‘ศูนย์วิจัยการเฝ้าระวังอัจฉริยะ’แห่งแรกในไทย

Post Reply
brid.ladawan
Posts: 7045
Joined: 29 Mar 2013, 13:36

‘ศูนย์วิจัยการเฝ้าระวังอัจฉริยะ’แห่งแรกในไทย

Post by brid.ladawan »

‘ศูนย์วิจัยการเฝ้าระวังอัจฉริยะ’แห่งแรกในไทย

วันนี้จะพาไปทำความรู้จัก “ศูนย์วิจัยการเฝ้าระวังอัจฉริยะ” (Smart Surveillance Research Center : SSRC) แห่งแรกในประเทศไทย

วันนี้จะพาไปทำความรู้จัก “ศูนย์วิจัยการเฝ้าระวังอัจฉริยะ” (Smart Surveillance Research Center : SSRC) แห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งเกิดจากความร่วมมือกันระหว่างบริษัท พานาโซนิค ซิว เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)

น.ส.ราณี สิทธิแก้ว ผู้จัดการฝ่ายอาวุโสดูแลสินค้าซีซีทีวีในประเทศไทย บริษัท พานาโซนิค ซิว เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ความร่วมมือในการทำศูนย์วิจัยการเฝ้าระวังอัจฉริยะกับ สจล. ถือเป็นการดำเนินงานศูนย์วิจัยลักษณะดังกล่าวเป็นครั้งแรกในเอเชียแปซิฟิก โดยความร่วมมือครั้งนี้มีระยะเวลาโครงการ 3 ปี ซึ่งปีแรกพานาโซนิคสนับสนุนอุปกรณ์ทั้งส่วนของกล้องซีซีทีวี ตัวเซ็นเซอร์ ซอฟต์แวร์ และอุปกรณ์อื่น ๆ ราว 2 ล้านบาท

“เหตุผลที่พานาโซนิคเลือกประเทศไทยจัดทำศูนย์วิจัยการเฝ้าระวังอัจฉริยะเป็นประเทศแรกในเอเชียแปซิฟิก เนื่องจากประเทศไทยมีทีมงานพานาโซนิคที่แข็งแกร่ง และมีความพร้อมในการดำเนินงาน ซึ่งงานเกี่ยวกับการเฝ้าระวังที่นำกล้องวงจรปิดมาใช้ประโยชน์เป็นเพียงส่วนหนึ่ง โดยพานาโซนิคได้พัฒนากล้องให้มีความคมชัดและสามารถวิเคราะห์พฤติกรรมของบุคคลที่กล้องตรวจจับได้ รวมทั้งเพื่อนำกล้องวงจรปิดไปใช้ประโยชน์ในการตรวจจับเกี่ยวกับการวิเคราะห์สาธารณภัยและอุทกภัยต่าง ๆ หากโครงการนี้ประสบความสำเร็จอาจใช้เป็นต้นแบบเพื่อดำเนินการจัดตั้งศูนย์ลักษณะดังกล่าวในประเทศอื่น ๆ” น.ส.ราณี กล่าว ดร.วัชระ ฉัตรวิริยะ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และผู้รับผิดชอบโครงการ “ศูนย์วิจัยการเฝ้าระวังอัจฉริยะ” กล่าวว่า เป้าหมายการดำเนินงานของศูนย์วิจัยนี้มี 4 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านการศึกษา จัดให้มีกิจกรรมการฝึกอบรมเกี่ยวกับการออกแบบและติดตั้งระบบเฝ้าระวังแบบต่าง ๆ 2. ด้านภาคธุรกิจ จัดให้มีการฝึกอบรมเสริมสร้างความรู้และทักษะทางเทคนิคให้ผู้ทำงานด้านการติดตั้ง การใช้งาน และการบำรุงรักษาระบบเฝ้าระวังด้วยกล้องวงจรปิด เพื่อสร้างมาตรฐานในระดับวิชาชีพ 3. ด้านภาคประชาชน ในศูนย์วิจัยมีห้องทดสอบที่สามารถควบคุมสภาพแสงและวัตถุอ้างอิง จึงทดสอบและเปรียบเทียบคุณสมบัติการทำงานของกล้องวงจรปิดในสภาพการทำงานที่แตกต่างกันได้ และ 4.เปิดให้หน่วยงานทุกภาคส่วนใช้ศูนย์วิจัยเพื่อประโยชน์ด้านงานวิจัยและพัฒนาด้านการเฝ้าระวังหรือตรวจจับด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง เช่น การวิเคราะห์ภาพ เสียง และการสั่นสะเทือน เบื้องต้นยังไม่ได้กำหนดค่าบริการแต่จะมีการพิจารณาต่อไป

สำหรับผลงานที่เกี่ยวกับการเฝ้าระวังที่ สจล. ดำเนินการไปแล้วเบื้องต้น มี 3 โครงการ ประกอบด้วย การเฝ้าระวังโดยใช้โดรนซึ่งติดตั้งกล้องวงจรปิดที่โดรนเพื่อช่วยในการเฝ้าระวัง ข้อมูลที่ได้จะนำมาวิเคราะห์แล้วแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างรวดเร็ว การเฝ้าระวังโดยการใช้บอลลูนที่ติดตั้งกล้องเพื่อตรวจจับภาพครอบคลุมพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร และการเฝ้าระวังโดยการรับแจ้งเหตุผ่านอุปกรณ์ที่ใช้ในการแจ้งเหตุ เช่น มีกล้องติดตั้งไว้ที่บ้านเมื่อมีผู้บุกรุกสามารถแจ้งไปยังศูนย์ข้อมูลได้ทันทีหรือแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อเข้าจับกุมได้ทันที

ดร.วัชระ กล่าวต่อว่า สจล.ตั้งใจพัฒนาให้ศูนย์วิจัยการเฝ้าระวังอัจฉริยะ เป็นศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการ โดยให้นักวิจัยที่สนใจทำเรื่องการเฝ้าระวังมาใช้งานเพื่อทดสอบและทดลองออกแบบโครงการต่าง ๆ ได้ขณะที่เรื่องของเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการเฝ้าระวังที่ใช้กล้องวงจรปิด ตัวเซ็นเซอร์ และการพัฒนาให้ระบบสามารถวิเคราะห์พฤติกรรมของคนที่ตรวจจับได้ สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อวิเคราะห์ลูกค้าที่เข้ามาในร้านค้าเพื่อใช้วางแผนการตลาดได้โดยไม่ต้องคาดเดาข้อมูล เป็นการต่อยอดเทคโนโลยีที่มีเพื่อรองรับการก้าวสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิตอล หรือดิจิตอล อีโคโนมี ที่แข่งขันกันในด้านเศรษฐกิจจากการนำข้อมูลมาวิเคราะห์

อยากทดลองใช้ “ศูนย์วิจัยการเฝ้าระวังอัจฉริยะ “ติดต่อได้ที่คณะวิศวกรรม ศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดให้บริการแล้ว.

น้ำเพชร จันทา
@phetchan

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 3 มีนาคม 2558
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”