Page 1 of 1

ดึงแบงก์รัฐแก้กับดักยากจน เตือนใช้ประชานิยม

Posted: 23 Feb 2015, 15:43
by brid.ladawan
ดึงแบงก์รัฐแก้กับดักยากจน เตือนใช้ประชานิยม

ผ่านมา 9 เดือน กับการเข้ามาดูแลของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นผู้กุมบังเหียน เพื่อพลิกฟื้นผืนแผ่นดินไทยให้เข้ารูปเข้ารอยในทุกด้าน

ดึงแบงก์รัฐแก้กับดักยากจน
เตือนใช้ประชานิยมดาบสองคม

ผ่านมา 9 เดือน กับการเข้ามาดูแลของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นผู้กุมบังเหียน เพื่อพลิกฟื้นผืนแผ่นดินไทยให้เข้ารูปเข้ารอยในทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม เพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกคนหลุดพ้นจากความบอบช้ำเพื่อก้าวสู่อนาคตที่สดใส โดยเฉพาะการทำให้คนไทยทั้งประเทศมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากเดิม

ต้องยอมรับว่า... ณ เวลานี้ การแก้ไขปัญหาดูเหมือนจะไม่สามารถทำให้คนไทยหลุดกับดักจากความยากจนได้เสียที ไม่ว่าจะขนสารพัดวิธีออกมาก็ตาม ทั้งการปักธงเลือกใช้การกระตุ้นการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของรัฐ เป็นตัวหลัก เพื่อผลักดันให้เกิดการจ้างงานทั่วประเทศ ให้ประชาชนมีรายได้ หรือนโยบายการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท และจ่ายเงินชดเชยให้ชาวสวนยางไม่เกิน 15,000 บาท ต่อครัวเรือน แต่มาตรการเหล่านี้ยังไม่ได้ช่วยดึงภาพรวมของปัญหาที่สะสมมานานดีขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น

สั่งทำยุทธศาสตร์

ปัญหาความยากจนเป็นเหมือนกับ “ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า” ที่รักษายังไม่หายขาด คล้ายกับการจัดยาไม่ถูกโรค รวมทั้งการดำเนินงานที่ยังไม่เป็นรูปธรรมเพราะประชาชนรากหญ้า ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้เช่นเดิม ทำให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ทุบโต๊ะสั่งการให้ทุกส่วนราชการ ทำยุทธศาสตร์แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและยากจน ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง กระทรวงศึกษาธิการ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ หรือแบงก์รัฐทั้งหลาย แล้วนำเสนอให้ครม.พิจารณาเป็นวาระเร่งด่วน

จ่ายเงินข้าว-ยาง

ที่ผ่านมารัฐบาลได้ดูแลเกษตรกรระยะแรก ผ่านโครงการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวทุกครัวเรือนตามพื้นที่ที่ปลูกข้าวจริงแต่ไม่เกินครัวเรือนละ 15 ไร่ อัตราไร่ละ 1,000 บาทหรือไม่เกิน 15,000 บาท วงเงินรวมกว่า 40,000 ล้านบาท และการจ่ายเงินชดเชยแก่ครัวเรือนที่มีสวนยางเปิดกรีดไม่เกิน 15 ไร่ อัตราไร่ละ 1,000 บาท และกรณีครัวเรือนที่มีสวนยางเปิดกรีดเกิน 15 ไร่ ให้จ่ายไม่เกิน 15 ไร่ อัตราไร่ละ 1,000 บาท หรือไม่เกินครัวเรือนละ 15,000 บาท วงเงินรวมกว่า 8,200 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเกษตรกรรายย่อย ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำทำให้มีรายได้น้อยกว่าที่คาดไว้

ระยะที่สอง มีมาตรการดูแลเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้งในมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ตำบลละ 1 ล้านบาท วงเงินรวม 3,000 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและเตรียมการแก้ไขระยะยาวที่มุ่งหวังให้ประชาชนมีส่วนร่วมและกำหนดกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้น โดยงบประมาณดังกล่าวกว่า 50% ของโครงการต้องใช้เป็นค่าจ้างแรงงานและผลผลิตจากโครงการต้องต่อยอดการเกษตรได้

ราคาสินค้าเกษตรตก

แต่มาตรการข้างต้นก็เป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น แต่รัฐบาลต้องขบคิดวิธีจัดการและให้ความสำคัญกับการดูแลเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยในระยะยาว เนื่องจากในปีนี้ราคาผลผลิตภาคเกษตรจะทรงตัวอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง เป็นแรงกดดันให้การผลิตในภาคเกษตรปรับตัวลดลงถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน และมาตรการล่าสุด! ที่กระทรวงการคลังและแบงก์รัฐ ดำเนินการรวบรวมอยู่ในขณะนี้เพื่อเสนอให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและยากจนพิจารณา คาดว่า จะมีวงเงินรวมกัน 1-2 แสนล้านบาท สนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยสาเหตุที่เลือกแบงก์รัฐ เพราะเหมือนแขนขา ที่ช่วยต่อยอดให้นโยบายประสบความสำเร็จ แต่อาจเรียกได้ว่าเป็น “เงาของโครงการประชานิยม” ก็ไม่ผิด เพราะใช้วงเงินขนาดใหญ่ผ่านแบงก์รัฐ เพื่อหวังให้ประชาชนเกิดการกู้ยืมและมีกำลังซื้อภายในประเทศ แต่อาจเป็น “ดาบสองคม” ทำให้ประชาชนต้องตกเป็นหนี้ระยะยาวได้

ดอกเบี้ยต่ำ-ยืดหนี้เกษตรกร

มาตรการที่แบงก์รัฐ เตรียมนำเสนอส่วนใหญ่เป็นการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำและพักหนี้เกษตรกร ได้แก่ ธนาคารออมสิน วงเงินรวม 55,000 ล้านบาท ทั้งร่วมมือกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันลูกค้าที่ไม่มีหลักประกัน เป็นต้น ขณะที่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เสนอ 4 มาตรการเพื่อช่วยเกษตรกรแก้ไขปัญหาหนี้ ทั้งการพักชำระ และยืดหนี้ วงเงินรวม 70,000-80,000 ล้านบาท ได้แก่ พักชำระหนี้แก่เกษตรกรที่ยังค้างชำระปรับปรุงลูกหนี้ที่มีโอกาสฟื้นยาก และลูกหนี้ค้างชำระแต่ยังมีศักยภาพจะชำระหนี้ต่อไปได้ นอกจากนี้จะปรับปรุงโครงสร้างหนี้และขยายเวลาผ่อนชำระหนี้ และลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากราคาข้าวและราคายางตกต่ำจะขยายระยะเวลาชำระหนี้ เฉพาะเงินต้นออกไป 1 ปีและจะได้รับสินเชื่อสนับสนุนสินเชื่อเพิ่มเติม ผ่านมาตรการสินเชื่อ ธ.ก.ส. ที่มีอยู่แล้วเป็นดอกเบี้ยอัตราพิเศษ ธ.ก.ส. ด้าน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) มี 5 มาตรการวงเงินรวม 25,000 ล้านบาท ได้แก่ สินเชื่อบ้านผู้มีรายได้น้อยอัตราดอกเบี้ยพิเศษ และอีก 4 โครงการเป็นส่วนที่ทำอยู่แล้วแต่มาปรับใหม่ ประกอบด้วยสินเชื่อของขวัญปีใหม่, สินเชื่อเพื่อสานฝันคนมีรายได้น้อย, สินเชื่อบ้าน ธอส.เพิ่มสุข และสินเชื่อโครงการบ้านเอื้ออาทร

อุ้มผู้ประกอบการ

ส่วน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ ปล่อยกู้ให้กับลูกค้าโอทอปวิสาหกิจชุมชน หรือผู้ประกอบการขนาดเล็กทั่วไป วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ หรือไม่เกิน 5% วงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาทต่อราย ส่วน ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์ เตรียมสินเชื่อเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐ ผลิตภัณฑ์ใหม่วงเงินรวม 9,000 ล้านบาท เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำเงินทุนไปขยายกิจการและต่อยอดธุรกิจได้ นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรด้วยการจำหน่ายหนี้เป็นสูญหรือปลดหนี้ให้เกษตรกร โดยมีผู้ที่เข้าข่ายที่จะได้รับการยกเว้นหนี้จำนวน 26,742 ราย และองค์กรเกษตรกรอีก 1,082 แห่ง ที่มีเกณฑ์การพิจารณา 10 ข้อ เช่น กรณีโครงการส่งเสริมหรือสงเคราะห์ของรัฐนั้นไม่ประสบความสำเร็จ, ประสบภัยพิบัติธรรมชาติ, เผชิญปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้, หนี้ค้างชำระระยะเวลาเกินกว่า 10 ปีขึ้นไป และเกษตรกรผู้ยืมเงินเสียชีวิต สาบสูญ เป็นต้น

การแก้ปัญหาเหล่านี้... ถือว่าเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ เพราะปัจจุบันคนที่ยากจนก็ยากจนสุดขีด ส่วนคนที่รวยก็รวยยิ่งขึ้น หากรัฐบาลใส่ใจแก้ปัญหาอย่างจริงจังผ่านมาตรการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำนี้ แต่ถึงอย่างไรก็ต้องอยู่บนความระมัดระวัง หากปล่อยกู้โดยไม่คำนึงถึงความสามารถในการชำระคืน หวังเพียงเอาใจประชาชนรากหญ้า ก็จะกลายเป็น “ดาบสองคม” กลับมาทิ่มแทงรัฐบาลได้เช่นกัน!.

วุฒิชัย มั่งคั่ง


ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558