

ภาพที่โพสต์ขึ้นไป เมื่อลูกค้ามากินที่ร้านแล้วเกิดประทับใจ มักไปโพสต์ข้อความ ถ่ายรูป เล่าถึงความอร่อย และแนะนำบอกต่อให้เพื่อนๆ ในสังคมออนไลน์ของตัวเองมาลองชิมบ้าง ช่วยให้กิจการร้านเติบโตอย่างรวดเร็ว อีกทั้ง ยังช่วยเพิ่มชีวิตชีวาให้หน้าเว็บอยู่เสมอ เสริมความน่าเชื่อถือด้านความอร่อยมากกว่าทางร้านโพสต์เองฝ่ายเดียว

นอกจากนั้น ฐานข้อมูลลูกค้าขาประจำในโซเชียลเน็ตเวิร์ดังกล่าว มีความสำคัญอย่างยิ่ง สำหรับใช้ต่อยอดธุรกิจ ซึ่งจะมี คอยดูแลตอบคำถามผ่านเว็บบอร์ด รวมถึง แจ้งข่าวสารให้สมาชิกรับทราบ เช่น ส่งข้อความบอกโปรโมชั่นพิเศษประจำเดือน หรือแจ้งเมนูใหม่ เพื่อกระตุ้นให้แฟนคลับกลับมากินซ้ำ

ทั้งนี้ การนำโซเชียลเน็ตเวิร์กมาสนับสนุนการตลาด มีข้อดีมากมาย ทั้งประหยัดเงิน สื่อสารถึงลูกค้าเป้าหมายได้โดยตรง และตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจพฤติกรรมลูกค้าอย่างดี เช่น การแจ้งข้อมูลหรือข่าวสารต่างๆ ต้องเหมาะสม ไม่รบกวนความเป็นส่วนตัวของลูกค้าจนเกินไป

เปิดประสบการณ์ ‘3 สุดยอด SMEs’ รวยเงินล้านด้วย “ออนไลน์!”
“ศรีจันทร์” พลิกแบรนด์ในตำนาน เปิดตลาดคนรุ่นใหม่ด้วยโซเชียลเน็ตเวิร์ค

แบรนด์เครื่องสำอางรุ่นเดอะ “ผงหอมศรีจันทร์” อยู่มากว่า 60 ปีที่แล้ว ที่ผ่านมามีสภาพแค่ประคองตัว จนเมื่อทายาทรุ่น 3 อย่าง “รวิศ หาญอุตสาหะ” เมื่อเข้ามารับหน้าที่เป็นหัวเรือใหญ่คนใหม่ขององค์กร ได้รีแบรนด์ให้ภาพของ “ผงหอมศรีจันทร์” จากเครื่องสำอางโบราณล้าสมัยมาสู่แบรนด์สำหรับคนรุ่นใหม่

การปรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายใหม่ให้ขยายสู่กลุ่มคนวัยเด็กลง หรือเป็นแบรนด์เพื่อวัยรุ่นมากยิ่งขึ้น จากเดิมผงหอมศรีจันทร์ ผู้ใช้จะเป็นสุภาพสตรีวัยตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป อยู่ตามต่างจังหวัด ทางภาคใต้และเหนือเป็นหลัก ให้ปรับมาสู่เครื่องสำอางของเด็กสาวในเมือง วัยตั้งแต่ 20 ปี ซึ่งใส่ใจสุขภาพโดยการใช้สมุนไพร

วิธีการปรับโฉมดังกล่าว เริ่มตั้งแต่ปรับบรรจุภัณฑ์ให้เป็นตลับที่ดูสดใส ส่วนภายในยังเป็นสูตรแป้งแบบต้นตำรับดั้งเดิมที่ได้รับความเชื่อถืออยู่แล้ว นอกจากนั้น เสริมทางเลือกบรรจุภัณฑ์นานาประเภท เช่น แบบซอง แบบกระป๋องพลาสติก รวมถึง ในเวลาต่อมา ได้ปรับชื่อแบรนด์ให้กระชับขึ้นจาก “ผงหอมศรีจันทร์” เหลือแค่ “ศรีจันทร์”

พร้อมกันนั้น เดินหน้าทำตลาดในช่องทางใหม่ๆ และเมื่อกลุ่มเป้าหมายต้องการขยายไปสู่คนวัยน้อยลง จำเป็นต้องอาศัยสื่ออย่างออนไลน์ โดยมีทั้งทำหนังโฆษณา และอัดโปรโมชั่นต่างๆ สร้างกิจกรรมเพิ่มความสนใจให้สินค้า ทุกอย่าง ล้วนมีจุดประสงค์หลักให้ลูกค้าเป้าหมายจดจำแบรนด์ “ศรีจันทร์” ในภาพลักษณ์ใหม่ที่ทันสมัย

เปิดประสบการณ์ ‘3 สุดยอด SMEs’ รวยเงินล้านด้วย “ออนไลน์!”
รวิศ หาญอุตสาหะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผงหอมศรีจันทร์ จำกัด
ที่ผ่านมา คุณรวิศได้ให้ความสำคัญในการทำสื่อแห่งอนาคตนี้อย่างมาก ทั้งโปรโมทผ่านเว็บไซต์ และสังคมออนไลน์ต่างๆ มีทีมงานโดยเฉพาะแจ้งข่าวสารต่อเนื่อง โดยปีที่ผ่านมา อัดงบโฆษณาในสื่อออนไลน์มากถึง 25% ของงบประมาณทำตลาดทั้งหมด

ทั้งนี้ ปีแรกที่คุณรวิศเข้ามาบริหารงาน สร้างยอดขายให้บริษัท 30 ล้านบาท และตัวเลขเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เฉลี่ยปีละ 30-40% ปี 2556 ยอดขายได้ถึง 250 ล้านบาท และปี 2557 อยู่ที่ 300 ล้านบาท สำหรับเป้าหมายต่อไปต้องการทำให้องค์กรเติบโตเป็นเอสเอ็มอีที่แข็งแกร่ง และภายใน 3 ปีข้างหน้า รายได้ถึง 500 ล้านบาทต่อปี และนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในการนำบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายในปี 2563 เพื่อก้าวสู่องค์กรมืออาชีพอย่างสมบูรณ์แบบ

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

นี่เป็นเรื่องราวส่วนหนึ่งเท่านั้นของสุดยอด SMEs ทั้ง 3 คน สามารถพบตัวจริงเสียงจริงของพวกเขาได้ในงานสัมมนาใหญ่ประจำปี หัวข้อ "ส่องเทรนด์ทำธุรกิจออนไลน์ให้รุ่งในยุคดิจิทัล อีโคโนมี" ซึ่งทั้งสามจะมาเป็นวิทยากรเสวนา หัวข้อ "ต้นแบบเอสเอ็มอีสำเร็จได้ด้วยสื่อออนไลน์" เพื่อเล่าประสบการณ์ประสบความสำเร็จจากการทำธุรกิจออนไลน์ @@@ลงทะเบียนร่วมงานได้ฟรีที่นี่@@@


ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2558