Page 1 of 1

แนะวิธี ‘ซื้อ-ขาย’ ออนไลน์ปลอดภัย

Posted: 05 Mar 2015, 10:25
by brid.ladawan
แนะวิธี ‘ซื้อ-ขาย’ ออนไลน์ปลอดภัย

การเปิดร้านค้าออนไลน์ในปัจจุบันง่ายราวกับปอกกล้วยเข้าปาก หรือง่ายกว่านั้นหากมีสื่อสังคมออนไลน์ในมือและใช้ให้เป็น

การเปิดร้านค้าออนไลน์ในปัจจุบันง่ายราวกับปอกกล้วยเข้าปาก หรือง่ายกว่านั้นหากมีสื่อสังคมออนไลน์ในมือและใช้ให้เป็น เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม และไลน์ หรืออาจมีมากกว่านี้ เพียงใช้งานโดยโพสต์ข้อความ ภาพ และสรรพคุณของสินค้าที่ต้องการขาย เท่านี้ก็ได้พื้นที่ขายของออนไลน์อย่างง่ายจ่ายแค่ค่าอินเทอร์เน็ต!

ที่กล่าวมานั้นเป็นการขายของแบบช่วงเริ่มต้นของเถ้าแก่ยุคใหม่ แต่การเริ่มต้นอาจจบลงหากข้อความที่โพสต์ขายสินค้าเข้าข่ายเป็นข้อมูลเท็จและผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำ ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550

จากการสอบถามนายตำรวจที่รับผิดชอบเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 แนะนำว่า ผู้ที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการขายสินค้าหรือเป็นหน้าร้าน ต้องโพสต์ข้อความที่เป็นความจริงไม่โอ้อวดจนเกินไป เพราะถ้าโพสต์ข้อความโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงจะเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 การนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขณะที่ประชาชนทั่วไปหากพบว่า พ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ ให้ข้อมูลสินค้าอันเป็นเท็จ หรือได้สินค้าไม่ตรงกับที่สั่งซื้อ สามารถปฏิบัติตามขั้นตอนได้ดังนี้

1.แคปเจอร์ (Capture) หน้าจอ เพื่อบันทึกภาพที่มีข้อความกระทำความผิดนั้นไว้ ทั้งไลน์ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ เว็บไซต์และอินสตาแกรม (เท่าที่พบการกระทำผิด) ประกอบด้วยภาพแผนที่ตั้งร้าน บัญชีธนาคารที่โอนเงิน บุคคลที่ติดต่อ หรือสาระสำคัญในการซื้อขายเท่าที่จะเก็บได้ โดยมีคำแนะนำว่า ในการบันทึกภาพเหล่านั้นให้มีฉากหลังเป็นรายการทีวี หรือวันที่ของหนังสือพิมพ์ เพื่อใช้เป็นหลักฐานยืนยันว่าได้บันทึกในวันดังกล่าวจริง ป้องกันการกล่าวอ้างว่าตัดต่อภาพ

2.พรินต์หลักฐานออกมาจากนั้นเซ็นชื่อรับรองว่าเป็นผู้เสียหาย แล้วนำไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่โรงพักซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่อาศัยอยู่ หากไม่ใช่ผู้เสียหายให้แจ้งเรื่องไปยังกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) ศูนย์ปฏิบัติการความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ หรือ ไซเบอร์ ซีเคียวริตี้ โอปอเรชั่น เซ็นเตอร์ (Cyber Security Operation Center: CSOC) เบอร์โทร. 1111 และ 1212 เพื่อประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

เมื่อดำเนินการครบตามที่แนะนำ เรื่องที่ร้องเรียนจะเข้าสู่กระบวนการสืบสวนสอบสวนต่อไป หากพบว่ามีการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 การนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายอาญา ฐานฉ้อโกง มาตรา 341 หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งและโดยการหลอกลวง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 6 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับการเดินหน้าปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ กระทรวงไอซีทีมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาของประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการสั่งซื้อสินค้า รวมทั้งการกระทำความผิดอาญาอื่นทางอินเทอร์เน็ต เมื่อ พ.ย. 57 และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการสืบสวน จับกุมปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายทางอินเทอร์เน็ต เมื่อ ธ.ค. 57 รวมตั้งแต่ พ.ย. 57-ก.พ. 58 สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดทางอินเทอร์เน็ตได้แล้ว 8 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการประกาศโฆษณาจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งเป็นลักษณะหลอกลวงหรือนำเสนอข้อมูลเท็จ

พ่อค้า-แม่ค้า และลูกค้าออนไลน์อ่านให้เข้าใจแล้วปฏิบัติตาม เพื่อสวัสดิภาพของตัวคุณเอง.

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 4 มีนาคม 2558