Page 1 of 1

ติวเข้มผู้ผลิตเมล็ดแมงลักส่งออกแหล่งใหญ่ไทย สกัดสารก่อมะเร็ง

Posted: 07 Mar 2015, 10:58
by brid.ladawan
ติวเข้มผู้ผลิตเมล็ดแมงลักส่งออกแหล่งใหญ่ไทย สกัดสารก่อมะเร็งกระจาย

สุโขทัย - สถาบันวิจัยฯจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จับมือกรมวิชาการเกษตร ติวเข้มเกษตรกรผู้ปลูกเมล็ดแมงลักส่งขายญี่ปุ่นแหล่งใหญ่สุดในประเทศ ป้องกันสารก่อมะเร็ง หลังพบเมล็ดแมงลักบางตัวอย่างในท้องตลาดมีสารอะฟลาทอกซินสูงเกินกำหนดถึง 3 เท่า

สถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร จัดอบรมการถ่ายทอดเทคโนโลยี เรื่อง กรรมวิธีการผลิตเมล็ดแมงลักปราศจากสารอะฟลาทอกซิน (สารก่อมะเร็ง) ให้กับเกษตรกรชาว จ.สุโขทัย ที่ห้องประชุมศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุโขทัย ต.คลองตาล อ.ศรีสำโรง

ดร.ศรินทิพ สุกใส อาจารย์สถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (หัวหน้าโครงการฯ) กล่าวว่า แมงลัก เป็นพืชสมุนไพรที่มีประโยชน์กว้างขวาง ใบและยอดอ่อนใช้รับประทานสด เมล็ดใช้แช่น้ำให้พองตัวแล้วบริโภคเป็นอาหารหวาน รวมทั้งใช้เป็นอาหารเสริมช่วยระบายท้องอ่อนๆ

แต่ปัญหาสำคัญของการบริโภคเมล็ดแมงลัก คือ การปนเปื้อนด้วยสารอะฟลาทอกซิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง โดยเมล็ดแมงลักบางตัวอย่างในท้องตลาด ยังพบสารอะฟลาทอกซินสูงถึง 60 พีพีบี ในขณะที่ อย. กำหนดมาตรฐานอยู่ที่ 20 พีพีบี เท่านั้น

ดร.ศรินทิพ กล่าวว่า สาเหตุการปนเปื้อนสารอะฟลาทอกซิน อยู่ที่กระบวนการหลังเก็บเกี่ยว และการนำเมล็ดแมงลักออกจากกระเปาะหุ้มเมล็ด ซึ่งปัจจุบันทำโดยการนำช่อดอกแมงลักตากแห้ง จากนั้นใช้น้ำพรมเพื่อให้เมล็ดแมงลักดูดน้ำ แล้วดันกระเปาะหุ้มเมล็ดให้เปิดออก แล้วจึงนำไปร่อนพร้อมใช้พัดลมเป่าเศษพืชออกไปให้เหลือแต่เมล็ด ก่อนบรรจุถุงรอจำหน่าย

ซึ่งการแยกเมล็ดแมงลักด้วยวิธีนี้ เป็นสาเหตุสำคัญของการปนเปื้อนเชื้อรา ที่สร้างสารอะฟลาทอกซินในเมล็ดแมงลัก นอกจากนี้ สุโขทัยยังเป็นจังหวัดที่มีการเพาะปลูกเมล็ดแมงลักมากที่สุดในประเทศไทยด้วย โดยกระจายปลูกอยู่ในพื้นที่ อ.เมือง อ.ศรีสำโรง อ.สวรรคโลก อ.ทุ่งเสลี่ยม และ อ.ศรีสัชนาลัย รวมประมาณ 1,500 ไร่ เพื่อส่งออกไปขายที่ประเทศญี่ปุ่น

ดังนั้น จึงมีการร่วมกันประดิษฐ์เครื่องนวดฝัดเมล็ดแมงลักแบบแห้ง เพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อรา และป้องกันการปนเปื้อนของสารอะฟลาทอกซิน ที่เป็นสารก่อมะเร็ง แล้วถ่ายทอดเทคโนโลยี พร้อมอบรมให้ความรู้เรื่องกรรมวิธี การผลิตเมล็ดแมงลักปราศจากสารอะฟลาทอกซิน แก่เกษตรกร


ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 7 มีนาคม 2558