Page 1 of 1

รามาฯติดอาวุธหมอ สร้างหมอยิ่งกว่าหมอ

Posted: 10 Mar 2015, 16:23
by brid.ladawan
รามาฯติดอาวุธหมอ สร้างหมอยิ่งกว่าหมอ


เมื่อเร็วๆนี้...คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

มหาวิทยาลัยมหิดล จัดการประชุมสัมมนาวิชาการด้านแพทยศาสตร์ศึกษา “2015 Bangkok CHOP Seminar in Medical Education” ณ ห้องประชุมชั้น 9 อาคารเรียนและปฏิบัติการรวมด้านการแพทย์และโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี

งานนี้...ได้รับความร่วมมือจากแพทย์โรงพยาบาลเด็กแห่งฟิลาเดลเฟีย Children Hospital of Philadelphia (CHOP) ที่ได้รับการยอมรับระดับโลก โดยมีแพทย์ไทยจากหลากหลายสาขาเข้าร่วม

รองศาสตราจารย์ สรายุทธ สุภาพรรณชาติ หัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี บอกว่า แนวคิดของ Medical Education หรือ แพทยศาสตร์ศึกษา คือ การถ่ายทอดความรู้ เพราะการเรียนแพทย์ไม่ใช่การเรียนที่นั่งฟังเลกเชอร์เท่านั้น แต่ต้องมีการตรวจคนไข้ด้วย

ที่สำคัญ...ต้องมีเจตคติที่ดี

“การเป็นหมอไม่ใช่แค่อาชีพ แต่ต้องมีความคิด มีความเข้าใจ มีคุณธรรม การเรียนแพทย์เป็นการเรียนที่หนัก ทำให้การเรียนบางครั้งยังมีนักศึกษาบางคนที่ไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ นั่นคือสิ่งที่เราต้องมาคิดดูว่าเราจะทำอย่างไรให้เขาได้รับความเข้าใจถึงแก่นแท้ของวิชานั้น”

“CHOP”...เป็นโรงพยาบาลเด็กแห่งฟิลาเดลเฟียที่มีชื่อเสียงของสหรัฐอเมริกา นับเป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการจัดสัมมนาด้านแพทยศาสตร์ศึกษา

“แพทยศาสตร์ศึกษาไม่เหมือนกับการศึกษาอย่างอื่น ความรู้เป็นส่วนหนึ่ง...แต่ทักษะก็สำคัญ อย่างการผ่าตัดไม่ได้เป็นสิ่งที่อ่านหนังสือแล้วก็ไปทำได้ ต้องมีการถ่ายทอด แล้วมีการสร้างนิสัยสม่ำเสมอเพื่อให้เกิดความก้าวหน้า แล้วยังมีเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม ซึ่งมีความสำคัญมาก...เพราะหมอต้องทำอะไรเกี่ยวกับชีวิตคน”

เช่น...ถ้าจะสอนให้ผ่าตัดเป็นต้องไปซื้อหมูมาตัว ให้ผ่าตัด ให้มีเลือดออก ให้มีความเครียด ไม่ใช่ไปลองกับคนไข้จริง ประเด็นสำคัญคือการสร้างแรงบันดาลใจ สร้างเจตคติที่ดีในการเป็นแพทย์เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย

“แพทยศาสตร์ศึกษา”...สำหรับอาจารย์แพทย์สอนนักศึกษาแพทย์จะมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น โทรศัพท์มือถือ มาช่วยในการเรียนการสอน ซึ่งก้าวหน้าไปกว่าเรามาก

“เนื่องจากมีประสบการณ์แล้วว่าอะไรเวิร์กอะไรไม่เวิร์ก ของเราเพิ่งมาเริ่มใช้ อาจารย์เราใช้เฟซบุ๊ก...ใช้อะไรไม่เป็น ในขณะที่เขาใช้มาเยอะมากจนสามารถบอกได้เลยว่า ถ้าใช้อย่างนี้จะเกิดปัญหาแบบนี้...เรายังไม่รู้สึกว่าการใช้อินเตอร์เน็ต หรือโซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นการเรียนการสอนที่ถูก...เป็นประโยชน์ในการติดต่อสื่อสารกันในกลุ่ม”

