จัดสรรคลื่นความถี่ 4G

Post Reply
brid.ladawan
Posts: 7045
Joined: 29 Mar 2013, 13:36

จัดสรรคลื่นความถี่ 4G

Post by brid.ladawan »

จัดสรรคลื่นความถี่ 4G

ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา ทำให้ส่งผลถึงกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคมในประเทศไทย จากการออกคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ กสทช. ชะลอโครงการสำคัญ

คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดประชาพิจารณ์และเตรียมการจัดประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการโทรคมนาคมย่าน 900 MHz และ 1800 MHz ในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน 2557 ที่ผ่านมา เพื่อใช้สำหรับโทรศัพท์มือถือ 4G (LTE หรือ Long Term Evolution)

แต่ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา ทำให้ส่งผลถึงกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคมในประเทศไทย จากการออกคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ กสทช. ชะลอโครงการสำคัญทั้งในด้านกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ กิจการด้านโทรคมนาคม ซึ่งรวมถึงการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz และ 1800 MHz สำหรับใช้ในโทรศัพท์มือถือ 4G ด้วย

เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2558 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไอทีและอินเทอร์เน็ตจำนวน 10 ฉบับ ภายใต้แนวความคิดที่จะส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอลของประเทศไทย ซึ่งหนึ่งในกฎหมายที่สำคัญได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับวิทยุกระจาย วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม หรือเรียกชื่อย่อว่า ร่าง พ.ร.บ. กสทช. ซึ่งนับว่าเป็นกฎหมายที่สำคัญ

ตาม พ.ร.บ. กสทช. ปัจจุบันที่ยังใช้บังคับอยู่มาตรา 45 ได้กำหนดให้การออกใบอนุญาตให้จัดสรรคลื่นความถี่ในกิจการโทรคมนาคมต้องดำเนินการด้วยวิธีการประมูลเท่านั้น จึงมีความหมายว่า กสทช. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระและมีหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ตามกฎหมายจะใช้วิธีจัดสรรคลื่นความถี่โดยวีธีการอื่นนอกเหนือจากการประมูลไม่ได้ นอกจากนี้รัฐวิสาหกิจทั้งบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หากประสงค์ประกอบกิจการโทรคมนาคม โดยใช้คลื่นความถี่ก็ต้องเข้าร่วมประมูลแข่งขันกับบริษัทเอกชนอื่น ๆ ในลักษณะที่เสรีและเป็นธรรม รัฐวิสาหกิจจะใช้วิธีขอคลื่นความถี่เพื่อไปบริการจัดการเอง และให้สัมปทานบริษัทเอกชนอื่นมาดำเนินการต่อโดยเก็บผลประโยชน์ในลักษณะเสือนอนกินอย่างอดีตไม่ได้อีกต่อไป

ตามร่างพระราชบัญญัติ กสทช. ฉบับใหม่ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ และเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้กำหนดวิธีการจัดสรรคลื่นความถี่ โดยให้ใช้วีธีการประมูลหรือพิจารณาเกณฑ์คุณสมบัติ ซึ่งทำให้วิธีการจัดสรรคลื่นความถี่ไม่ถูกจำกัดด้วยวิธีการประมูลเพียงอย่างเดียวเหมือนกับพระราชบัญญัติ กสทช. ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน

วิธีการจัดสรรคลื่นความถี่โดยวิธีการประมูล หมายถึงการที่ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติในเบื้องต้น เช่น บริษัทที่มีทุนจดทะเบียนสูงมากพอ และสามารถที่จะหาหลักประกันธนาคารเป็นจำนวนสูงมากพอตามที่กำหนด จึงจะมีสิทธิเข้าประมูล ผู้ที่ประมูลโดยเสนอราคาสูงสุดให้แก่รัฐจะเป็นผู้ที่ได้คลื่นความถี่ไปบริหารและประกอบธุรกิจ

ข้อดีของการประมูลคือ รัฐจะมีรายได้จากการประมูลเป็นจำนวนมากหลายหมื่นล้านบาท ส่วนข้อเสียคือ จำนวนเงินที่ผู้ชนะการประมูลให้แก่รัฐจะถูกผลักภาระให้แก่ผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือในรูปแบบต่าง ๆ เพราะถือเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการที่ชนะการประมูลไม่สามารถมองข้ามหรือยกเว้นต้นทุนในส่วนนี้ได้

ประเทศสหราชอาณาจักรเป็นตัวอย่างของประเทศหนึ่งที่ไม่ประสบความสำเร็จจากการจัดสรรคลื่นความถี่โดยใช้วิธีการประมูล เพราะผู้ประกอบการที่ชนะการประมูลโดยเสนอจำนวนเงินที่สูงสุดเป็นจำนวนมากแก่รัฐแล้ว ประสบภาวะขาดสภาพคล่องขาดเงินทุนหมุนเวียนที่จะวางโครงข่าย และสถานีย่อยให้ทั่วถึง การดำเนินการวางโครงข่ายโทรศัพท์มือถือให้ครอบคลุมพื้นที่เป็นไปอย่างล่าช้า หลายบริษัทขาดสภาพคล่องและขาดทุนจนอยู่ในภาวะต้องฟื้นฟูกิจการด้วยการควบรวมกับบริษัทที่ใหญ่กว่า เพื่อความอยู่รอดให้ดำเนินการต่อไปได้ บางบริษัทถึงกับต้องปิดกิจการ ทิ้งปัญหาให้กับผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ

