ศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย แหล่งขับเคลื่อนเทคโนโลยีชีวภาพ

Post Reply
brid.ladawan
Posts: 7045
Joined: 29 Mar 2013, 13:36

ศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย แหล่งขับเคลื่อนเทคโนโลยีชีวภาพ

Post by brid.ladawan »

ศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย แหล่งขับเคลื่อนเทคโนโลยีชีวภาพ

“ทางศูนย์ของเราจะมีการบริการเหมือนศูนย์กลางการเก็บรักษาจุลินทรีย์ทั่วไป ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเพื่อให้ใช้บริการในการวิจัยและการใช้ประโยชน์ของภาคอุตสาหกรรม

เทคโนโลยีชีวภาพ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์และผลิตภัณฑ์จากจุลินทรีย์ในภาคอุตสาหกรรมนั้น ถือว่ามีความสำคัญเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก หลายประเทศทั่วโลกได้ให้ความสำคัญกับการกำหนดนโยบายและแผนที่มุ่งสู่เศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bioeconomy) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และที่สำคัญคือการลดการพึ่งพาพลังงานจากปิโตรเลียม

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงก่อตั้ง “ศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย” (Thailand Bioresource Research Center หรือ TBRC) ขึ้น ด้วยระบบการบริหารจัดการชีววัสดุที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพสูงทั้งในด้านการจัดเก็บรักษา และการดำเนินการที่สอดคล้องรองรับกับกฎหมายระเบียบต่าง ๆ

“ดร.ลิลี่ เอื้อวิไลจิตร” รองผู้อำนวยการไบโอเทค และผู้อำนวยการศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย เล่าถึงความเป็นมาว่า ไบโอเทค ได้จัดตั้งห้องปฏิบัติการเก็บรวบรวมสายพันธุ์จุลินทรีย์ขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 มีจุลินทรีย์เก็บรักษาอยู่มากกว่า 70,000 สายพันธุ์ เพื่อนำไปใช้สำหรับงานวิจัย และสนับสนุนการศึกษาวิจัย ในส่วนของการให้บริการทางด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับจุลินทรีย์ที่มีคุณภาพสูง

อย่างไรก็ตาม การเก็บรักษาจุลินทรีย์และชีววัสดุของประเทศยังมีข้อจำกัด ในเรื่องของความหลากหลายทางสายพันธุ์ จึงยังไม่มีศูนย์ที่รองรับการเก็บรักษาได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ส่งผลให้จุลินทรีย์และชีววัสดุที่มีประโยชน์จำนวนมากไม่เคยถูกนำมาศึกษาวิจัยหรือใช้ประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรมต่าง ๆ จนเกิดการสูญเสียโอกาสในการใช้ทรัพยากรที่มีคุณค่าของประเทศ ทางไบโอเทคจึงได้ก่อตั้งศูนย์ชีววัสดุประเทศไทยขึ้นมา

“ทางศูนย์ของเราจะมีการบริการเหมือนศูนย์กลางการเก็บรักษาจุลินทรีย์ทั่วไป ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเพื่อให้ใช้บริการในการวิจัยและการใช้ประโยชน์ของภาคอุตสาหกรรม รวมไปถึงรับฝากจุลินทรีย์ การให้บริการกับภาคเอกชนหรือนักวิจัยที่ต้องการจะนำจุลินทรีย์ไปศึกษาต่อ อีกทั้งจะมีการคัดแยกจุลินทรีย์ว่าเป็นสายพันธุ์ใด ด้วยวิธีการที่ทันสมัยสามารถบอกได้ถึงระดับสปีชีส์ของจุลินทรีย์นั้น ๆ นอกจากนี้ในส่วนของการดูแลจัดการจุลินทรีย์ต่าง ๆ ยังมองในเรื่องการสร้างความสามารถของประเทศ ไทยอีกด้วย”

ด้าน “ดร.กัญญวิมว์ กีรติกร” ผู้อำนวย การไบโอเทค บอกว่า ปัจจุบัน ไบโอเทค ได้นำจุลินทรีย์เข้ามาใช้ในการผลิตเอนไซม์ที่ใช้ในอาหารสัตว์ จุลินทรีย์สำหรับการควบคุมศัตรูพืช ยา วัคซีน และอาหารเสริม โดยประเทศไทยมีความหลากหลายของจุลินทรีย์สูงมาก จึงได้เปรียบกว่าหลาย ๆ ประเทศ เพียงแต่ต้องการการเก็บดูแลรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมตามโครง สร้างพื้นฐาน

“ดร.ชาญวิทย์ สุริยฉัตรกุล” นักวิจัยห้องปฏิบัติการเก็บรวบรวมสายพันธุ์จุลินทรีย์ ไบโอเทค เล่าให้ฟังถึงขั้นตอนและระบบในการดูแลรักษาจุลินทรีย์ว่า เก็บรักษาจุลินทรีย์ด้วยวิธีการแช่แข็ง หรือ ลิควิด ไนโตรเจน (Liquid Nitrogen) โดยจะเป็นระบบออโต้ฟรีซ ซึ่งมี การเติมลิควิด ไนโตรเจน ลงไปในแท็งก์โดยอัตโนมัติ และจะมีการตั้งค่าปริมาณของลิควิด ในแท็งก์ว่าควรอยู่ที่ปริมาณเท่าใด โดยภายใน แท็งก์จะแบ่งออกเป็นสองส่วน คือส่วนที่เป็น ไอจะมีอุณหภูมิติดลบ 150 องศาเซลเซียส ซึ่งไบโอเทคจะใช้ส่วนนี้เก็บจุลินทรีย์ และส่วนที่เป็นลิควิด ไนโตรเจน ซึ่งมีอุณหภูมิติดลบ 196 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นจุดที่สามารถเก็บรักษาจุลินทรีย์ได้เกือบทุกสายพันธุ์

ดร.กัญญวิมว์ ยังบอกอีกว่า ไบโอเทคมีการจัดเก็บจุลินทรีย์ ที่ได้มาตรฐานตามข้อกำหนดของ โออีซีดี (The Organization for Economic Co-operation and Development) มีการจัดเก็บข้อมูลอย่างถูกต้องด้วยระบบการจัดการเครือข่ายคลังชีววัสดุที่มีประสิทธิภาพ มีความเท่าเทียมตามมาตรฐานสากลโลก ดำเนินการโดยบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ รวมไปถึงประสิทธิภาพทางด้านเครื่องมือ และสถานที่ทางศูนย์ฯ จึงมีความพร้อมในการให้บริการชีววัสดุ รวมทั้งสร้างความสามารถในการยกระดับศูนย์ชีววัสดุของไทย ขึ้นสู่การเป็นผู้นำในระดับอาเซียน.

ศรัณย์ บุญทา

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 5 มีนาคม 2558
Post Reply

Return to “แจ้งข่าว ไทย ERP และข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ”