Page 1 of 1

มีไหม? งานวิจัยไทยเกาะเทรนด์ “เทคโนโลยีอุบัติใหม่ 2015”

Posted: 07 Mar 2015, 14:08
by brid.ladawan
มีไหม? งานวิจัยไทยเกาะเทรนด์ “เทคโนโลยีอุบัติใหม่ 2015”

มีไหม? งานวิจัยไทยเกาะเทรนด์ “เทคโนโลยีอุบัติใหม่ 2015”
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
สมัชชาเศรษฐกิจโลกเพิ่งประกาศ 10 เทคโนโลยีอุบัติใหม่ชี้เทรนด์การวิจัยและศักยภาพในอนาคต ตั้งแต่งานวิจัยปัญญาประดิษฐ์ที่พัฒนาความฉลาดให้ใกล้เคียงมนุษย์ ชิปเลียนการทำงานสมองมนุษย์ที่ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น พลาสติกคงรูปที่รีไซเคิลได้ การถอดจีโนมสู่ข้อมูลดิจิทัลเพื่อการวินิจฉัยสุขภาพเฉพาะบุคคล ด้าน “พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์” รัฐมนตรี ก.วิทย์ช่วยสรุปไทยมีงานวิจัยที่เกาะเทรนด์เทคโนโลยีเหล่านั้นบ้าง?

คณะกรรมการเทคโนโลยีแห่งสมัชชาเศรษฐกิจโลกเพิ่งสรุป 10 แนวโน้มเทคโนโลยีอุบัติใหม่ในปี 2015 เพื่อให้หลายฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญและศักภาพของเทคโนโลยีเหล่านั้น ได้แก่ 1.รถพลังเซลล์เชื้อเพลิงที่บริษัทรถยนต์เริ่มมีแผนส่งรถให้ลูกค้า 2.หุ่นยนต์ปรับตัวให้ทำงานกับคนได้อย่างปลอดภัย 3.พลาสติกคงรูปรีไซเคิลได้ซึ่งปกติจะเหลือทิ้งอยู่ในกองขยะฝังกลบ 4. เทคนิคตัดต่อพันธุกรรมที่แม่นยำขึ้นลดกระแสต่อต้าน 5.โรงงานแบบสั่งพิมพ์สามมิติไม่ต้องใช้วัตถุดิบชิ้นใหญ่ แต่ขึ้นรูปจากแป้งและของเหลว

6.ปัญญาประดิษฐ์ที่เรียนรู้ระหว่างทำงาน 7.โรงงานกระจายส่วนที่ใช้วัตถุดิบท้องถิ่นและสั่งผลิตด้วยแบบดิจิทัล ลดค่าใช้และทรัพยากรในการขนส่ง 8.โดรนที่รับรู้สภาพแวดล้อมและรู้จักหลบหลีก 9.ชิปคอมพิวเตอร์เลียนสมองมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าหลายร้อยเท่า และ 10.จีโนมดิจิทัลที่ช่วยให้การวินิจฉัยโรคและรักษาเฉพาะบุคคลมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม
10 เทคโนโลยีอุบัติใหม่เปลี่ยนชีวิตในปี 2015

ด้าน ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ให้ความเห็นแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ถึงข้อสรุปเทคโนโลยีอุบัติใหม่ของสมัชชาเศรษฐกิจโลกว่า แม้มีผู้เชี่ยวชาญจัดอันดับให้ แต่ไม่ได้หมายความว่า ทุกประเทศต้องมีแนวโน้มเทคโนดลยีเช่นเดียวกันนี้ แม้ว่าเทคโนโลยีที่ระบุว่าเป็นเทคโนโลยีที่น่าสนใจและน่าจับตามอง

“ถ้าอิงตามโผของ World Economic Forum ประเทศไทยก็ถือว่าเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยประเทศหนึ่ง เพราะเรามีเทคโนโลยีที่ประสบความสำเร็จแล้วบางส่วน และกำลังอยู่ในขั้นดำเนินงานวิจัยอีกหลายๆ เช่น ในส่วนของการพัฒนาโดรน สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เปิดตัวรถตรวจวัดรังสีเคลื่อนที่ด้วยการใช้โดรนบินเข้าไปยังพื้นที่เสี่ยงแทนมนุษย์ เพื่อตรวจวัดระดับรังสีที่เป็นอันตราย รวมถึงโดรนสำรวจปริมาณน้ำเพื่อสังเกตการณ์อุทกภัย โดยสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ซึ่งนอกจากถ่ายภาพเพื่อเก็บข้อมูลแล้ว ยังติดตั้งเรดาร์และโซนาร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของข้อมูลการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ” ดร.พิเชฐยกตัวอย่าง