“แพทยศาสตร์ศึกษา” ในไทยต่างกับ “CHOP” อย่างไร? รองศาสตราจารย์ สรายุทธ มองว่าสิ่งแรกที่แตกต่างคืออายุของนักเรียนแพทย์ นักเรียนของเขาต้องเรียน 4 ปีจบปริญญาตรีเสียก่อนแล้วมาเรียนแพทย์จึงมีอายุมากกว่าและมีความอยากรู้อยากเห็นมากกว่า พอนักเรียนต่างกันอาจารย์ก็ต้องต่างกัน นอกจากนั้นการเรียนการสอนของเขามีระบบและมีงบประมาณสนับสนุนชัดเจน

ถัดมา “อาจารย์”...ของเขามีหน้าที่ทั้งการวิจัย การศึกษา การให้บริการตรวจคนไข้ คล้ายกับของเรา ซึ่งจำเป็นต้องมีสมดุลระหว่าง 3 หน้าที่นี้ แต่อาจารย์ของเขาจะมีเงินเดือนมากกว่า สามารถเลิกงาน 4 โมงเย็นกลับบ้านได้ ในขณะที่อาจารย์ของเราต้องไปทำคลินิกอะไรต่างๆ ทำให้มีพันธะตรงนี้มาก

“อาจารย์แพทย์ของเราส่วนใหญ่จบมาแล้วก็มาสอนหนังสือ พยายามถ่ายทอดที่ตัวเองทำเป็น คือ...เห็นอาจารย์ผู้ใหญ่ทำแบบนี้เราก็ทำแบบนี้ ซึ่งอาจจะผิดก็ได้ แต่ในการถ่ายทอดสำหรับของเขา...จะบอกเลยว่ามีวิธีการอย่างไร เช่น ในการคุยกับคนไข้จะต้องมีวิธีการสอนอย่างไร ถ้าจะทำงานในห้องฉุกเฉิน...กรณีคนไข้หัวใจล้มเหลวจะต้องมีเวิร์กช็อป จะต้องมีแบบจำลองสถานการณ์...มีความชัดเจนเรื่องวิธีการสอน”

สุดท้าย “นักศึกษาแพทย์”...ของเขาไม่จำเป็นต้องสอบมาก จะมีแค่สอบใหญ่ ในขณะที่ของเราต้องมีสอบย่อย ทุกครั้งอาจารย์ต้องออกข้อสอบ ตรวจข้อสอบมากกว่าอาจารย์ของเขามาก

อีกประเด็นที่น่าสนใจก็คือ “การเรียนเป็นกลุ่ม” นักเรียนไทยเราไม่ชอบเรียนเป็นกลุ่ม อาจจะเป็นเพราะว่าไม่มีสถานที่เอื้ออำนวย เป็นห้องที่สามารถเรียนกันได้ 5-6 คน ไปใช้ห้องสมุดหรือหอพัก เรียนเป็นกลุ่มกันก็คงไม่ได้...ของเขาจะมีการสร้างสถานที่เรียน เป็นการกระตุ้นให้เด็กมีการรวมกลุ่มเรียนด้วยกัน ติวด้วยกัน

แล้วตรงนี้เองที่โซเชียลเน็ตเวิร์ก...จะเข้ามาช่วยในการติดต่อสื่อสารกันในกลุ่ม

นพ.สตีเฟน ลุดวิก ผู้อำนวยการด้านแพทยศาสตร์ศึกษานานาชาติ โรงพยาบาลเด็กแห่งฟิลาเดลเฟีย อธิบายว่า การสอนแพทย์มีความแตกต่างกับการสอนนักศึกษาทั่วไป เพราะแพทย์มีหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วย และการรักษาผู้ป่วยนั้นเป็นทั้ง “ศาสตร์” และ “ศิลป์” ซึ่งเราจำเป็นต้องสอนทั้งศาสตร์และศิลป์ให้แก่นักศึกษาแพทย์ ทั้งในด้านความรู้ทางวิทยาศาสตร์ หรือการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ป่วย

