Page 1 of 1

กสท.เสียงแตกไม่ฟันธงหุ้น SLC

Posted: 03 Mar 2015, 15:03
by brid.ladawan
กสท.เสียงแตกไม่ฟันธงหุ้น SLC

กสท.เสียงแตกไม่ฟันธงหุ้น SLC
นายสมบัติ ลีลาพตะ รักษาการรองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.)
กสท.เสียงแตกยังไม่ฟันธงกรณีหุ้น SLC หวั่นถูกฟ้อง เตรียมเรียกนักวิชาการถอดรหัสการถือหุ้นใหม่ก่อนจะนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมอีกครั้งหนึ่ง ส่วนความคืบหน้าเก็บค่าธรรมเนียมกล่องเตรียมตั้งคณะทำงานเก็บค่าธรรมเนียมย้อนหลัง 2 ปี

นายสมบัติ ลีลาพตะ รักษาการรองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กสท. ยังไม่ลงมติกรณี บริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) จำกัด (มหาชน) หรือ SLC ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด ได้เข้าซื้อหุ้นในบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) ว่า มีความผิดฐานครอบงำสื่อหรือไม่ เนื่องจาก พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการ กสท.ต้องการปรึกษานักวิชาการที่เกี่ยวข้องให้รอบด้านก่อน ขณะที่กรรมการฝั่งละ 2 คน มีความเห็นไม่ตรงกัน ดังนั้น ที่ประชุมจึงเห็นควรให้ศึกษาข้อมูลให้รอบด้านมากที่สุดก่อนที่จะตัดสิน เพราะหาก กสท.มีมติลงไปแล้วจะถือเป็นคำสั่งทางปกครองไม่สามารถอุทธรณ์ได้

ด้าน พล.ท.พีระพงษ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องขอเวลาอีก 1-2 สัปดาห์ จากนี้ไปจะเชิญนักวิชาการที่เป็นกลาง และเกี่ยวข้องต่อเรื่องนี้จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า มาถอดรหัสถึงกระบวนการการถือหุ้นให้เข้าใจอีกครั้งหนึ่งก่อนที่จะนำเข้าที่ประชุม กสท.เพื่อพิจารณาให้การตัดสินเป็นธรรมมากที่สุด ส่วนบริษัทที่เกี่ยวข้องต่อเรื่องนี้ไม่ต้องเข้ามาชี้แจงข้อมูลแล้ว หลังจากได้เข้ามาชี้แจงต่อสำนักงานไปแล้วเมื่อเร็วๆ นี้

ขณะที่ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสท.ได้ทวีตข้อความผ่านทวีตเตอร์@supinya ว่า เรื่องใดไม่ร้อนแรงมาก มติ กสท.ก็จบลงดีๆ หลายเรื่อง แต่พอเรื่องร้อนๆ เสียงแตกทุกที และอาจไปจบลงที่ศาล ไม่ว่ามติจะออกมาทางไหน อีกฝ่ายก็ฟ้องได้ ส่วนตัวไม่มีปัญหาถ้าคู่กรณีฝ่ายใดจะฟ้องร้องต่อศาลปกครอง เพราะเรื่องนี้สำคัญต่อการกำกับดูแลทีวีดิจิตอล แม้ไม่มี กสทช.ก็ได้ไปยุติที่ศาล สำหรับบริษัทมหาชนการถือครองหุ้นเกิน 10% ถือว่ามีนัยสำคัญ และมีอำนาจควบคุมแล้ว ดังนั้น กติกา กสทช.จึงระบุว่ามีผลประโยชน์ร่วมกัน

“ความเห็นส่วนตัวคิดว่ากรณีนี้จะเป็นบรรทัดฐานในการกำกับดูแลเรื่องของความเป็นเจ้าของสัดส่วนการถือครองโทรทัศน์ในอนาคต หากตัดสินกรณีนี้เป็นอย่างไรจะส่งผลต่อการตัดสินกรณีในลักษณะเดียวกันต่อไปด้วย” น.ส.สุภิญญา กล่าว

***ตั้งคณะทำงานเก็บค่ากล่อง

นายสมบัติ กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบให้ตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบรายละเอียดในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมกล่องเคเบิล ดาวเทียม ที่ไม่ได้รับใบอนุญาตระหว่างปี 2556-2557 ทั้งนี้ กสท.ได้เสนอแนวทางในการแก้ปัญหาระยะยาวด้วย หากผู้ประกอบการนำกล่องเคเบิล ดาวเทียมมาจำหน่ายต้องระบุด้วยว่า นำมาใช้ต่อผู้ให้บริการโครงข่ายรายใดที่ได้รับใบอนุญาตเพื่อแก้ไขปัญหาผู้ให้บริการดังกล่าวเปิดบริษัทลูกขายกล่อง โดยไม่นำรายได้ส่งเข้า กสทช.


ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 2 มีนาคม 2558