นอกจากนี้ ดร.พิเชฐระบุว่า การพัฒนาอากาศยานไร้คนขับ (UAV) หรือโดรนก็เป็นอีกเทคโนโลยีหนึ่งที่ได้รับความนิยม ทั้งในส่วนของกองทัพที่ใช้สำหรับการปฏิบัติงานด้านความมั่นคง การสำรวจทรัพยากรธรรมชาติและการเกษตรก็เป็นอีกหน้าที่หนึ่งของอากาศยานไร้คนขับ โดยหน่วยงานในกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้นำมาใช้กับการทำงาน ซึ่งโดรนและอากาศยานไร้คนขับถือเป็นอีกเทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจค่อนข้างมากสำหรับหมู่นักประดิษฐ์ในปัจจุบัน

“การพัฒนาด้านหุ่นยนต์ก็เป็นสิ่งที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สถานศึกษา รวมถึงภาคเอกชนให้การสนับสนุนมาโดยตลอด สังเกตได้จากการแข่งขันการประดิษฐ์หุ่นยนต์เตะฟุตบอล หุ่นยนต์กู้ระเบิด และหุ่นยนต์สร้างบ้านที่เป็นที่ฮือฮาในหมู่ผู้ประกอบการธุรกิจก่อสร้าง เพราะเป็นหุ่นยนต์ที่จะเข้ามาช่วยให้มนุษย์ทำงานได้ง่ายยิ่งขึ้น แต่ในความเป็นจริงหุ่นยนต์ทำงานให้มนุษย์มานานแล้ว แต่อยู่ในรูปของเครื่องจักรโรงงาน โดยเฉพาะโรงงานประกอบชิ้นส่วนรถยนต์ซึ่งเครื่องจักรที่ใช้ในการดำเนินการส่วนมากก็เป็นเครื่องจักรที่คนไทยพัฒนาขึ้นเอง หรือร่วมกันสร้างกับบริษัทในประเทศที่เป็นเจ้าของโรงงาน” ดร.พิเชฐกล่าว

ด้านเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมก็เป็นอีกด้านหนึ่งที่ ดร.พิเชฐ ยกว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จ เพราะที่ผ่านมานักวิจัยไทยสามารถดัดแปลงสายพันธุ์ข้าวให้ทนทานต่อสภาวะแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเจริญเติบโต เช่น น้ำท่วม น้ำแล้ง โรคศัตรูพืชเช่น ราสนิม ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ไทยยังหาทางรับมือกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไปโดยการทำเกษตรแบบแม่นยำสูง (Pricision farming) ที่จะมีการวางแผนพื้นที่อย่างรัดกุมรวมถึงการปรับปรุงสายพันธุ์พืชให้สามารถเพาะปลูกได้โดยไม่มีความเสี่ยง

"ที่เขาจัดอันดับมาก็เป็นเทคโนโลยีที่น่าสนใจทั้งนั้น ไทยเราก็มีหลายๆ ด้านที่ทำแล้วประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ แต่สำหรับเทคโนโลยีบางอย่างเช่น ยานยนต์จากเซลล์เชื้อเพลิงตอนนี้มีเพียง 2 ประเทศเท่านั้นที่ทำสำเร็จ คือ ญี่ปุ่นและเยอรมัน แต่ก็ยังไม่สามารถนำออกขายได้เพราะมีราคาที่สูงมาก แล้วก็ยังติดขัดกับปัญหาบางเรื่อง เช่นการกักเก็บเชื้อเพลิงไฮโดรเจน อย่างไรก็ดี ผมมั่นใจว่าอีก 10 ปีเราอาจได้เห็นเทคโนโลยีนี้ในไทย เพราะญี่ปุ่นประกาศว่าจะเปิดกว้างให้ประเทศอื่นๆ เข้าถึงเทคโนโลยียานยนต์นี้ได้เช่นกัน ประกอบกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เอง ก็มีการทำวิจัยเกี่ยวกับเซลล์เชื้อเพลิงแต่เป็นการวิจัยในระดับเล็กๆ ที่รับผิดชอบโดยเอ็มเทค ของสวทช.ด้วย ส่วนเทคโนโลยีด้านอื่นๆ ก็เป็นเรื่องของอนาคตที่จะต้องพัฒนาต่อไป" รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ กล่าวทิ้งท้ายแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์


ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 5 มีนาคม 2558