“การเป็นพี่เลี้ยง...มีความสำคัญอย่างยิ่งในด้านแพทยศาสตร์ศึกษา เพราะการมีพี่เลี้ยงจะทำให้มีความก้าวหน้าในอาชีพและทำสิ่งต่างๆได้มากขึ้น”

คำว่า “Mentor” หรือ “พี่เลี้ยง” เป็นคำที่ใช้มาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ แปลว่า...ผู้ที่เกือบจะเป็นเสมือนพ่อ ในการมอบความรู้ ให้คำแนะนำต่อผู้ที่มีอายุน้อยกว่า...คนมากมายที่ไม่มีจะไม่สามารถมีความก้าวหน้าในอาชีพได้เลย ในขณะที่ถ้ามีทุกอย่างก็จะง่ายขึ้นมาก เพราะมีคนที่คอยชี้ทางไปสู่ความสำเร็จ

“อาจารย์ทุกคนจะมีหน้าที่ในการถ่ายทอดความรู้ แต่บางคนจะเป็น Mentor ด้วย โดยการให้คำแนะนำปรึกษา ในการตัดสินใจต่างๆ ซึ่งมีความสำคัญต่อชีวิตและการงาน”

ถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะยังมีคำถาม...อะไร? คือสิ่งที่สำคัญที่สุดของ “แพทยศาสตร์ศึกษา”

นพ.สตีเฟน ย้ำว่า ความรู้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก แต่เราก็ใช้เวลามากมายในการสอนความเป็นมืออาชีพ เนื่องจากในปัจจุบันมีความรู้เพิ่มขึ้นมากจนไม่สามารถที่จะเรียนได้หมด แพทย์จะต้องเพิ่มพูนความรู้ด้วยการเรียนสิ่งใหม่อยู่ตลอดชีวิต สร้างแรงจูงใจให้เกิดความอยากที่จะอ่าน พัฒนาตัวเองและทำสิ่งที่ดีกว่าเดิม

“ผู้ที่มาร่วมสัมมนาในวันนี้ก็เป็นตัวอย่างที่ดี เพราะสมัครใจที่จะเข้ามาเรียนรู้ด้วยตนเอง ไม่ได้มีใครบังคับ”

วิริยะ จงไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด ผู้สนับสนุนเสริมว่า วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมไม่เคยหยุดนิ่ง จำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่คณะอาจารย์จาก CHOP มาที่เมืองไทย ทำให้แพทย์ของเราได้เห็นว่าระดับเวิลด์คลาสเขาทำกันอย่างไร

“คอร์สอบรมแบบนี้ ควรทำต่อเนื่อง และส่งเสริมให้เกิดมากขึ้น เพื่อที่แพทย์ไทยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปถึงต่างประเทศ สุดท้ายผลดีที่เกิดขึ้นก็จะตกไปถึงคนไข้”

ต้องยอมรับ “แพทยศาสตร์ศึกษา”...เป็นสิ่งที่อาจจะไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควรในเมืองไทย มีคนทำเรื่องนี้น้อย แล้วเราก็ไม่ค่อยมีต่างชาติมาสอน รองศาสตราจารย์ สรายุทธ บอกอีกว่า ทักษะ ประสบการณ์จากทีม CHOP ทำให้เราได้อะไรใหม่ๆ เพื่อปรับปรุง หลายๆอย่างเราก็ไม่เคยรู้มาก่อน

การเป็นศูนย์กลางสุขภาพ หลายคนมองแค่มีบุคลากรทางการแพทย์ที่ดี มีอุปกรณ์ครบครัน แต่จริงๆแล้วยังรวมไปถึงการเรียนการสอนที่ดี การเป็นศูนย์กลางการประชุมทางการแพทย์ที่ทันสมัย...เป็นศูนย์การแลกเปลี่ยนความรู้ เมื่อเราทำแล้วประสบความสำเร็จจะพัฒนาต่อได้ ก็จะเกิดการสร้างเครือข่าย เชื่อมโยงกันในภูมิภาค

เรียกว่าถ้าใครคิดถึง “การแพทย์ในอาเซียน” ต้องคิดถึงเรา (ประเทศไทย) ก่อน.



ที่มา ไทยรัฐออนไลน์
วันที่ 10 มี.ค. 2558