ส่วนวิธีการจัดสรรคลื่นความถี่โดยใช้วิธีพิจารณาเกณฑ์คุณสมบัติตรงกับภาษาอังกฤษว่า Beauty Contest ซึ่งแปลได้ว่า การประกวดความงาม หรือ Public Tender ซึ่งแปลได้ว่า การยื่นข้อเสนอต่อสาธารณะ เป็นวิธีการที่หน่วยงานกำกับดูแล และทางด้านกิจการโทรคมนาคมในหลายประเทศใช้กันอยู่ในปัจจุบัน องค์กรที่กำกับดูแลหรือ กสทช. จะกำหนดหลักเกณฑ์คุณสมบัติเบื้องต้นในการที่จะออกใบอนุญาต ที่จะให้ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตจะต้องดำเนินการในเบื้องต้นอย่างไรบ้าง เช่น ความครอบคลุมของพื้นที่ให้บริการ อัตราค่าบริการ และประโยชน์ที่ผู้ได้รับขอใบอนุญาตจะมอบให้แก่รัฐ บางประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย ได้วางหลักเกณฑ์เบื้องต้นเป็นเอกสารไว้หนากว่า 100 หน้า ผู้ที่เสนอเงื่อนไขที่ดีที่สุดให้แก่รัฐจะเป็นผู้ได้รับเลือกให้ได้รับใบอนุญาต

ในการพิจารณาหลักเกณฑ์คุณสมบัตินี้ ไม่ได้มุ่งเน้นที่จำนวนตัวเงินสูงสุดที่ผู้ได้รับใบอนุญาตจะเสนอผลประโยชน์ให้แก่ทางรัฐ แต่จะมุ่งเน้นประโยชน์สูงสุดที่ประชาชนผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือซึ่งเป็นผู้บริโภคจะได้รับ ประโยชน์สูงสุดที่รัฐจะได้รับ แม้รัฐอาจจะไม่ได้รับเงินก้อนที่สูงมากในการจัดสรรคลื่นความถี่ในตอนแรก แต่รัฐจะได้ประโยชน์อื่น ๆ ตามมา เช่น ภาษีเงินได้นิติบุคคลของผู้ประกอบการ ค่าธรรมเนียมในลักษณะอื่น ซึ่งเมื่อเกิดการหมุนเวียนในระบบ ประโยชน์อื่น ๆ ที่รัฐจะได้รับก็นับว่าเป็นจำนวนที่ไม่น้อยทีเดียว ผลดีตามมาผู้ประกอบกิจการจะไม่มีต้นทุนสูงเพื่อให้ได้รับใบอนุญาต เพราะไม่ต้องประมูลเพื่อสู้ราคา เมื่อไม่มีต้นทุนสูงก็ไม่จำเป็นต้องผลักภาระให้กับประชาชน อัตราค่าบริการที่เรียกเก็บจากประชาชนจึงไม่สูง การวางโครงข่ายเป็นไปอย่างครอบคลุมและรวดเร็ว เพราะผู้ประกอบการยังมีทุนที่จะใช้อยู่เป็นจำนวนมาก ประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงโดยใช้วิธีนี้คือ ประเทศญี่ปุ่น และเป็นแบบอย่างที่หลายประเทศนำไปเป็นกรณีศึกษา

สิ่งที่สำคัญที่สุดเพื่อไม่ให้วิธีพิจารณาหลักเกณฑ์คุณสมบัติเกิดข้อครหาขึ้นได้คือ ทุกขั้นตอนจะต้องทำด้วยความโปร่งใสตั้งแต่การประกาศหลักเกณฑ์คุณสมบัติให้สาธารณชนได้รับรู้ และมีโอกาสเข้าแสดงความคิดเห็น บุคคลที่ได้รับเลือกเข้ามาเป็นคณะกรรมการพิจารณาจะต้องมีภูมิหลังที่สะอาด ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเป็นที่เชื่อถือและได้รับการยอมรับเป็นอย่างสูงจากสังคม เราจึงจะได้กระบวนการจัดสรรคลื่นความถี่ที่โปร่งใส

วิธีการพิจารณาหลักเกณฑ์คุณสมบัติเป็นวิธีการใหม่สำหรับประเทศไทย แต่เป็นวิธีการที่ใช้ในประเทศต่าง ๆ หลายประเทศมาเป็นระยะเวลานานพอสมควรแล้ว จึงอาจถูกวิพากษ์วิจารณ์และตั้งข้อสังเกตได้มากมาย ร่างพระราชบัญญัติ กสทช. ขณะนี้ยังอยู่ในการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งไม่แน่ว่ากว่าจะผ่านออกมาเป็นกฎหมายที่บังคับใช้จะถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะใด อาจจะวนกลับไปที่เดิมหรือมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ประชาชนผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือซึ่งเป็นผู้บริโภคคงมีความคาดหวังสูงจากร่าง พ.ร.บ. กสทช. ฉบับใหม่ว่า จะมีโอกาสได้ใช้โทรศัพท์มือถือ 4G ที่มีคุณภาพครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ และมีอัตราค่าบริการถูก เป็นสำคัญ.

รุจิระ บุนนาค

rujira_bunnag@yahoo.com
Twitter : @ RujiraBunnag

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 23 ก.พ 2558
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”